ขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุค Disruptive Innovation ยุคที่องค์กรจะต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อให้ยืนอยู่รอดได้ในโลกดิจิทัล ใครไม่มองด้านหน้าดูนวัตกรรมใหม่ ใครไม่มองด้านข้างดูพันธมิตรธุรกิจ กระทั่งดูตนเองเพื่อพัฒนาโครงสร้างองค์กร ตลอดจนต่อยอดธุรกิจ บอกเลยว่า อยู่ยาก
ต้องบอกว่าการประกาศกลยุทธ์รุกตลาดของ “อนันดา” ที่เพิ่งผ่านไป โดยการเชื่อมโยงระหว่างภาคอสังหากับธุรกิจสตาร์ทอัพนี่มีความน่าสนใจอยู่หลายประเด็น
คำถามคือ ท่ามกลางนวัตกรรมมากมายที่เกิดขึ้นแทบทุกวัน ในฐานะที่เราทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เราจะนำนวัตกรรมอะไรบ้างที่ช่วยต่อยอดธุรกิจของเรา ขณะเดียวกันนวัตกรรมนั้นจะต้องช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้คนมีความสุขมากขึ้น


UrbanTech ต่อยอดยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมที่ต้องทำให้คนมีความสุขมากขึ้น
วันนี้โลกดิจิทัลขยับครอบคลุมชีวิตของผู้คนมากขึ้น ชานนท์มองว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ก็จำเป็นที่จะต้องปรับตัวตาม นั่นเป็นที่มาของการประกาศการเป็น Tech Company ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เจ้าแรก ด้วย 3 กลยุทธ์ประกอบด้วย
ทั้ง 3 กลยุทธ์คือแนวทางในการทำธุรกิจใหม่ของอนันดา โดยยังคงโพสิชันนิ่ง “แตกต่างอย่างสร้างสรรค์” เหมือนเดิม ที่เพิ่มเติมคือการเปิดรับเทรนด์ดิจิทัลเต็มรูปแบบ
ประเด็นน่าสนใจคือการจับมือกับสตาร์ทอัพต่างๆ เพื่อนำนวัตกรรมสร้างสรรค์จากเหล่าสตาร์ทอัพที่มีประสิทธิภาพพัฒนาต่อยอดบริษัท ซึ่งที่ผ่านมามี Hubba , Seedstars , Sasin , Builk ฯลฯ ที่เชี่ยวชาญด้าน Startup มาร่วมกันคัดสรรนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆที่อนันดาฯสามารถนำมาพัฒนาใช้ในธุรกิจหลักได้ในอนาคต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของ Ananda UrbanTech ช่วยสร้างสรรค์ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆพร้อมยกระดับชีวิตคนเมืองให้ดีขึ้นกว่าเดิม


“Ananda UrbanTech” จึงเป็นการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยเข้ามาผสมผสานกับการพัฒนาโครงการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยตระหนักดีว่าเทคโนโลยีมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกด้าน การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในทุกพื้นที่และทุกประเภทของเทคโนโลยี จึงทำให้ต้องเร่งสร้าง Solutions ใหม่ๆ ที่สามารถเพิ่มมูลค่ามากยิ่งขึ้นให้แก่ลูกค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ทันการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิทัล
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ CEO หนุ่มมองในอนาคต คงไม่เพียงแค่การหยิบนวัตกรรมมาใช้เท่านั้น แน่นอนว่าการเข้าไปคลุกคลีกับองค์กรคนรุ่นใหม่ที่ทำงานนวัตกรรมโดยเฉพาะ น่าจะเป็นการเพิ่มโอกาสสู่โมเดลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยุคใหม่ ยกตัวอย่างโมเดลเช่าที่พักอาศัยอย่าง Airbnb ที่ชานนท์ก็ยอมรับด้วยตนเองว่าเขา “สนใจ” โมเดลนี้
รูปธรรมของกลยุทธ์
เพื่อเป้าหมายของการเป็น Urban Tech รูปธรรมเริ่มตั้งแต่ปรับโครงสร้างองค์กร แต่งตั้งผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถถึง 2 คน ได้แก่ ดร. เชษฐ์ ยง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายนวัตกรรม (Chief Innovation Officer) มีหน้าที่ความรับผิดชอบครอบคลุมการเป็น ‘Think Tank’ หรือ ศูนย์รวมทางความคิดเพื่อเสริมเข้ากับนวัตกรรมทั้งหมด และ ดร. จอห์น มิลลาร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ เป็นผู้มีบทบาทอันหลากหลายและเป็นผู้วางแผนกลยุทธ์นวัตกรรมใหม่ของบริษัท
อย่างที่สองที่สำคัญมาก ก่อนที่จะต่อยอดภายนอก ต้องเริ่มจากสร้างภายใน สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เดินไปในทางเดียวกันก่อน เป้าหมายคือการสร้างองค์กรที่มีวัฒนธรรมการทำงานที่เน้นการประสานความร่วมมือกัน ( Collaboration ) งานนี้ชานนท์ลงทุน 300 ล้านบาท เนรมิตบ้านหลังใหม่ของชาวอนันดา กับอาคารสำนักงาน FYI Center ถนนพระราม 4 กับคอนเซ็ปต์ Ananda Campus เป็นสำนักงานแนวใหม่มีพื้นที่ส่วนกลางที่ใช้ร่วมกัน ทั้งเพื่อการทำงาน จุดพักผ่อนส่วนรวม และมุมทำงานส่วนตัว
โดยนอกจากห้องทำงานกับห้องประชุมแล้ว ที่นี่เน้นความเป็น Tech Company มีมุมให้พนักงานเลือกพักผ่อนได้ตามอัธยาศัย มี power lunch ฟรี จาก kloset café ให้พนักงานทานฟรีทุกวัน และสนับสนุนให้พนักงานใช้ระบบขนส่งมวลชน มีบัตรรถไฟ ใต้ดิน แอร์พอร์ตลิงก์ ให้พนักงานใช้ฟรีทุกเดือนอีกด้วย แหม่ ฟังแล้วอิจฉา
ซึ่งสำหรับชานนท์แล้ว นี่เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ และที่สำคัญคือสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทุกคนในบริษัท ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับซิลิคอนวัลเล่ย์ที่เป็นโมเดลต้นแบบออฟฟิศระดับเวิร์ลคลาสในต่างประเทศ
ว่ากันเยอะแล้ว ลองมาดูบรรยากาศการทำงานแบบชิคๆคูลๆ ของอนันดากัน








ในบรรดา CEO คนรุ่นใหม่ “โก้”ชานนท์ถือเป็นผู้บริหารที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในวงการอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน หลังจากพลิกวิกฤตปี 40 โดยบริหารจัดการและปรับโครงสร้างหนี้ให้กับบริษัทครอบครัว ก่อนที่จะเปิดบริษัทตัวเอง อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ สร้างชื่อด้วยแบรนด์ “Ideo” ที่เกาะกลุ่มผู้นำตลาดคอนโดมิเนียมในเมืองหลวงปัจจุบัน
ความสำเร็จของอนันดาก็มาจาก DNA ของเขา ชานนท์ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม+ความสร้างสรรค์มาก เขาเคยประกาศว่าทุกสถานีรถไฟฟ้าจะต้องมี Ideo ตรงนี้ก็สะท้อนแนวคิดเรื่องทำเลที่ต้อง “ดี”ไว้ก่อน หรือเรื่องดีไซน์ก็ต้องทำให้แตกต่างชัดเจนกับคู่แข่ง
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่อนันดาเป็น ธุรกิจอสังริมทรัพย์เจ้าแรกที่ใช้ Workplace by Facebook ตลอดจนนวัตกรรมต่างๆที่ช่วยบริหารจัดการงานได้สร้างสรรค์ยิ่งขึ้น นั่นเป็นผลลัพธ์จากวิสัยทัศน์ของ CEO หนุ่มคนนี้ ที่ต้องการให้อนันดาสะท้อนความเป็นแบรนด์ UrbanTech ในประเทศไทย
ซึ่งแน่นอนว่าการขยับครั้งใหญ่ครั้งนี้ เป็นอีกเคสที่น่าสนใจ ว่าจะสร้างแรงกระเทือนต่อภาพอสังหาริมทรัพย์ในอนาคตมากน้อยแค่ไหน
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

