“โชควัฒนา” เป็นตระกูลเจ้าสัวตระกูลหนึ่งของเมืองไทย ที่เริ่มต้นทำธุรกิจขนาดเล็กด้วยความยากลำบากและมุมานะ โดยการเปิดร้านขายของเบ็ดเตล็ด ภายใต้ชื่อ “เฮียบเซ่งเชียง” ที่ตรอกอาเนียเก็ง ถนนทรงวาด เมื่อปีพ.ศ. 2485 ซึ่งอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่2 (ปี 2484-2488)

ปี 2495  ก้าวขึ้นเป็นธุรกิจขนาดกลาง ด้วยการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศ และได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท และร่วมทุนกับบริษัท ไลอ้อน ประเทศญี่ปุ่น เพื่อผลิตยาสีฟัน แชมพู ผงซักฟอก นอกจากนี้ยังได้ร่วมทุนกับบริษัทเพรสซิเดนท์ เอ็นเตอร์ไพรส์ ของไต้หวัน ตั้งโรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปภายใต้เครื่องหมายการค้า “มาม่า”

วันนี้เครือสหพัฒน์คือบริษัทตัวแทนจำหน่ายสินค้าและกลุ่มผู้ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภคยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย ที่เติบโตและยั่งยืนมานานถึง 75 ปี ท่ามกลางคู่แข่งที่เป็นบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของโลก

มีพนักงานรวมทั้งสิ้นกว่า 100,000 คนทั่วประเทศ  มีบริษัทในเครือกว่า 300 บริษัท  และผลิตภัณฑ์ในเครือทั้งหมดกว่า 500  แบรนด์  มีรายได้ทั้งหมดของเครือเกือบๆ 3 แสนล้านบาท

กว่า 7 ทศวรรษที่ผ่านมาสหพัฒน์เจอกับวิกฤติเศรษฐกิจมาแล้วหลายระลอก  บุญชัย  โชควัฒนา ประธานกรรมการบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)  ได้ให้ความเห็นกับ Marketeer ว่าวิกฤตการณ์ทางการเงิน “ ต้มยำกุ้ง”  เมื่อปี พ.ศ. 2540  เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่ง ที่  ต้องจำไว้เป็นบทเรียนครั้งสำคัญของชีวิต   และจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดกระบวนการคิดในเรื่อง MOP และ 3T+1   ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้สหพัฒน์เติบโตอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

บทเรียนที่ต้องจำ ต้มยำกุ้ง”     

“ทุกวันนี้เด็กรุ่นใหม่ไม่เข้าใจหรอกครับว่า  ในปีนั้นเกิดอะไรขึ้น  แล้วส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างไรบ้าง แม้แต่ผู้ใหญ่บางคนก็อาจลืมกันไปแล้วว่า  แต่ละคนต้องเจออะไรที่หนักหนาอย่างไร  แต่สำหรับผมจำได้ดี และเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เราทำธุรกิจอย่างไม่ประมาท”

บุญชัยกล่าวว่า ปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้นในปีนั้น ส่งผลให้การบริโภค  การลงทุน และการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญหลายประเภทหดตัวลง แต่เนื่องจากสหพัฒน์เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพ  จึงส่งผลกระทบต่อยอดขายไม่มากนัก แต่จากการปิดกิจการอย่างถาวรของบริษัทเงินทุน 56 แห่งในประเทศ ทำให้ระบบการเงินขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงมากขึ้น

ในปี 2540 นั้น บริษัทมียอดขายสุทธิ 7,923 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี 2539  ประมาณ 8% มียอดกำไรและรายการพิเศษ 268 ล้านบาท แต่มีผลขาดทุนจากการใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว 667 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ ในปี 2540   เป็นเงิน 426 ล้านบาท  แต่ถ้ารวมตัวเลขการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนของบริษัทในเครือด้วยจะสูงนับหมื่นล้านบาทเลยทีเดียว และมีบางบริษัทในเครือที่เวลาผ่านไปนานถึง 20 ปีแล้ว ก็ยังไม่ฟื้นตัวจากพิษเศรษฐกิจนี้

“ วิกฤตการณ์ในครั้งนั้นทำให้เราได้บทเรียนที่ดีมากๆในหลายๆเรื่อง เพราะที่ผ่านมา บริษัทเราเติบโตมาตลอด จะทำอะไรก็ดูเหมือนง่ายไปหมด คู่แข่งก็ยังน้อย ทำสินค้าอะไรออกมาขายก็ขายได้ง่าย  ทำให้ได้ทุกอย่างมาง่ายจนเกิดความประมาท  หลังจากปี 2540  เราจึงมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง  สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ เราตกลงกันว่าจะไม่มีการกู้ยืมเงินตราต่างประเทศอีกต่อไป  พร้อมๆกับระมัดระวังในการลงทุนทุกเรื่องมากขึ้น  เราจะไม่ทำอะไรที่เป็นการสุ่มเสี่ยง จะไม่ลงทุนกับสิ่งที่ไม่มั่นใจ และสร้างการเติบโตจากตัวเรา  จากเงินของเราเอง”

TheExclusive-Boonchai-1

พลิกองค์กร ด้วย  MOP (Mission Objective Policy)

หลังจากปี 2540 ภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศไทยยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง อัตราการเติบโตของสหพัฒน์ก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

จนกระทั่งในปี 2547 สหพัฒน์ ได้คิดค้นแนวทางสร้างยุทธศาสตร์ที่เป็นหลักคิดและกระบวนการปฏิบัติ ที่เรียกว่า MOP (Mission  Objective Policy)  MOP คือภารกิจในการกำหนดเป้าหมายการเติบโตเท่าที่ใจเราต้องการ อันเกิดจากความปรารถนาอันแรงกล้าจนทำให้ทุกคนเกิดเป็นความมุมานะ  เกิดความคิดสร้างสรรค์มากมาย รวมทั้งความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

“ต้องบอกว่าเราต้องอาศัยความอยากที่จะมุ่งไปสู่จุดนั้นให้ได้  เพราะส่วนใหญ่เราจะไม่กล้าตั้งเป้าเติบโต พอเศรษฐกิจไม่ดีก็จะตั้งเป้าเติบโตน้อยๆ ดีกว่า เพื่อความสบายใจว่าต้องทำได้ถึงเป้า แต่หลักคิด  MOP จะผลักดันให้เรากล้าตั้งเป้าหมายสูงๆ ไม่ต้องคิดมากอยากได้เท่าไหร่ก็ตั้งไว้เลย ”

ในปีแรกของการใช้ MOP นั้น บริษัทสามารถพลิกฟื้นกลับมาเติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 20 % โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ประมาณ 400 กว่าล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านั้นมีกำไรอยู่ประมาณ 17 ล้านบาทเท่านั้นเอง

การทำงานถ้าไม่ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายไว้ข้างหน้า ทุกอย่างจบ

บุญชัย อธิบายว่า  Mission หมายถึงยอดขายและกำไร เป็นเรื่องที่ทุกคนทั้งบริษัทรู้ว่าต้องทำร่วมกัน

“ทุกคนในบริษัทไม่มีใครไม่รู้ว่าเราตั้งยอดขายไว้เท่าไร  มีการติดประกาศให้รู้ทั่วกัน ตั้งแต่คนขับรถ แม่บ้าน ภารโรง ทุกคนต้องรู้หมด ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ผู้บริหารรู้กันเพียงไม่กี่คน  เช่นในปีแรกของการทำ MOP เราตั้งเป้าที่ 12,000 ล้านบาท แล้วจึงมาแบ่งหน้าที่กันว่า ใครรับผิดชอบส่วนไหน ใครเป็นเจ้าภาพเรื่องใด  แล้วลงมือทำ”

การทำงานถ้าไม่ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายไว้ องค์กรก็ไม่เติบโตและก้าวไปข้างหน้า  การตั้งเป้าหมายต้องตั้งแบบก้าวกระโดด  เพราะถ้าตั้งเป้าหมายน้อยๆ ค่อยๆเดินไปอย่างสบายๆ ไม่ต้องทำอะไรมากก็ถึงเป้าหมายอยู่แล้ว

“ ผมพยายามบอกทุกคนให้ Think Big เข้าไว้ อย่าคิดน้อยๆ ต้องคิดการใหญ่ เช่นถ้าถามว่าอยากจะโตเท่าไร แล้วตอบว่าอยากโต 2-3 % แค่นี้ ก็ไม่ต้องคิดอะไรหรอก  ใครๆก็ทำได้  แต่ถ้าตั้งเป้าโต 20 % ต้องอาศัยฝีมือและสมองคุณในการคิดและวางแผน  เมื่อคุณเองไม่ได้ต้องการให้เงินเดือนขึ้นแค่ 2-3 % คุณต้องการเงินเดือนขึ้น  20-30 % ก็ต้องตั้งเป้าหมายให้โตแบบนั้นเหมือนกัน”

เขาย้ำว่าส่วนสำคัญที่สุดของแนวคิดนี้คือการติดตามผล  ต้องติดตามตลอดเวลาว่าทำไปแล้วถึงไหน  มีอุปสรรคหรือปัญหาตรงไหนบ้าง และให้รีบแก้ไขทันที

หลังจากนั้นสหพัฒน์ก็เติบโตมาตลอดตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ บางปีก็มาก บางปีก็น้อย แต่อย่างน้อยที่สุดต้องเติบโต  ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ปีที่เติบโตน้อยที่สุดคือปี 2547 ในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์  ทั้งๆที่ตอนนั้นกำลังซื้อในตลาดตกหมด แต่เราเติบโตประมาณ 5%

อย่างไรก็ตาม MOP ก็ยังมีจุดอ่อน เพราะเมื่อทำไปนานๆ ก็เริ่มเกิดความสบายใจ เริ่มไม่ท้าทาย  ไม่ตื่นเต้น ความเฉื่อยชาก็เกิดขึ้น  จึงพัฒนากลยุทธ์ใหม่มาเสริม

Target  Timing  Tracking + Teamwork

จาก MOP ได้มีการพัฒนามาเป็นกลยุทธ์  3T+1  ซึ่งนำ MOP มา Simplified ให้มันง่ายขึ้น 3T +1 ประกอบไปด้วย Target + Timing + Tracking  3 ตัวนี้ คือหัวใจสำคัญ  และบวกอีก 1 คือ Teamwork ทั้งหมดนี้เราสามารถนำมาประยุกต์กับงานได้มากมาย

Target คือการมีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยที่เป้าหมายหลักของเราคือ ยอดขายและกำไร เพียงตัวเดียวเท่านั้น

Timing คือ การกำหนดแผน โดยมีกรอบเวลาการทำงานอย่างชัดเจน เช่นเราจะเติบโตตามเป้าหมายนี้ภายใน 1ปี

Tracking คือการติดตามงาน โดยต้องมีระบบการติดตามที่ดี มีการรายงานเป็นระยะและเป็นระบบ

และสุดท้าย Teamwork การทำงานที่จะบรรลุผลต้องอาศัย Teamwork เพราะเราไม่สามารถทำงานเพียงคนเดียวหรือ 2 คน แล้วทุกอย่างจะสำเร็จได้

“เมื่อเรามีหลักคิดที่เป็นกรอบชัดเจน   Mission ที่วางไว้ก็ขึ้นอยู่กับใจของเราเท่านั้นว่าจะมุ่งไปทางไหน แต่ถ้าเราเข้าใจหลักคิด 3T+1 ก็จะขยายผลได้ทันทีว่าจะต้องทำอย่างไร  แต่อย่างที่บอกถ้าไม่มีระบบการติดตามงานที่ดี ทุกอย่างก็ไม่ประสบความสำเร็จ”

TheExclusive-Boonchai-3

ก้าวข้ามอุปสรรคทางธุรกิจ ด้วยยุทธศาสตร์ธุรกิจเชิงบวก

ผู้บริหารองค์กรเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนองค์กร     บริษัทจะไปต่อได้อย่างยั่งยืนหรือล่มสลายไป  ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้นำองค์กร  และแนวคิดหนึ่งที่ได้นำมาใช้กับผู้บริหารคือ ยุทธศาสตร์ธุรกิจเชิงบวก

เมื่อ  3 ปีที่ผ่านมาบุญชัยได้ก่อตั้งสถาบันยุทธศาสตร์ธุรกิจเชิงบวก (iSAB) ขึ้นมา โดยเป็นสถาบันภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยนเรศวร บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)

หัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์เชิงบวกคือ  ต้องการสร้างนักธุรกิจและนักบริหารรุ่นใหม่ ให้เป็นนักบริหารที่มีภาวะผู้นำเชิงบวก มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถบูรณาการยุทธศาสตร์ ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ โดยใช้ยุทธศาสตร์เชิงบวกในการขับเคลื่อนองค์กร และสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจด้วยคุณธรรมและจริยธรรม องค์กรจึงจะประสบความสำเร็จก้าวหน้า อย่างมั่นคงและยั่งยืน

“ 3 เรื่องหลักที่ผมเน้นให้วิทยากรทุกคนต้องสอดแทรกเข้าไปในการบรรยายทุกครั้งคือ คือ1. เน้นในเรื่องคุณธรรม ความดี ความซื่อสัตย์  2. เรื่องของภาวะผู้นำ 3. การคิดเชิงบวก ซึ่ง  ทุกเรื่องนับว่าสำคัญหมด แต่ปีนี้ผมจะเน้นในเรื่องของภาวะผู้นำเป็นพิเศษ”

การคิดเชิงบวก คือการคิดในสิ่งที่ดี  ไม่คิดเอาเปรียบคนอื่น คิดทำสินค้าที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค การให้รางวัล การชื่นชม พนักงาน แม้แต่การเดินผ่าน แล้วยิ้มให้พนักงาน ก็เป็นสิ่งสำคัญ ทำให้เขามีความสุข รู้สึกดีกับผู้บริหารคนนั้นทันที ทั้งๆที่พนักงานคนนั้นอาจจะเป็นยามหน้าประตู  แค่มีคนยิ้มให้ก็เป็นเรื่องที่ดี  นี่คือเชิงบวก

นอกจากนี้เครือสหพัฒน์ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  (ความพอประมาณ  มีเหตุมีผล   การสร้างภูมิคุ้มกัน และคนดีคู่คุณธรรม)   มาปรับใช้ในองค์กรอย่างต่อเนื่อง และสิ่งหนึ่งที่ให้ความสำคัญอย่างมากคือการพึ่งตนเอง

“สหพัฒน์ เริ่มจากการเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นก็จริง แต่แนวทางหนึ่งขององค์กรในทศวรรษหน้า คือการพึ่งตนเองด้วยการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และการสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้า ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลด้วย”

บุญชัยกล่าวสรุปอย่างมั่นใจ

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online