ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ใครช้อปปิ้งบ่อยกว่ากัน ? คำตอบคือผู้หญิง

และระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ใครมีอำนาจในการซื้อของเข้าบ้าน ? คำตอบคือผู้หญิงอีกเช่นเดียวกัน

กลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ศูนย์เชี่ยวชาญตลาดภูมิภาคเอเชีย (Asia Market Expertise Center: AMEC) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  และ อินฟลูเอ็นเชี่ยล แบรนด์ จากสิงคโปร์ ร่วมกับนิโอ ทาร์เก็ต เลือกผู้หญิงเป็นกลุ่มเป้าหมายเพื่อวิจัยถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในปี 2018

ผ่านการสำรวจหญิงไทย ที่มีอายุ 26-50 ปี (ใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบโควต้า เพื่อความแม่นยำในการนำเสนอตัวแทนจากกลุ่มอายุที่แตกต่างกัน แบ่งเป็นอายุ :  26-30, 31-35, 36-40, 41-45, 46-50) อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 420 คน

เพื่อทำให้ทราบมุมมองและความพึงพอใจที่มีต่อแบรนด์ต่าง จำนวน 38 หมวดหมู่สินค้า ที่ตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพ การพัฒนาตนเอง การทำงาน และการสร้างสมดุลในชีวิต รวมทั้งข้อมูลพฤติกรรมและการตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์

ซึ่งงานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยตลาด 5 ประเทศในเอเชีย ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และ ฟิลิปปินส์ โดยมีเป้าหมายหลักคือการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับมุมมองของผู้หญิงใน ASEAN

 

~ ~ ~ สุขภาพคือเบอร์ 1 ที่ต้องใส่ใจ ไม่ใช่การแต่งงานมีครอบครัว ~ ~ ~

กลุ่มผู้บริโภคที่เป็นผู้หญิงมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป จากคำถามที่ว่า สิ่งที่ผู้หญิงไทยให้ความสำคัญที่สุดในแง่ของการใช้ชีวิต 3 ดับดับแรกที่ผู้หญิงไทยตอบสูงสุดคือ  59% เลือกการใส่ใจดูแลสุขภาพร่างกายให้ดีขึ้นมาเป็นอันดับแรก ตามด้วย 56% ต้องการใช้ใช้ชีวิตให้มีความสุขและหาสิ่งที่น่าสนใจใหม่ และ 54% ต้องการค้นหาความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต

เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงไทยหันไปโฟกัสไปที่การดูแลตัวเอง ต้องการมีสุขภาพให้ดีขึ้น ใช้ชีวิตให้มีความสุข ต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่น่าสนใจ และมองหาความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตมากกว่าค่าตอบแทนสูงสุดในการทำงาน และที่สำคัญคือ มีเพียง 8% ที่สาวไทยให้ความสำคัญในเรื่องหาคู่ครองหรือมีครอบครัว ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกลุ่ม Millennials

 

~ ~ ~ สมดุลของชีวิตและทำงานต้องมาก่อน~ ~ ~

72% เลือกความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว จากคำถามที่ว่า อะไรสำคัญที่สุดในการเลือกที่ทำงานของสาวไทย รองลงมาคือ เงินเดือน 56% และ การเติบโตในหน้าที่การงาน 58%

พฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้เปลี่ยนแปลงผลการวิจัยในอดีตที่ผ่านมา ที่ปัจจัยเรื่องเงินเดือนและการเติบโตในหน้าที่การงานเคยเป็น 2 อันดับแรกที่คนจะนึกถึงในการเลือกผู้ว่าจ้าง

แต่ปัจจุบันผู้หญิงให้ความสำคัญกับเจ้านายที่สามารถให้ความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตได้ รวมทั้งในยุคดิจิทัลทำให้ผู้คนสามารถมองเห็นโอกาสมากมายทั้งจากในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น และจากการที่ประเทศในกลุ่ม ASEAN มีชื่อเสียงมากขึ้น ส่งผลให้ผู้หญิงไทย 14% มีความสนอยากไปหาโอกาสใหม่ ที่ต่างประเทศมากยิ่งขึ้น

 

~ ~ ~ ซื้อสินค้าออนไลน์ต้องคุ้มค่าเงิน” ~ ~ ~

ขณะเดียวกันพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ได้ส่งผลต่อการรับรู้แบรนด์ต่าง ในประเทศไทย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียุคดิจิตอล ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อ และกิจวัตรประจำวันต่าง ของผู้บริโภค เพราะสามารถอำนวยความสะดวก ทั้งในด้านการค้นหาข้อมูล ความบันเทิง การสั่งอาหาร และการซื้อสินค้าได้จากที่บ้าน 

โดย 88% เลือกความคุ้มค่าเงิน เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ รองลงมาคือ คุณภาพ (สามารถใช้ได้นาน) 41% และราคาถูก 35%

ตามด้วย 33% ยี้ห้อ, 28% การบริการลูกค้า, 24% ความปลอดภัย, 22% ความสะดวกสบาย, 16% การรับประกันสินค้า และอื่นๆ 2%

กลายเป็นว่าปัจจัยเรื่องราคาไม่ใช่เหตุผลแรกในการตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์ เพราะสำหรับผู้หญิงไทยแล้ว  ข้อเสนอที่แบรนด์จัดให้ลูกค้าโดยใช้ความเข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไร (Value Proposition) สูงถึง 88% นอกจากนั้น แบรนด์ที่ดีที่มีคุณภาพสูงยังสามารถสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้ว่าจะได้รับความคุ้มค่าจากเงินที่เสียไป

 

~ ~ ~ แบรนด์ไหนที่ผู้หญิงไทยพึงพอใจ~ ~ ~

นอกจากพฤติกรรมแล้ว งานวิจัยชิ้นนี้ยังได้ยังได้สำรวจ 38 หมวดหมู่สินค้า โดยมีมี 138 แบรนด์ที่โดดเด่นออกมาและ 46% เป็นแบรนด์ที่มาจากไทย

โดยหมวดซูเปอร์มาร์เก็ต (ท๊อปส์ มาร์เก็ต,โลตัส, บิ๊กซี) , ร้านสุขภาพความงาม (วัตสัน, บู๊ทส์, ฟาสซิโน), ห้างสรรพสินค้า (เซ็นทรัล, เดอะ มอลล์, โรบินสัน, สยามพารากอน, สยามเซ็นเตอร์), คลินิกดูแลผิวหน้า (วุฒิศักดิ์, นิติพล, ราชเทวี, พรเกษม) แสดงให้เห็นถึงการแข่งขันกันระหว่างสองบริษัทที่สูสีกัน 

และในหมวดหมู่ เช่น ร้านสะดวกซื้อ (7-11, แฟมิลี่มาร์ท, เทสโก้ โลตัส เอ็กเพรส, ท็อปส์ เดลี่) และ ฟิตเนส เซ็นเตอร์ (ฟิตเนสเฟิร์ส, วี ฟิตเนส, สปอร์ต ซิตี้, โทนี่ ฟิตเนส) มีผู้นำการตลาดในหมวดหมู่ที่ค่อนข้างชัดเจน

 

~ ~ ~ แบรนด์ใหม่ที่น่าสนใจ ~ ~ ~

อย่างไรก็ตามมีผลสำรวจที่น่าสนใจ คือ หนึ่งในผลการวิจัยชี้ให้เห็นถึงการรวมกันของธุรกิจในบางหมวดหมู่และแบรนด์ใหม่ที่เพิ่งมา โดยแบ่งเป็น

ผู้ให้บริการแฟลตฟอร์มออนไลน์ : ไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีแพลตฟอร์มออนไลน์มากมายในแต่ละหมวดหมู่สินค้าและบริการ โดยพบว่า แบรนด์ที่ผู้หญิงไทยชื่นชอบ เช่น  Lazada และ Agoda ที่ต่างตั้งตนเองเป็นแบรนด์ต้นๆที่ผู้หญิงไทยพึงใจ

แบรนด์ที่มาใหม่ (เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน) : ด้วยกระแสที่กำลังเติบโตของเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน ส่งผลให้ผู้หญิงไทยมอง AirBnB เป็นหนึ่งใน 5 อันดับเว็บไซต์จองที่พักออนไลน์ของพวกเขา

ร้านค้าออนไลน์ : การแข่งขันกันในตลาดของร้านค้ายืดเยื้อจนมีการแข่งขันกันในออนไลน์ด้วย ร้านค้ากำลังขยายตลาดโดยการเปิดช่องทางค้าขายให้มากขึ้น ถึงแม้ว่า 15% ของผู้หญิงยังไม่ซื้อสินค้าออนไลน์

 

~ ~ ~ ใครว่าผู้หญิงไทยไม่ชอบแบรนด์ไทย ~ ~ ~

แม้ว่าในยุคดิจิตอลจะทำให้เกิดการร่วมตัวของแบรนด์ในหลายหมวดหมู่เข้าด้วยกัน น่าแปลกใจที่ผู้หญิงไทยแสดงถึงความภักดีต่อแบรนด์ของประเทศไทยอยู่ เพราะมีการใช้และการกล่าวถึงแบรนด์ที่มาจากเมืองไทยค่อนข้างสูง

สินค้าที่ผลิตในไทยและแบรนด์ของไทยมีบทบาทสำคัญในชีวิตของผู้เข้าร่วมตอบคำถามส่วนใหญ่  กระแสนี้สะท้อนมาจากการเลือกแบรนด์ของผู้หญิงไทยในหมวดหมู่ต่างๆ โดยผลสำรวจแสดงให้เห็นถึงความภักดีต่อแบรนด์ดังนี้

คาเฟ่ : ในหมวดหมู่นี้แม้สตาร์บัคเป็นแบรนด์ที่เป็นผู้นำของคาเฟ่ในเอเชีย แต่ในไทยพบว่าแบรนด์อเมซอนเป็นแบรนด์ที่สามารถเรียกความนิยมได้มากกว่าสตาร์บัคซึ่งเป็นแบรนด์ระดับโลก

สายการบิน : สำหรับสายการบินแบบบริการเต็มรูปแบบเป็นที่นิยมมากที่สุดสำหรับสาวไทย ได้แก่ การบินไทย และสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำแอร์เอเชียได้กลายเป็นแบรนด์ยอดนิยม รองลงมาคือนกแอร์และไทยสไมล์แอร์เวย์

ธนาคาร : ธนาคารพาณิชย์ในประเทศ (ไทยพาณิชย์, กสิกร, กรุงไทย, กรุงเทพ, TMB) ยังเป็นตัวเลือกอันดับต้น สำหรับสาวไทย โดยมีธนาคารระหว่างประเทศที่เป็นที่รู้จักอยู่บ้าง 2 แห่ง คือ Citibank และ HSBC

 

~ ~ ~ ความปรารถนาผู้หญิงไทยที่ทำให้รู้สึกถึงความมีระดับ ~ ~ ~

ท้ายนี้เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจของผู้หญิงไทย พบว่า ต้องการขับรถบีเอ็มดับเบิลยูและเมอร์ซิเดสเบนซ์ ในหมวดหมู่รถยนต์  และในหมวดหมู่นาฬิกา คือ แบรนด์ Tag Heuer  เป็นอันดับหนึ่ง

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน