เรียนมาอย่าง ทำงานอีกอย่าง 

ในตำราบอกมาแค่นี้ โลกความเป็นจริงข้างนอกกลับมีอะไรมากมายมหาศาล`

เป็นปัญหาของหนุ่ม-สาว วัยทำงานจำนวนมากในวันนี้

เช่นเดียว “เอ็ม”  ธีรยา ธีรนาคนาท หนึ่งใน Co-founder and CEO บริษัท CareerVisa Digital ที่เคย “หลงทาง” เช่นกัน

อดีตนักเรียนทุนบอกว่าตัวเอง “หลงทาง”

ทั้งๆที่ เส้นทางที่เอ็มเลือกน่าจะเป็นเส้นทางที่ใช่ที่สุดๆ แล้ว เพราะทุกอย่างดูดี ไปหมด  เธอเป็นอดีตพนักงานทุน และ Management Trainee ของ บมจ. ปตท. มีประสบการณ์ด้านการเงิน พัฒนาธุรกิจ และการตลาด ในไทย ลาว ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์

จบ MBA Kellogg School of Management, Northwestern University ด้วยทุนของ ปตท. เส้นทางข้างหน้าที่แสนสดใส  แต่อยู่ๆ กลับเป็นสาวมั่น กล้าขัดใจพ่อแม่ ลาออกจากงานที่มั่นคง อย่างเริ่ดๆ เพื่อมาเริ่มต้นใหม่กับบริษัทเล็กๆ ที่ร่วมกันทำกับเพื่อนๆ  

มาฟังเธอเล่ากันดีกว่า ว่าชีวิตเกิดอะไรขึ้น

เสียงใสๆ ของเธอเริ่มเล่าตั้งแต่ตอนเป็นเด็กว่า เป็นเด็กที่อยู่ในกรอบ ชีวิตเดินตามเส้นทางที่พ่อแม่วางไว้อย่างเป็นระเบียบ ตั้งแต่เรียนชั้นประถมจนสอบเข้ามหาวิทยาลัย ไม่เคยคิดแตกแถว ไม่คิดว่าต้องมีความคิดเป็นของตัวเอง และเรียนให้เก่งๆ เหมือนพี่สาว เพื่อให้พ่อแม่ภูมิใจ  

“แล้วเอ็มก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองต้องค้นหาว่าชอบอะไร พ่อแม่ทำงานธนาคารทั้งคู่ ก็เลยต้องการให้เรียนด้านการเงิน ก็มุ่งมั่นเข้าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เรียนได้นะคะ แต่เริ่มรู้ล่ะว่าไม่ได้ชอบ”

ไม่ชอบ แต่เป็นคนที่ตั้งใจจะทำอะไรแล้วต้องทำได้ดี  มีอยู่ช่วงหนึ่งต้องสมัครเข้าแข่งขันโครงการ YFS (Young Financial Star) ก็ตั้งใจทำมาก นั่งวิเคราะห์หุ้นตัวต่างๆ แทบไม่ได้หลับได้นอน ทั้งๆ ที่บางครั้งคิดว่าทำไมฉันต้องมาอยู่กับอะไรพวกนี้  แต่ในที่สุดก็คว้ารางวัลอันดับ 2 ของประเทศ

จนเรียนจบ พ่อแม่ก็อยากให้เข้าไปทำงานที่ ปตท. ตามสูตรของพ่อแม่ส่วนใหญ่ เพราะมองว่าเป็นรัฐวิสาหกิจใหญ่โต มั่นคง สวัสดิการดี

“ตอนนั้นเริ่มมีความรู้สึกขัดแย้งนิดๆ เพราะเรียนจบ มธ. อินเตอร์ อยากไปทำงานบริษัทอินเตอร์มากกว่า แต่ว่า ก็เออ แบบไม่เป็นไร ก็สมัครไปไม่เสียหายอะไร ก็ได้เข้าไปทำ หลังจากนั้นก็ได้ทุนไปเรียนต่อที่อเมริกา    

ความรู้สึกของเธอในตอนนั้นฝันไกลถึงการเป็น CEO บริษัทใดบริษัทหนึ่งในเครือปตท. อยากเป็นTop  ของสายงานที่ทำ อยากเป็นคนที่ได้รับการยอมรับ ทุกคนชื่นชม จริงๆ คือตอนนั้นไม่รู้เลยว่าตัวเองชอบอะไรแน่ แต่อยากเป็นคนที่เจ๋งที่สุดแค่นั้น

การเป็นเด็กทุนต้องหมุนการทำงานไปเรื่อยๆ เป็นการได้เรียนรู้ฝึกทักษะในหลายเรื่อง ได้ย้ายจากไฟแนนซ์ไปมาร์เก็ตติ้ง ย้ายไปส่วน business development ได้มีส่วนสร้างธุรกิจใหม่ที่ท้าทาย แต่ก็ยิ่งเห็นตัวเองชัดเจนขึ้นว่า จริงๆ แล้วตัวเองเป็นแค่เฟืองตัวเล็กๆ เป็นแค่เครื่องมือตัวหนึ่งของระบบการทำงาน ที่ต้องทำงานหนัก แต่เปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรได้ยาก

 สิ่งที่เธอสรุปได้ในช่วงชีวิตของวันนั้นก็คือ

“เราอาจจะไม่ได้ทำในสิ่งที่เราชอบ แต่เราทำในสิ่งที่สังคมชื่นชม และพ่อแม่มีความสุขมากในการที่ลูกสาวได้ทำงาน ปตท. ได้ทุนมหาวิทยาลัยดังของโลก”

 สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้เธอกลับมาถามตัวเองว่า ชีวิตต้องการอะไร เกิดจากศาสตราจารย์คนหนึ่งที่ Kellogg เคยให้เธอได้สะท้อนตัวเองออกมาว่าใน 1 สัปดานี้ทำอะไรไปบ้าง มีอะไรที่น่าภูมิใจ แล้วมีอะไรที่ไม่น่าทำ แล้วเราจะแก้ไขยังไง

“เอ็มชื่นชมอาจารย์คนนี้มาก เขาเคยเป็น CEO ของบริษัทยาใหญ่ระดับต้นๆในอเมริกา สามารถไต่จากพนักงานระดับล่างไปจนถึงผู้บริหาร ยึดมั่นในสิ่งที่เขาให้ความสำคัญจริงๆ โดยที่หลายครั้งการตัดสินใจยากมาก และจำเป็นต้องเลือกเส้นทางที่ไม่อยากไป แต่เขายังสามารถภูมิใจในตัวเองได้ ”        

เมื่อถามตัวเองบ่อยๆ ก็เริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไมบางครั้งตัวเองไม่อินกับงาน แล้วเราต้องการอะไร คำตอบที่ได้ คือต้องการสร้างอะไรใหม่ๆ ที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคม เป็นตำนานให้คนพูดถึง

ในช่วงเวลานั้น เธอได้เจอกับพิน เกษมศิริ (พิน) ที่มีประสบการณ์การทำงานในบริษัท Advertising Agency McCann Worldgroup, Wunderman และที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนของ PriceWaterhouse Coopers ปัจจุบันได้รับทุนการศึกษา MBA เต็มจำนวนจากวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล

พินได้เริ่มทำ CareerVisa  เป็นบริษัทเล็กๆ มาก่อน โดยต้องการพัฒนาศักยภาพทางอาชีพ ช่วยให้นิสิต นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ค้นหาอาชีพที่ใช่ และจากไซด์โปรเจ็กต์กลายเป็นธุรกิจที่เอ็มยอมลาออกจาก ปตท. และลงมาทำเต็มตัว โดยมีวิชั่นว่าต้องการให้เป็นเหมือน Social Enterprise มากกว่าเป็นธุรกิจทั่วๆ ไปด้วย  

 “เราเข้าใจดีว่าเด็กที่ไม่มีประสบการณ์ใดๆ เขาก็ไม่พร้อมที่จะทำงาน ลึกลงไปอีกคือ เขาไม่รู้เป้าหมายอาชีพของตัวเอง ไม่รู้เป้าหมายชีวิต ซึ่งเหมือนเอ็มตอนนั้นเลย ”

 เธอกับเพื่อนๆ ได้พัฒนาหลักสูตรหนึ่งขึ้นมาคือ Career Design ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในวิชา Professional Development and Design Thinking ในหลักสูตร EBA จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เอ็มผู้ร่วมก่อตั้งเป็นผู้สอน

ประกอบไปด้วย Framework ชื่อ 5 Shades of life ที่จะช่วยให้เด็กเข้าใจตัวเอง และวิเคราะห์อาชีพใน 5 ด้าน  

 

 5 Shades of life

1. Skill and Interest ทักษะและความสนใจ  ทักษะนี้คือสิ่งที่เขามีอยู่แล้วแต่ดึงความสนใจในเรื่องอะไรที่จะไปพัฒนาทักษะนั้น

2. Personality and people to work with บุคลิกภาพ และคนที่เราเหมาะจะทำงานด้วย

คนคนหนึ่งมีชีวิตในการทำงานประมาณ 8 หมื่นชั่วโมง จะดีกว่ามั้ยถ้าเราได้ทำงานร่วมกับคนที่เราอยากเป็นแบบเขา เพราะถ้าเราไม่ชอบคนที่อะไรๆ ก็ดราม่าๆ แต่เราต้องไปอยู่กับคนแบบนั้นตลอดจนกลายเป็นคนแบบนั้นในที่สุด จะทำให้เราไม่ชอบตัวเอง ไม่มีความสุข”

3. Working condition สภาพแวดล้อมในการทำงาน คือเด็กรุ่นใหม่บางคนต่อให้อยู่ไหนไกลๆ ฉันก็ทำงานได้ นั่งอยู่คาเฟ่ก็ทำงานได้ เพราะฉะนั้นสามารถเลือกได้ว่าวันนี้จะไปทำที่ไหน หรือคุณโอเคกับทำที่ออฟฟิศ

4. Lifestyle รูปแบบการใช้ชีวิต บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องเลือกงานที่ได้เงินเดือนสูงกว่าเสมอไป ถ้าอีกงานแม้เงินเดือนน้อยกว่า แต่ทำให้มีวิถีชีวิตที่มีความสุขกว่าก็ต้องเลือก

5. Personal Core Value ค่านิยมของเราคืออะไร แล้วงานนั้นจะตอบโจทย์ค่านิยมของเราหรือเปล่า  

เธอมั่นใจว่าจากจุดนี้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง (Social Impact) เพราะได้คัดเลือกและปั้นคนที่มีคุณภาพเข้าไปอยู่ในองค์กร ทำให้นายจ้างและลูกจ้างได้ประโยชน์ ขณะเดียวกันยังเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยผลักดันธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งได้

เริ่มธุรกิจ แบบ Social Enterprise

ลักษณะการทำงานของ CareerVisa ที่จะเป็น Social Enterprise (SE) แบ่งเป็น 3 เรื่องหลักๆ คือ

1. การจัด One Day Event ฟรีให้กับเด็กๆ โดยมีองค์กรต่างๆ เป็นคนซัปพอร์ต เช่น google ดีแทค กรุงศรี TMB ที่จะมาพูดให้ฟังว่า โลกแห่งการทำงานมันเป็นยังไง เป็นการพูดแบบสร้างแรงบันดาลใจ และยังมี Career Coach ซึ่งเป็นคนที่ทำงานจริงๆ หลากหลายอาชีพเข้ามาคุย

2. Career Design รับจัดเวิร์กชอปกับสถาบันการศึกษา เช่น จุฬาฯ มหิดลฯ เอแบค

3. Career Launcher เป็นโครงการที่เราส่งเด็กไปทำงานในสตาร์ทอัพ เพื่อจะพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการให้เขา แต่สามารถนำไปใช้ในองค์กรได้ด้วย โดยปีนี้เด็ก 30 คนได้รับการสนับสนุนจาก NIA: National Innovation Agency

ทั้ง 3 ส่วนนี้ทำรายได้เลี้ยงตัวเองและเธอยังถือว่าเป็น SE เพราะเป็นธุรกิจที่เชื่อว่าสามารถสร้างโซเซียลอิมแพ็คได้    

“ทั้งหมดที่ทำ เหนื่อย กำไรน้อย ก็ไม่เป็นไรเพราะมันดีต่อใจค่ะ แต่ที่ต้องคิดหนักเพราะการเป็นออฟไลน์ทำให้ขนาดของธุรกิจยังเล็กมาก”

จากออฟไลน์กำลังพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์แบบสตาร์ทอัพเพื่อขยายผล กระทบทางสังคมไปสู่คนรุ่นใหม่จำนวนมาก ทั้งในไทยและประเทศในภูมิภาค โดยกำลังพัฒนา Personalized Career Development Platform ที่จะช่วยคนรุ่นใหม่ใน 4 เรื่องคือ  

1. ทำความรู้จักอาชีพใหม่ๆ โดยการปรึกษาตัวต่อตัวกับผู้มีประสบการณ์จริงในหลากหลายอาชีพ และประสบการณ์การศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก และผ่านคลิปสัมภาษณ์ โดยสามารถพูดคุยกันได้ทุกที่ทุกเวลา

2. ประเมินอาชีพที่เหมาะสมโดยระบบจะวิเคราะห์จาก 5 ด้านของผู้ใช้ ผ่านแบบทดสอบจากหลักสูตร Career Design

3. พัฒนาตนเองเพื่อไปสู่อาชีพที่เหมาะสม โดยระบบจะให้คำแนะนำ

4. สมัครงานในตำแหน่งหรือองค์กรที่เป็นเป้าหมายอาชีพของตนเอง

ทุกอย่างกำลังเริ่มต้นทดลองเพื่อศึกษาดูว่ามีความต้องการมากจริงๆ หรือเปล่า และจะพัฒนาแบบไหนให้ตอบโจทย์น้องๆ มากที่สุด ก่อนที่จะลงทุนพัฒนาอย่างเต็มตัว

ปัจจุบัน เริ่มมีนักลงทุนที่สนใจเข้ามาบ้างแล้วแต่ก็ต้องยอมรับว่า ความตั้งใจของผู้ก่อตั้งคือการเป็น Social Enterprise ดังนั้นการคาดหวังเงินตอบแทนเยอะๆ แล้วมาบังคับให้เปลี่ยนวิชั่นก็ไม่ได้เหมือนกัน

เธอยืนยันว่าโดยเนื้อแท้ยังต้องการสร้างเป็น Social impact และต้องการนำพาเด็กไปสู่อาชีพที่ใช่ แล้วเอ็มกับเพื่อนๆ ต้องรักษาหัวใจเรื่องนี้ไว้ให้ได้

“ไม่อยากหลงทางอีกเป็นครั้งที่ 2 ค่ะ” เธอปิดท้ายด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น

 

 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online