10 ปีทีวีดิจิทัล บริษัทใหญ่ไม่มีทางตาย แต่โอกาสที่จะโต คงต้องสู้กันต่อไป

ช่อง one 31 โฆษณาลดแต่รายได้จากการบริหารศิลปินพุ่ง

ช่อง 33  เร่งขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ไปยังประเทศใหม่

อมรินทร์ ทีวี ช่อง 34   โฆษณาลด แต่ E-Book และนิยายรายตอนขายดี

เวิร์คพอยท์ 23 จัดคอนเสิร์ตสู้

โมโน 29  ทุ่มสร้างอาวุธใหม่ MONOMAX

ปี 2566 ถึงแม้รายได้และกำไรของผู้ประกอบการรายใหญ่ทีวีดิจิทัลจะลดลงยกแผง เมื่อเทียบกับปี 2565

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคนเลิกดูทีวี เพียงแต่หันไปดูรายการทีวีทางสื่อออนไลน์อื่น ๆ แทน

ความท้าทายของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจึงอยู่ที่จะพลิกเกมอย่างไรที่จะให้คอนเทนต์ของช่องตัวเองมีโอกาสทำรายได้จากหลากหลายแพลตฟอร์ม

ช่อง one 31 โฆษณาลดแต่รายได้จากการบริหารศิลปินพุ่ง

เป็นอีกปีที่เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ onee (ช่อง one 31) ทำรายได้สูงกว่า บีอีซี เวิลด์ จํากัด (มหาชน) หรือช่อง 33

ในส่วนของกำไรแม้จะลดลงทั้งคู่ แต่กำไรของ onee ยังสูงกว่าเท่าตัว (onee 506 ล้านบาท บีอีซี 210 ล้านบาท)

รายได้หลักทั้ง 2 ค่ายยังมาจากเงินค่าโฆษณาในช่องทีวีดิจิทัล

รายได้รวมปี 2566 ของ onee จำนวน 6,515 ล้านบาท มาจากค่าโฆษณา 2,834 ล้านบาท ลดลง 3.5% จากปี 2565

ส่วนรายได้หลักอื่น ๆ ของ onee เช่น มาจากการบริหารศิลปินและค่าที่ปรึกษา 1,021 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 48 รวมทั้งการจัดคอนเสิร์ตและกิจกรรม 636.5 ล้านบาท ที่เติบโตถึงร้อยละ 111 รายได้จากการบริหารลิขสิทธิ์  988.5  โตร้อยละ 26.5

ในปี 2567 onee เตรียมโปรเจกต์ยักษ์อีกหลายรูปแบบที่น่าจับตามอง และเชื่อมั่นว่าจะเป็นปัจจัยบวกที่จะสร้างความเติบโตให้รายได้ในปี 2567 เช่น เตรียมปล่อยไลน์อัปซีรีส์ 5 เรื่อง 5 รสออกมาตลอดปี 2567 อาทิ  ซีรีส์ “บางกอกคณิกา” Bangkok Blossom,  ซีรีส์ “ทิชา” THICHA, และซีรีส์ “แม่หยัว”

รวมทั้งจับมือพันธมิตรต่างชาติระดับสากล สร้างโอกาสต่อยอดศิลปิน และขยายฐานแฟนคลับ เชื่อมโยงคอนเทนต์เข้ากับ Lifestyle ทุกกลุ่มเป้าหมาย

ช่อง 33 เร่งขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ไปยังประเทศใหม่

รายได้รวมปี 2566 ของบีอีซี 4,653 ล้านบาท มาจากค่าโฆษณา 3,963.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 85 ของรายได้ทั้งหมด (มาจากขายโฆษณาช่อง 33 เป็นหลัก) ลดลงร้อยละ 10.9 จากปี 2565

ส่วนรายได้หลักอื่น ๆ เช่น มาจากจัดจําหน่ายละครไปต่างประเทศ และธุรกิจ Digital Platform 689.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.6% จากปี 2565

กลยุทธ์ปี 2567 หลัก ๆ คือ การจําหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ไปยังประเทศใหม่ ๆ ให้มากขึ้น ทั้งแถบเอเชีย และประเทศใหม่ ๆ อีก 23 ประเทศในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาและอินเดีย

ส่วนดิจิทัลแพลตฟอร์ม 3Plus จะขยายฐานผู้ชมไปยังกลุ่มที่มีอายุน้อยลงและอาจไม่ได้รับชมรายการผ่านเครื่องรับโทรทัศน์เป็นหลัก

ปีที่ผ่านมาบริษัทได้ตั้งบริษัทกิจการร่วมค้า เมเจอร์ จอยน์ ฟิล์ม และ บีอีซีเวิลด์” เพื่อผลิตภาพยนตร์ไทย เรื่อง ธี่หยด ที่สามารถทำรายได้สูงถึง 400 ล้านบาท

ปีนี้จึงมีแผนจะผลิตภาพยนตร์เพิ่มอีกประมาณ 2-3 เรื่อง

รวมทั้งเร่งผลิตละครจากธุรกิจ BEC STUDIO ที่ทุ่มทุนไปถึง 400 ล้านบาทในการก่อสร้างเฟสแรกเมื่อปีที่ผ่านมา

อมรินทร์ 34 ทีวีรายได้ลด แต่ E-Book และนิยายรายตอนขายดี

ปี 2565 อมรินทร์สร้างรายได้และกำไรสูงสุดตั้งแต่ตั้งบริษัทมา

ปี 2566 ยังคงทำรายได้ ได้ดี แต่กำไรลดลงประมาณ 184 ล้านบาท โดยปีนี้มีรายได้จากการขายหนังสือในรูปแบบ E-Book และนิยายรายตอน (โตถึงร้อยละ 45) ทำให้ธุรกิจผลิตงานพิมพ์และจำหน่ายหนังสือที่เติบโตเพิ่มขึ้น 256 ล้านบาท หรือร้อยละ 12

รวมทั้งรายได้จากธุรกิจสื่อและอีเวนต์รวมการให้บริการโฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ และการจัดงานแสดงสินค้าและอีเวนต์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น 39.44 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.9 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565

ในขณะที่รายได้จากธุรกิจทีวีดิจิทัลลดลง 263.91 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.5 ตามทิศทางการลดลงของค่าใช้จ่ายในการซื้อสื่อโฆษณาผ่านสื่อทีวีดิจิทัล และสื่อออนไลน์ที่มีรายได้จากแพลตฟอร์มต่างประเทศ

เวิร์คพอยท์ 23 จัดคอนเสิร์ตสู้

ปี 2566 นี้ แม้รายได้จะลดลงมาแค่ 1% แต่กำไรเหลือเพียง 13 ล้านบาท ลดลงถึงร้อยละ 92 จากปี 2565

โดยมีรายได้จากรายการโทรทัศน์ 1,896 ล้านบาท ลดลง 190 ล้านบาท แต่มีรายได้อื่น เช่น จากการรับจ้างจัดงาน 158 ล้าน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8

รวมทั้งมีรายได้จากการจัดคอนเสิร์ตและละครเวที 291 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 105% นอกจากนั้น ยังมีรายได้เพิ่มจากการบริการพื้นที่โรงละคร และรายได้จากการจัดหานักแสดงเพิ่มขึ้นด้วย

โมโน29 ทุ่มทุนสร้างอาวุธใหม่ MONOMAX

ใน 2 ปีที่ผ่านมาโมโนมีผลกำไรต่อเนื่อง แต่ในปี 2566 ต้องเจอกับสภาวะขาดทุนอีกครั้ง หลัก ๆ มาจากเม็ดเงินจากโฆษณาลดลง ในปี 2565 เคยได้ที่ 1,450 ล้านบาท กลับลดลง 21% ในปี 2566

แต่มีรายได้อื่น ๆ เช่น จากการให้บริการคอนเทนต์ 700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 ส่วนโฮมช้อปปิ้งทำรายได้ 30 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 55

ยุทธศาสตร์ปี 2567 บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับธุรกิจผลิตคอนเทนต์ผ่านช่องทางสื่อหลักคือ 1. ธุรกิจวิดีโอสตรีมมิ่ง MONOMAX ที่มีจุดเด่น คือ ซีรีส์จีนฟอร์มยักษ์ระดับ S+ และแผนการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ของ MONO ORIGINAL ปี 2567 รวม 24 เรื่อง

2. ทีวีดิจิทัล MONO29 ผ่านจุดยืนทางการตลาด “หนังดี ซีรีส์ดัง”

3. การขายลิขสิทธิ์ไปยังต่างประเทศ

4. บริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยการปรับลดจำนวนพนักงานในทุกส่วนงานให้มีขนาดที่เหมาะสม ปรับลดขนาดธุรกิจในส่วนที่ไม่ทำกำไร ลดหน่วยงานที่ซ้ำซ้อน และมีการจ้างบริษัทภายนอกที่มีความชำนาญเข้ามาทดแทน

ส่งผลให้ในปี 2567 มีค่าใช้จ่ายพนักงานปรับลดลงประมาณ 11 ล้านบาทต่อเดือน หรือลดลง  33%

5. การนำเทคโนโลยี AI มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

เป็นการแข่งขันบนหนทางใหม่ ๆ เพื่อเข้าถึงคนดูให้ได้มากที่สุด เป็นทศวรรษที่ 2 ของธุรกิจทีวีดิจิทัลที่น่าติดตาม



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online