ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาอย่างกระชั้นชิด ไม่ว่าจะเป็น การเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังเริ่มนับถอยหลัง หรือแม้แต่เทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามาทำให้โลกแห่งการค้าการลงทุนวิ่งฉิวสู่มิติใหม่ๆ โดยที่คนจำนวนมากอาจปรับตัวไม่ทันกับคลื่นการเปลี่ยนแปลง
ธนาคารกสิกรไทย ได้เล็งเห็นความสำคัญของเศรษฐกิจและโอกาสทางธุรกิจของสังคมไทยในการก้าวสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งที่ผ่านมาได้สนับสนุนทางการเงินเพื่อขับเคลื่อนความแข็งแกร่งในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นระบบและยั่งยืน อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับธุรกิจด้านดิจิทัลแบงก์กิ้งอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทย ได้จัดงานสัมมนา Power of Digital for Value Chain ขึ้น ณ ห้องรอยัล มณียา บอลรูม โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ ภายใต้นโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) ด้วยหวังกระตุ้นให้ภาคธุรกิจไทยเกิดการเตรียมความพร้อมและสามารถรับมือกับการแข่งขันในเวทีการค้าที่จะเปิดกว้างสู่ระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับโลก โดยมี ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เป็นประธานเปิดงาน และได้รับเกียรติจาก ทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย, จำรัส สว่างสมุทร ผู้อำนวยการใหญ่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมถ่ายทอดเรื่องระบบและธุรกรรมดิจิทัลที่ภาครัฐกำลังเร่งรัฐผลักดัน นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีบทบาทอย่างสูงต่อภาคเศรษฐกิจไทยในการดำเนินธุรกิจแบบพึ่งพิงเครือข่ายธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ หรือ Value chain อีก 4 ท่าน ได้แก่ กฤษณ์ อิ่มแสง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดขายปลีก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) วรรณา สวัสดิกุล ประธานกรรมการบริหารฝ่ายธุรกิจออนไลน์ เทสโก้ โลตัส รุจน์ สกลคณารักษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จํากัด และ นพวรรณ เจิมหรรษา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ร่วมสัมมนาเรื่อง Digital กับการเพิ่มประสิทธิภาพให้ห่วงโซ่ธุรกิจ พร้อมกันนี้ภายในงานยังมีบูธประชาสัมพันธ์พร้อมให้คำปรึกษาด้านดิจิทัลแก่ผู้ร่วมฟังสัมมนาอีกด้วย
ปรีดี ดาวฉาย กล่าวว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้าของไทย คือการก้าวเข้าสู่ AEC เราเล็งเห็นพัฒนาการการทำธุรกิจของลูกค้าและของธนาคารเอง พยายามปรับเปลี่ยน Business Model กระบวนการผลิต กระบวนการขาย การทำการตลาด การจัดการต่างๆ อย่างมาก จนเกิดสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า Value Chain หรือห่วงโซ่ทางธุรกิจ เพื่อสร้างความแข็งแรงทางการทำธุรกิจ ไม่เฉพาะตัวเอง แต่ยังรวมไปถึงคู่ค้า ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก ธนาคารกสิกรไทยได้สนับสนุนเรื่องนี้มาโดยตลอด
อีกสิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการเปลี่ยนแปลงเรื่องของเทคโนโลยีซึ่งจะเกิดขึ้นและทุกคนยอมรับว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ธนาคารจึงเชิญวิทยาการที่มีความเชี่ยวชาญมาเสนอมุมมองให้เห็นว่า แนวโน้มข้างหน้าในเรื่องของเทคโนโลยีจะเป็นอย่างไร เพื่อจะได้กลับไปเตรียมตัวจัดการกับองค์กรของตัวเองได้ ว่าควรจะทำอย่างไร เพื่อให้เราอยู่รอดในโลกของการเปลี่ยนแปลงด้าน Digital นี้
เศรษฐกิจไทย 2559 และทิศทางธุรกิจยุค Digital Economy
ทองอุไร ลิ้มปิติ มองว่า เศรษฐกิจไทยในปี2559 จะปรับตัวดีขึ้น เพราะต่างชาติที่เคยลังเลจะลงทุนในไทย เริ่มมีความเชื่อมั่นและเริ่มหันกลับมาลงทุน แม้การส่งออกอาจยังไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นชัดเจน แต่การท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มที่ดี และในขณะเดียวกันก็นับเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้วางยุทธศาสตร์การเติบโตใหม่ เน้นปรับ Infrastructure ด้วยดิจิทัลอีโคโนมี่ โดยมีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 4 ส่วน คือ ภาครัฐต้องเป็น Information One Stop Service ให้กับภาคธุรกิจและประชาชนผ่านทางดิจิทัล , ภาคธุรกิจ ต้องเน้นเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการทำธุรกรรม Straight-Through Processing และภาคการเงิน ทั้ง Bank และ Non-Bank ที่ต้องเน้นเรื่อง e-Payment เพื่อให้ตอบโจทย์ทางธุรกิจได้ และ ในส่วนของ Payment Systems ธนาคารแห่งประเทศไทยจะผลักดันการสร้าง Infrastructure เอาไว้รองรับ เพื่อให้ทำธุรกรรมได้อย่างปลอดภัย”
ยกระดับธุรกิจไทยด้วย Digital
จำรัส สว่างสมุทร กล่าวว่า “ปัจจุบันรูปแบบการค้าได้เปลี่ยนไปจากเดิม โดยเปลี่ยนจากหน้าร้านจริงสู่ร้านค้าออนไลน์ที่สามารถเปิดขายได้ตลอด 24 ชม. โดยไม่มีคำว่า Off-Line หรือOn-Line อีกต่อไป ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจออนไลน์ได้เปรียบคู่แข่ง ผู้ประกอบธุรกิต้องมีมุมมองและเปิดใจให้กับรูปแบบการค้าแบบใหม่ รวมทั้งยอมรับพฤติกรรมการสั่งซื้อของผู้บริโภคให้ได้ ซึ่งด้านสภาอุตสาหกรรมเอง ก็ได้มีแผนสนับสนุนในหลายๆ ด้าน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น เว็บไซต์ Ftiebusiness.com ที่เป็นพื้นที่สำหรับผู้ที่มีความต้องการเปิดร้านค้าบนโลกไซเบอร์ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร หรือแอพฯ “Smartbar” ที่ให้ลูกค้าตรวจสอบรายละเอียดสินค้ากว่าหมื่นรายการผ่านมือถือ โดยสามารถรู้ได้ว่าสินค้าเหล่านั้นได้มาตรฐานจริงหรือไม่”
สุรางคณา วายุภาพ กล่าวในทำนองเดียวกันว่า “ประเทศไทยมักมองข้ามสิ่งดีๆ ที่ตนเองมี เช่นเดียวกับการขายสินค้าผ่านระบบดิจิทัลที่ให้ความสำคัญกับรายละเอียดด้านมาตรฐานมากเกินไป จนละเลยการให้รายละเอียดของผลิตภัณฑ์ที่มีความจำเป็นแก่ลูกค้า ทั้งยังพบปัญหาอื่นๆ ซึ่งอาจเกิดจากการขาดความเข้าใจเชิงลึกในแง่ข้อมูลการทำธุรกิจออนไลน์ ดังนั้น การยกระดับธุรกิจในรูปแบบดิจิทัล ควรริเริ่มจากตัวผู้ค้ามีความตื่นตัวและสนใจที่จะหาความรู้ในเรื่องดิจิทัล ที่สำคัญคือกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง”
Digital กับการเพิ่มประสิทธิภาพให้ห่วงโซ่ทางธุรกิจ
กฤษณ์ อิ่มแสง “ธุรกิจเราสัมผัสกับลูกค้าเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งปตท. ก็ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ในห่วงโซ่ทางธุรกิจ ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งลูกค้า คู่ค้า และ ปตท. ทั้งความเป็นเลิศในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า การบริหารทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อความไว้วางใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินการขององค์กร อย่างกรณีการสั่งซื้อน้ำมัน ทุกวันนี้ดีลเลอร์ทุกรายสามารถดำเนินการสั่งซื้อน้ำมันจากเราผ่านแอพพิเคชั่นต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์แล้ว นอกจากนี้ช่วงการขนส่งน้ำมันไปยังคู่ค้า ยังได้มีการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับม่านตา ระบบการติดต่อสื่อสารกับรถบรรทุกที่สามารถสื่อสารคำสั่งไปยังผู้ขับขี่ได้โดยตรงผ่านระบบออนไลน์ ทำให้เราสามารถควบคุมเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างทางได้”
วรรณา สวัสดิกุล “ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับการบริโภคข้อมูลข่าวสารต่างๆ และความต้องการในการสื่อสารแบบสองทาง เทสโก้ โลตัสจึงมุ่งเน้นการพัฒนาช่องทางค้าปลีกให้หลากหลาย โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์และสื่อดิจิทัล เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ลูกค้ายุคใหม่ที่มีความต้องการซื้อในทุกที่ทุกเวลา ปัจจุบัน เทสโก้ โลตัส มีสินค้าออนไลน์กว่า 20,000 รายการ ทั้งอาหารสด สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้า ทางเทสโก้ โลตัส ช้อปออนไลน์และเว็บไซต์ลาซาด้า นอกจากนั้นยังมีเทสโก้ โลตัส โมบาย แอพพลิเคชั่นที่ช่วยให้ลูกค้าสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เราต้องเข้าถึงลูกค้า ลูกค้าต้องการสินค้าเมื่อไหร่ ต้องสามารถตอบโจทย์ได้ทันที และปัจจัยที่จะทำให้การนำดิจิทัลมาใช้แล้วประสบความสำเร็จนั้น ผู้นำองค์กรเองมีส่วนสำคัญอย่างมาก ผู้บริหารเทสโก้ โลตัส ให้ความสำคัญกับดิจิทัลแพลทฟอร์มอย่างมาก และคนในองค์กรเองก็ต้องปรับตัวเองได้ทัน ดิจิทัลไม่ใช่ความเสี่ยง แต่เป็นโอกาสให้ลูกค้าเชื่อมโยงกับเทสโก้ โลตัสมากขึ้น”
รุจน์ สกลคณารักษ์ “ธุรกิจยานยนต์ เป็นธุรกิจที่ต้องแข่งขันในระดับโลกและมีการส่งออกไปในหลายๆประเทศ พื้นฐานของธุรกิจเรา เน้นเรื่องของคุณภาพ ประสิทธิภาพในการผลิต ตลอดจนมาตรฐานความปลอดภัย เพราะฉะนั้นในแต่ละห่วงโซ่ของเรา จะมีการทำงานร่วมกันกับ Supplier เพื่อที่จะมีการ Feedback Performance ของคู่ค้าของเรา ซึ่งโตโยต้าได้ให้การสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนในด้านต่างๆ ทั้งการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัย คุณภาพชิ้นส่วน และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ในการนี้ได้มีการนำระบบการผลิตแบบ Toyota (TPS) เข้าไปปรับใช้เพื่อลดของเสีย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต่อชั่วโมง นำไปสู่การลดสินค้าคงคลังตลอดจนพื้นที่ในการผลิตในที่สุด นอกจากนี้ยังขยายผลไปสู่ผู้ผลิตรายย่อย (Tier2) ด้วย ประโยชน์สูงสุดคือ การพัฒนาบุคลากรของผู้ผลิตชิ้นส่วน ที่จะเป็นผู้นำการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือ การสนับสนุนและมีส่วนร่วมของผู้บริหารระดับสูง ตลอดจนการมีส่วนร่วมจากพนักงานทุกระดับ”
นพวรรณ เจิมหรรษา “ทุกคนรับรู้เรื่องดิจิทัลเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ ต้องกระโดดเข้าใส่ แต้มต่อของธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงไป จำเป็นต้องปรับ Business Model หันมาใช้ดิจิทัลให้มากขึ้น และไม่ใช่แค่เทคโนโลยี แต่ต้องใช้ Data ที่ได้ให้ดีด้วยเช่นกัน ที่สำคัญต้องไม่ลืมเรื่องของ Non-digital คือต้องพัฒนาคนไปด้วยเช่นกัน”
ดิจิทัลกำลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจของไทยและโลก องค์กรที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงมากกว่าย่อมมองเห็นโอกาสและสามารถประสบความ สำเร็จในยุคดิจิทัลอีโคโนมีนี้ได้
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ