พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ทำความรู้จักผู้กำกับ หลานม่า ภาพยนตร์ 100 ล้าน เรื่องล่าสุดจาก GDH

พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับหนุ่มวัย 33 ปี ที่กำกับภาพยนตร์เรื่องแรกก็ทำเงินไปแล้วกว่า 100 ล้านบาท

คนแบบนี้เขาต้องคิดเรื่องการทำหนังละเอียดกันเบอร์ไหน

“ผู้กำกับหนังไทย 100 ล้านคนล่าสุด ตัวจริงหน้าตายังเด็กมากเลยค่ะ” เป็นคำทักทายแรกของ Marketeer

“ผมอายุ  33 ปี แล้วครับ” พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “หลานม่า” ที่ผู้คนพูดถึงกันสนั่นลั่นโซเชียลอยู่ในวันนี้ พูดขึ้นมาเบา ๆ พร้อมรอยยิ้มกว้าง

“หลานม่า” เป็นการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของพัฒน์ หลังจากผ่านงานกำกับละครซีรีส์มาแล้วหลายเรื่อง ที่น่าทึ่งก็คือ พัฒน์จบปริญญาตรีด้าน Communication Management ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาอินเตอร์ ไม่ได้เรียนมาสายภาพยนตร์โดยตรง

“ผมเลือกเรียนนิเทศฯสาขานี้ เพราะคิดว่ามันไม่หนักมากถ้าเทียบกับคณะวิศวะ (หัวเราะ) แต่เพิ่งมาพบว่าชอบการเป็นตากล้องถ่ายวิดีโอ เลยได้เข้าไปร่วมกิจกรรมทำหนังทำละครกับเพื่อน ๆ บ่อยมากตอนเรียนที่นิเทศฯ แล้วเพิ่งรู้ใจตัวเองตอนนั้นว่าชอบทำหนัง”

ต่อมาเขาได้รู้จักกับ “พี่ย้ง” (ทรงยศ สุขมากอนันต์ ผู้กำกับชื่อดังของค่าย GDH)  ที่ชวนไปฝึกงาน ช่วยกำกับละคร ทำให้เขามีโอกาสซึมซับและพัฒนาสกิลเรื่องการกำกับละครมาตั้งแต่ช่วงเวลานั้น

ส่วนภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกที่เขาได้กำกับคือ Let Me Grow พลิกชีวิตเด็กติดเกม ซึ่งทำให้กับ รศ. นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

“พี่ย้งได้ดูงานชิ้นนี้ เขาชอบและมีความคิดว่าผมน่าจะเป็นผู้กำกับที่เข้าใจมนุษย์ได้ เลยให้โอกาสผมเข้าไปกำกับซีรีส์บางตอนของ Project S: SOS สเก็ต ซึม ซ่าส์  ที่กำลังปั้นผู้กำกับหน้าใหม่ ในค่ายนาดาวบางกอก หลังจากนั้น พี่เก้งจิระ และพี่วรรณ ก็ชวนมาเป็นผู้กำกับของ GDH และให้กำกับเรื่อง Bad Genius The Series: ฉลาดเกมส์โกง”

จุดเปลี่ยนในชีวิตครั้งสำคัญของพัฒน์ก็เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อ GDH ให้เขาเป็นผู้กำกับ “หลานม่า” ภาพยนตร์เรื่องแรก

“ผมตัดสินใจรับงานชิ้นนี้ทันทีเพราะฟัง Story แล้วมันดีมาก ๆ เลยครับ และผมยังประทับใจว่าการที่ค่ายหนังจะลงทุนทำหนังสักเรื่องหนึ่งต้องใช้เงินเป็นสิบๆ ล้านบาท แล้วเขาเลือกที่จะทำเรื่องความรักระหว่างหลานกับอาม่า  ซึ่งไม่น่าจะเป็นหนังทำเงิน เพราะอาจจะเป็นเรื่องราวเฉพาะกลุ่มคนเท่านั้น และเป็นเรื่องไม่ง่ายเลยที่จะมีโปรเจกต์แบบนี้เข้ามา”

เขาย้ำว่าบทเรื่องนี้เขียนโดยเป็ด-ทศพล ทิพย์ทินกร ซึ่งเขียนไว้ดีมาก  แต่อาจจะไม่สามารถดึงดูดคนดูได้มากเท่ากับหนังผี หนังตลก จึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงมาก ๆ ว่าจะทำเงินได้หรือเปล่า

“จะเล่าเรื่องความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างซับซ้อนของครอบครัวคนจีนครอบครัวหนึ่งที่มีหลายเจเนอเรชั่น ผ่านเรื่องราวของหนังอย่างไรให้ชนะใจคนส่วนใหญ่ เป็นโจทย์ที่ท้าทาย มันคือสกิลใหม่ ๆ ที่น่าลอง เพราะละครที่ผ่านมาของผมส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวของเด็กวัยรุ่น และค่อนข้างมีคนดูเฉพาะกลุ่ม”

“อย่างที่ผมบอก หนังเรื่องนี้ฟังดูเหมือนหนังที่ไม่แมสเอาเสียเลย ทางเดียวที่จะแมส ทำเงินได้ คือต้องทำให้เป็นหนังของทุก ๆ คน แต่จะทำอย่างไร นี่ล่ะครับคือความยาก”

ดังนั้น เขาต้องทำให้ทุก ๆ ซีนมีความหมายและมีพลังมากพอที่จะกระแทกใจคนดูทุกคน แน่นอนเป็นเรื่องที่ยาก และเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยคิดมากขนาดนี้มาก่อนเลยในทุก ๆ งานที่ผ่านมา

“ผมและทีมต้องทำการบ้านหนักมาก ภายใน 1 นาที จะต้องมีหลายเรื่องราวที่สามารถ Re-late กับคนดูแต่ละคนได้ไม่เหมือนกัน เราจะต้องคิดเผื่อในหลาย ๆ มุม จุดนี้อาจจะโดนใจคนนี้ จุดโน้นอาจจะตรงกับชีวิตของคนอีกคน ซึ่งการที่จะเขียนไดอะล็อกแบบนี้หรือสร้างซีนแบบนี้ไม่ง่ายเลยครับ”

การทำประเด็นเล็ก ๆ แต่ให้เชื่อมโยงกับคนในระดับกว้าง ต้องศึกษาบทและเข้าใจตัวแสดงอย่างละเอียด

พัฒน์บอกว่า เขาไม่ได้ต้องการให้หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องราวดราม่าฟูมฟาย เหมือนกับแมสเสจที่ถูกสื่อออกไปหลังจากคนได้ดูหลานม่า

“ผมคิดว่าโลกของเราในช่วงที่ผ่านมา 4-5 ปีมีเรื่องเศร้า ๆ มากพอแล้ว คนดูไม่ควรจะรับความรู้สึกนี้อีก ผมก็ไม่อยากให้คนดูหลานม่าต้องเศร้า แต่อยากให้ฮีลใจคนดู  เหมือนได้รับการเยียวยา ถึงจะมีน้ำตาแต่ก็มีรอยยิ้ม ได้รับพลังงานจากเรื่องราวของหนังในแบบของเขาเอง แต่จะต้องเป็นเรื่อง Positive สำหรับเขา”

แต่การเล่าเรื่องครอบครัวอย่างตรงไปตรงมา กลับช็อกใจคนดู จนน้ำตาซึมออกมาเอง ภาพที่ออกมาเลยกลายเป็นไวรัลว่าเป็นหนังเศร้า ร้องไห้กันทั้งเรื่อง

“คือความเศร้าเป็นความรู้สึกแรกที่จับต้องง่ายที่สุด มันกลายเป็นรีแอคชั่นแรกของคนดู แต่ผมมั่นใจว่า เมื่อเขากลับมาย้อนคิดประมวลผลอีกครั้ง เขาจะมีความสุขในหลาย ๆ พาร์ตของหนัง เพราะหนังไม่ได้พูดบีบอารมณ์อย่างเดียว แต่พูดเรื่องชีวิตของเขาด้วย”

ผมค้นพบว่าเวลาหนังพยายามควบคุมคนดูมากจนเกินไป มันจะทำให้คนดูบางส่วนรู้สึกว่าเขาไม่ใช่ส่วนหนึ่งของหนังเรื่องนี้  ดังนั้น ผมจะทำหนังที่ไม่ควบคุมความรู้สึกของใครเลย หนังเรื่องนี้บางคนอาจจะเศร้าร้องไห้ แต่บางคนอาจจะไม่ได้เศร้า แต่ทุกคนจะได้ความรู้สึกที่เป็นของเขาเอง

ผมและคนเขียนบทพยายามออกแบบตัวละครให้เป็นเหมือนหัวหอม เพราะหนังเรื่องนี้ไม่มีพลอตอะไรที่หวือหวา แต่เป็นเรื่องตัวละครที่มาเจอกันและเรียนรู้อะไรต่อกัน  ดังนั้น ตลอดทางที่หนังพาไปคือการปอกหัวหอมออกไปทีละชั้น ๆ จนเราค่อย ๆ รู้จักเขามากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ แล้วจะพบว่าในความเป็นมนุษย์ไม่มีใครถูกใครผิด ไม่มีใครดีทั้งหมด หรือเลวทั้งหมด ทุกคนเป็นสีเทา ๆ”

ความยากที่สุดในการกำกับเรื่องนี้

เขานิ่งคิดนิดหนึ่งแล้วบอกว่า

“คือการทำภาษาหนังแบบที่ผมไม่เคยทำ คือภาษาหนังที่ไม่ควบคุมความรู้สึกคนดู แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้คนดูเข้าใจทุกอย่างทั้งหมดในแบบที่เขาสามารถเลือกได้ว่าเขาต้องการเข้าใจอะไรในแบบของเขาการกำกับให้เกิด layer คือสิ่งที่ยากที่สุด”

การเลือกตัวละครเป็นอีกสิ่งที่ยากเฉพาะบทของ “อาม่า”

พัฒน์เลือกคนมาแล้วนับ 100 คน แต่ยังไม่ตัดสินใจฟันธงว่าจะถูกใจใคร จนทีมงานบอกว่าจะหมดวงการแล้วนะ จนสุดท้ายมีคนแนะนำยายแต๋ว “อุษา เสมคำ”

คือยายแต๋วเป็นคนที่ทำการแสดงไม่เป็น ถ้าให้เขาทำอย่างโน้นอย่างนี้เขาทำไม่ได้ เขาเป็นตัวของเขาเองมาก ทำให้คนดูรู้สึกได้ว่าคนนี้ไม่ได้มาทำหน้าทำตาให้เราดู แต่เขารู้สึกแบบนั้นจริง ๆ

“ผมเห็นสิ่งนี้จากยายแต๋ว แต่ไม่เห็นจากคนอื่น ผมเลยตัดสินใจทันทีว่า บทอาม่าเหม้งจูต้องเป็นของเขา  แล้วยิ่งมาอยู่ด้วยกันกับบิวกิ้นมันน่ารักมากกก (ลากเสียง) เคมีเขา 2 คนเข้ากันได้ดีสุด ๆ ตั้งแต่ผมยังไม่ได้เข้าไปกำกับอะไรเขาเลย”

14 เมษายน 2567 ผ่านไปแล้ว 11 วัน หลานม่าทำรายได้รวมทั่วประเทศไปแล้ว 216.36 ล้านบาท เป็นบทพิสูจน์ว่า วันนี้ พัฒน์ พัฒนาตัวเองไปอีกก้าวแล้ว หลุดพ้นจากผู้กำกับละครซีรีส์ที่มีคนดูเฉพาะกลุ่มไปสู่คนดูระดับแมส

แต่ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ บอกว่ามีหลายสิ่งอย่างในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ถ้าย้อนเวลากลับไปได้เขาอยากแก้ไข

“หลานม่าเหมือนประตูบานแรกของผมที่ทำให้เกิดความมั่นใจว่าเราสามารถกำกับหนังที่เป็นของทุกคนได้  ผมเชื่อว่าเรื่องต่อ ๆ ไปผมทำได้ดีกว่านี้ เพราะนี่คือเรื่องแรกที่ผมได้เรียนรู้มัน”

The Next Chapter ของ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ เป็นอย่างไร โปรดติดตาม

 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online