SACICT สร้างโอกาสเชื่อมโยงหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์พิเศษของแต่ละวัฒนธรรมพื้นถิ่น ระหว่างล้านนา-อีสาน-ใต้ ด้วยการจัดกิจกรรม “ครูพบครู” เป็นครั้งแรก ให้ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม  ร่วมศึกษาแลกเปลี่ยน เรียนรู้องค์ความรู้ ภูมิปัญญา ทักษะและเทคนิค ในงานศิลปหัตถกรรมที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาเชิงช่างในแต่ละวัฒนธรรมพื้นถิ่นจากพื้นถิ่นหนึ่งร่วมกับอีกพื้นถิ่นหนึ่ง

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT เปิดเผยว่า “กิจกรรมครูพบครู” เป็นโครงการริเริ่มที่ SACICT จัดขึ้นเป็นปีแรกในปีนี้  ที่เกิดขึ้นจากไอเดียต่อยอดความสำเร็จในงาน Cross Culture Craft ซึ่งเป็นงานแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างประเทศที่จัดขึ้นในต่างประเทศ โดยนำครูศิลป์ของแผ่นดินไปพบปะแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมพื้นถิ่นในงานศิลปหัตกรรมกับครูศิลป์ต่างประเทศ

“แล้วเรานำมาผสมผสานกับการยกระดับการอบรมช่างศิลป์ของไทย โดยที่ครูศิลป์ในพื้นถิ่นของแต่ละภูมิภาคต่างมีทักษะเทคนิคขั้นสูงและฝีมือในงานศิลปหัตถกรรมที่ถนัดระดับชั้นเยี่ยมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนแตกต่างกันไป ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสาน แต่ครูศิลป์แต่ละท่านต่างมีรากฐานเทคนิคในการทำงานศิลปหัตถกรรมที่เหมือนกัน จึงคิดทำเพื่อสร้างรากฐานที่มีอยู่เดิมนี้มาต่อยอดใหม่ให้เกิดผลผลิตใหม่ ที่ให้ความเจริญงอกงามและเติบโตเพิ่มขึ้น บนพื้นฐานลวดลวยที่มาจากเทคนิคต่างๆ ตามวัฒนธรรมพื้นถิ่นเดิมที่มีอยู่ จึงสรุปการทำงานมาเป็นรูปแบบการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมโดยการนำครูศิลป์หัตกรรมพื้นถิ่นหนึ่งมาพบปะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันกับครูศิลป์อีกพื้นถิ่นหนึ่ง โดยจะเลือกพืนถิ่นที่มีองค์ความรู้ในแนวทางเดียวกันเป็นหลักนำในการสร้างโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างวัฒนธรรมพื้นถิ่นระหว่างกัน” นางอัมพวันกล่าว

กิจกรรมครูพบครูครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสร้างโอกาสให้ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปะหัตถกรรม ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ ภูมิปัญญา ทักษะและเทคนิคต่างๆ ในงานศิลปหัตถกรรมในวัตนธรรมพื้นถิ่นที่แตกต่างกัน จากพื้นถิ่นหนึ่งร่วมกับอีกพื้นถิ่นหนึ่ง  เพื่อให้เป็นแนวทางเสริมสร้างโอกาสให้เกิดความร่วมมือ และการเชื่อมโยงในเชิงของหัตถกรรมในวัฒนธรรมพื้นถิ่น ตลอดจนการเชื่อมโยงเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมของบุคคลระดับ “ครู” ที่ได้รับการเชิดชูให้มีการพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถ่ายทอดผลงานระหว่างกัน อันเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการอนุรักษ์ สืบสานจากบรรพบุรุษ หรือเกิดแนวคิดในการนำไปปรับประยุกต์เป็นผลงานเชิงสร้างสรรค์ สู่การต่อยอดขยายผลด้วยองค์ความรู้ในหลากหลายวัฒนธรรมพื้นถิ่น

กิจกรรมครั้งแรกในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมพื้นถิ่นนี้จะเริ่มขึ้นในวันที่ 9-11 สิงหาคมนี้ ในงานหัตถกรรม “ผ้ายกดอก– ผ้าทอเทคนิคยก” ในวัฒนธรรมภาคใต้ – ภาคอีสาน กับวัฒนธรรมภาคเหนือ และ “ผ้ายกดอกที่ใช้ในราชสำนัก” ประกอบด้วย ผ้ายกดอกนคร  จังหวัดนครศรีธรรมราช   ผ้ายกดอกอีสาน  จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุบลราชธานี   ผ้าทอเทคนิคยก (ผ้าแพรวา)  จังหวัดกาฬสินธุ์  ผ้ายกดอกลำพูน จังหวัดลำพูน  ผ้ายกดอกแบบราชสำนัก  ผ้านุ่งของสตรีชั้นเจ้านายฝ่ายใน ในราชสำนักสยาม

องค์ความรู้ที่แลกเปลี่ยน จะเป็นเรื่องราวการศึกษาเทคนิควิธีการ “ทอยก” ในพื้นที่ทอจริง สาธิตและบอกเล่าเทคนิคต่างๆ พร้อมกับการบรรยายเพื่อชี้ให้เห็นถึงเรื่องราวเชิงเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์พิเศษของความเป็นงาน “ผ้า ยกดอก” ที่ต้องมี ต้องรักษา และต้องไม่ผิดเพี้ยน ดำเนินการโดยครูศิลป์ของแผ่นดิน หรือทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ผู้เชี่ยวชาญงานผ้ายกดอก โดยเฉพาะเรื่องราวความเป็นเอกลักษณ์ “ความเหมือน” ในความเป็น “ผ้ายกดอก-ผ้าทอเทคนิคยก”  และ“ความต่าง” ของความเป็นเอกลักษณ์ของผ้ายกแต่ละพื้นถิ่นที่มีรากเง้าหรือประวัติศาสตร์ที่มาที่แตกต่างกัน รวมถึง เอกลักษณ์  “ผ้ายกแบบราชสำนัก” ผ้านุ่งสตรีชั้นพระมเหสี และสตรีฝ่ายใน ในราชสำนัก  อัตลักษณ์ที่ต้องรักษาไว้ในความเป็นผ้ายกของพื้นถิ่นนั้นๆ เพื่อคงคุณค่าของการเป็นผ้ายก ผ้าชั้นสูงไม่ให้หายไป

แล้วยังมีการแลกเปลี่ยนทัศนะและมุมมองระหว่างครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และผู้เชี่ยวชาญงานผ้ายกดอก เพื่อบอกเล่าถึงเอกลักษณ์ และเทคนิคของความเป็นผ้ายกดอกแต่ละพื้นถิ่น ผ่านผลงาน “ผ้ายก” ในแต่ละพื้นถิ่น ตลอดจนความนิยม และเอกลักษณ์ที่ต้องดำรงรักษา รวมทั้งจุดที่ควรได้รับการพัฒนาสร้างสรรค์ในงาน “ผ้ายกดอก” / “ผ้าแพรวา-เทคนิคยก” ให้คงอยู่ในความนิยมของคนไทยต่อไป  อีกทั้งเรียนรู้ ผ้าในวัฒนธรรมพื้นถิ่นของชาวล้านนา เช่น ผ้าทอแบบราชสำนักของเจ้านายในวัฒนธรรมชาวพม่าและไทใหญ่  ผ้าแห่งชาติพันธุ์ต่างๆ  ผ้าลุนตะยาอะเชะ  ผ้าในการแต่งกายต่างๆ

กิจกรรมครั้งที่สอง จะมีขึ้นในปลายเดือนสิงหาคมนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงวัฒนธรรมในงานหัตถกรรม “เครื่องเงิน – เครื่องถม – ผ้าทอ”  ระหว่างวัฒนธรรมภาคใต้ กับภาคอีสาน ได้แก่ เครื่องเงินในวัฒนธรรมอีสานใต้ จังหวัดสุรินทร์ ที่ได้รับอิทธิพลจากเขมร เครื่องเงินในวัฒนธรรมล้านนา จังหวัดน่าน  เครื่องถมเงิน-ถมทอง ประวัติศาสตร์เครื่องใช้ชั้นสูงในราชสำนักในวัฒนธรรมถิ่นใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช  ผ้าทอเทคนิคมัดหมี่ (มัดหมี่ / จวนตานี / ปะลางิง)  ในวัฒนธรรมอีสานใต้ และวัฒนธรรมถิ่นใต้ จังหวัดปัตตานี – ยะลา เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ภูมิปัญญา ทักษะและเรียนรู้เทคนิคต่างๆ ในความเหมือน และความแตกต่างของแต่ละพื้นถิ่น ในการทำงานในพื้นที่จริง ทั้งในการทำ “เครื่องถมเงิน-ถมทอง” “การมัดหมี่ – การย้อมสี และย้อมสีธรรม ผ้าจวนตานี” ด้วยการสาธิตและบอกเล่าเทคนิคต่างๆ  ระหว่าง ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม

พร้อมกับบรรยายเพื่อชี้ให้เห็นถึงเรื่องราวเชิงเอกลักษณ์และอัตลักษณ์พิเศษของความเป็นงาน “ผ้ามัดหมี่ (จวนตานี)” และ การผสมผสานสีย้อมธรรมชาติ ดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญงานผ้าจวนตานี และการย้อมสีธรรมชาติ  และการเสวนาแลกเปลี่ยนทัศนะและมุมมองระหว่างครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และผู้เชี่ยวชาญงานผ้าจวนตานี ผ้ามัดหมี่ ผ้าย้อมสีธรรมชาติผ่านผลงาน “ผ้า” ในแต่ละพื้นถิ่น รวมถึงความนิยม และเอกลักษณ์ที่ต้องดำรงรักษา และจุดที่ควรได้รับการพัฒนาสร้างสรรค์ในงาน “ผ้าจวนตานี” ให้อยู่ในความนิยมของคนไทยต่อไป  รวมทั้งการศึกษาเรียนรู้ ผ้าในวัฒนธรรมพื้นถิ่นใต้ เช่น ผ้าจวนตานีโบราณ ผ้าจวนตานี-ซงเค็ต ผ้าปะลางิงโบราณในวัฒนธรรมมลายู ผ้าในการแต่งกายต่างๆ

กิจกรรมครั้งที่สาม จัดขึ้นในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ จะเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ภูมิปัญญา ทักษะและเทคนิคเชื่อมโยงวัฒนธรรมในงานหัตถกรรม “ผ้าทอชาติพันธุ์” ในวัฒนธรรมล้านนา  ร่วมกันของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม  ประกอบด้วย  การศึกษาเรียนรู้ผ้าทอชาติพันธุ์ในวัฒนธรรมล้านนา เช่น ผ้าทอชาติพันธุ์ไทลื้อ จังหวัดน่าน ผ้าทอชาติพันธุ์ไทยวน จังหวัดแพร่   รวมทั้งการอนุรักษ์/สืบสานวัฒนธรรม และภูมิปัญญาบรรพบุรุษผ้าทอในวัฒนธรรม และชาติพันธุ์ จากอดีตสู่ผลงานเชิงสร้างสรรค์ในปัจจุบัน

ผู้อำนวยการ SACICT กล่าวย้ำว่า กิจกรรมครูพบครูในครั้งแรกนี้ จะทำให้เครือข่ายครูศิลป์มีความแน่นแฟ้นมากขึ้น ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้วัฒนธรรมระหว่างพื้นถิ่นนี้ จะนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานที่เป็น “นวตกรรมใหม่” ทั้งในด้านการทำงานและทางเทคนิคในพื้นที่ทั้งภาคเหนือ อีสาน และใต้ เข้าด้วยกัน และนำไปพัฒนาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา อาทิ ผ้าทอแบบใหม่ที่เกิดจากการผสมผสานองค์ความรู้ทางเทคนิคในวัฒนธรรมของเหนือ อีสาน และใต้ ที่มาจากการทำงานแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างครูศิลป์ด้วยกันที่มาจากต่างแต่ละพื้นถิ่นแต่เป็นวัฒนธรรมเดียวกัน เป็นต้น พร้อมกับวางเป้าหมายต่อไปในปีหน้าด้วยว่า เพื่อให้เกิดการขยายผลกิจกรรมเช่นนี้อีกไปยังหัตถกรรมประเภทอื่นๆ ที่เป็นการข้ามรากเหง้าทางวัฒนธรรมแต่มาจากงานประเภทที่เหมือนกัน อาทิ งานทอเครื่องจักสาน กับ ผ้าทอ เป็นต้น

“ท้ายสุดแล้วความมุ่งหวังจากกิจกรรมครูพบครูครั้งนี้ จะนำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจให้กับบุคคลสำคัญในงานหัตถศิลป์เกิดความรู้สึกรักในงานของตน เกิดการอนุรักษ์งานหัตถศิลป์ที่สำคัญของชาติ ต้องการให้มีการสืบสานต่อเนื่องต่อไปจากบรรพบุรุษสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ผลิตดอกออกผลสร้างสรรค์เป็นผลงานที่ทรงคุณค่าในปัจจุบันและสู่อนาคตในวันข้างหน้าต่อไป” นางอัมพวัน กล่าวทิ้งท้าย



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online