ราวกับว่านาฬิกาของผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่หรือแบรนด์ดัง ไม่ได้ใช้พลังงานจลน์เพียงอย่างเดียวในการขับเคลื่อนกลไกภายใน เพราะบางครั้งเวลาของพวกเขาเดินเร็วกว่าปกติ จากการที่ต้องเร่งตัดสินใจปิด Deal ธุรกิจให้ได้ เหมือนกับที่ Sony เร่ง ซื้อหุ้น EMI เพิ่ม จาก 30% เป็น 90% ผ่านข้อตกลง 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 48,300 ล้านบาท) ทั้งที่กรอบเวลาในการเจรจากับ Mubadala บริษัทเพื่อการลงทุน ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เจ้าของหุ้นเดิม ยังเปิดถึงสิงหาคม

แบรนด์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นซึ่งปัจจุบัน Kenichiro Yoshida เป็นผู้กุมบังเหียน มีเหตุผลอะไร และที่มาที่ไปอย่างไรในการทุ่มเงินก้อนโตครั้งนี้ รู้ได้จากย่อหน้าถัดจากนี้

ให้ Music Business ที่ฟื้นตัวเป็นเพลงนำสำหรับอนาคต

พฤติกรรมการฟังเพลงที่เปลี่ยนไป ทำให้อุตสาหกรรมดนตรีต้องปรับตัว หันมาเน้นทำเพลงฮิตเพื่อ Streaming แล้วจึงรวมเป็นอัลบั้มทั้งแบบ Digital เพื่อ Download เก็บไว้ และทั้ง Physical เพื่อเก็บสะสมเป็น CD หรือแผ่นเสียงเพื่อคุณภาพเสียงที่ดีกว่ากันมากขึ้น ซึ่งที่สุดแล้วส่งผลดีช่วยให้ Music Business ฟื้นตัวหลังย่ำแย่อยู่หลายปี ดังนั้นบริษัทไหนมีคลังเพลงใหญ่กว่าจึงเก็บเกี่ยวดอกผลของการคืนชีพของธุรกิจตัวโน๊ตได้มากกว่า

บริษัทดังกล่าวคือ Sony นั่นเอง เพราะ Deal มูลค่ามหาศาลครั้งนี้ทำให้ Sony ตอกย้ำความเป็นเบอร์หนึ่งด้านคลังเพลง มีเพลงอยู่ในคลังให้เก็บค่าลิขสิทธ์เพิ่มเป็น 4.5 ล้านเพลง ครอบคลุมเพลงทุกยุค ทุกแนว จาก Queen ถึง Imagine Dragon และ Michael Jackson ถึง Pharrell Williams ทิ้งห่างทั้ง Warner คู่แข่งซึ่งแสดงความสนใจที่จะ ซื้อหุ้น EMI เช่นกัน

Yoshida ประธานบริหาร (CEO) ซึ่งเพิ่งเริ่มทำงานอย่างเป็นทางการเมื่อ 1 เมษายนที่ผ่านมา กล่าวว่า “Deal นี้เป็นการยืนยันว่า Sony จะเพิ่มการลงทุนด้านเนื้อหา (Content) และทำกำไรจากทรัพย์สินทางปัญญาที่ถือครองอยู่มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาอุตสาหกรรม Hardware อย่าง โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์และเครื่องเสียงที่เคยเป็นรายได้สำคัญในอดีต”

ซื้อหุ้น EMI Snoopy

Sony นำร่องการปรับเปลี่ยนองค์กรให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ และแสดงให้เห็นว่าหันไปจับธุรกิจ Content มากขึ้นไปแล้วก่อนหน้านี้ ด้วยการซื้อหุ้น 49% ของ Peanuts แบรนด์เจ้าของลิขสิทธ์ตัวการ์ตูน Snoopy กับผองเพื่อน และหุ้นส่วนน้อยของ Spotify ค่าย Music Streaming ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้มากสุดในโลก

ซื้อหุ้น EMI Spotify

เป็น Theme Song เปิดตัว CEO คนใหม่

ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่า Yoshida เพิ่งนั่งเก้าอี้ CEO มาไม่นาน จึงต้องเร่งสร้างผลงานให้ประจักษ์และจับต้องได้ เพราะ Kazuo Hirai เจ้าของตำแหน่งคนก่อน สร้างผลงานที่น่ายกย่องเอาไว้ โดยตลอด 6 ปีในหน้าที่ ผู้บริหารชาวญี่ปุ่นที่สื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วรายนี้ เดินหน้าพลิกฟื้น Sony อย่างจริงจังผ่านการตัดธุรกิจที่ขาดทุน (โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ และ Smartphone) พร้อมให้ความสำคัญกับธุรกิจที่มีอนาคต (เพลง กล้องถ่ายรูป Console Game และเลนส์กล้องใน Smartphone) รวมถึงการตัดสินใจที่เจ็บปวดอย่างการเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนรวมมากถึง 20,000 คน

ซื้อหุ้น EMI Sony CEOs

Kazuo Hirai และ Kenichiro Yoshida

ความสำเร็จที่ทำให้ Hirai กลายเป็น “เทพผู้คืนชีพบริษัท” คนล่าสุดของแดนซามูไร คือการทำให้บริษัทอายุเกือบแปดทศวรรษแห่งนี้ฟื้นตัว โดยปี 2017 มีกำไรสุทธิเพิ่มเป็น 4,500 ล้านเหรีญยสหรัฐฯ (ราว 139,000 ล้านบาท) ซึ่งเพิ่มจากปี 2016 มากถึง 7 เท่า

แม้ Yoshida มีส่วนสำคัญกับความสำเร็จดังกล่าว ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน (CFO) คู่ใจ Hirai แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากอยากพ้นเงา Hirai ตัว Yoshida เองก็ต้องเร่งสร้างผลงาน ดังนั้นการปิด Deal ซื้อหุ้น EMI จึงเป็นผลงานช่วงเปิดตัวที่น่าประทับใจ

จะไปได้สวยหรือไม่ ใช้ Solo Album ตัดสิน

ซื้อหุ้น EMI Yoshida

ต่อจากนี้ต้องจับดูว่า Yoshida จะพาองค์กรมูลค่า 61,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 1.8 ล้านล้านบาท) ซึ่งมี 8 ธุรกิจในเครือ ไปในทิศทางใด และจะมีผลงานที่เรียกเสียงฮือฮาออกมาอีกหรือไม่ ไม่ต่างการออกผลงานเดี่ยวของหนึ่งในสองสมาชิกที่เคยดังแบบเป็นคู่มาก่อน โดยความท้าทายมากมายที่รอ CEO พูดน้อยวัย 57 ปีอยู่คือ การผลักดันผลิตภัณฑ์พลิกวงการแบบที่ Walkman เคยทำได้ในอดีต และเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีกล้อง Smartphone เพื่อให้ Sony คงความเป็นที่หนึ่งในวงการนี้ต่อไป

ซื้อ EMI Inside

รวมถึงกระตุ้นค่ายหนังในเครือ Sony Picture ทั้งหมดให้เข็นหนังกวาดรายได้ออกมาเพิ่มขึ้น และแน่นอนว่า รวมถึงการบริหารจัดคลังเพลงที่มีอยู่ให้คุ้มค่ากับเงินลงทุนที่เพิ่งทุ่มไปด้วย

/ cnn ,bbc ,theguardian ,billboard ,bloomberg ,cnbc ,news.sky ,wikipedia

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online