ถ้าเอ่ยถึงชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบรนด์ญี่ปุ่น เชื่อเลยว่าชื่อแบรนด์ พานาโซนิค คือชื่อแรกๆ ที่นึกถึง จากความคงทนของสินค้า ประวัติของแบรนด์ที่มีมาอย่างยาวนานถึง 100 ปี ตั้งแต่รุ่นคุณปู่ทวดไปจนถึงรุ่นเหลนเลยก็ว่าได้

ในโอกาสที่พานาโซนิคจะก้าวผ่านเลขหลัก 100 ปี เพื่อก้าวสู่ปีที่ 101 Marketeer ได้รับเชิญจาก พานาโซนิค เข้าร่วมกิจกรรมฉลองครบรอบ 100 ปี ร่วมกับผู้สื่อข่าวจาก 20 ประเทศทั่วโลก ในฟอรั่มพิเศษ “CROSS-VALUE INNOVATION FORUM 2018” ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นงานที่โชว์วิสัยทัศน์และทิศทางของพานาโซนิคในอนาคต และเป็นกิจกรรมสุดท้ายที่จะส่งท้ายปีที่ 100 ของพานาโซนิค

การก้าวเข้าสู่ปีที่ 101 ถือเป็นเรื่องท้าทายครั้งสำคัญของ พานาโซนิค ที่จะพาตัวเองไปสู่การเจริญเติบโตท่ามกลางการแข่งขันที่ร้อนระอุ จากบรรดาแบรนด์จีนและเกาหลี ที่ต่างตีตื้นขึ้นมาสร้างตลาดของตัวเองไปทั่วโลก

100 ปีในอดีตของพานาโซนิค คือความภูมิใจของประเทศญี่ปุ่น ในฐานะผู้ริเริ่มและเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าวงการเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น เข้าสู่ตลาดโลก

ส่วนในปีที่ 101 นั้น คาซูฮิโระ ซึกะ ประธานบริษัทพานาโซนิค ได้ถามตัวเองในสุนทรพจน์พิธีเปิดงานว่า “พานาโซนิคควรจะเป็นใคร” เพราะพานาโซนิคคือผู้ผลิตสินค้าและนวัตกรรมที่มีความหลากหลาย

ประธานได้กล่าวว่า ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา พานาโซนิคได้ขยายขอบข่ายธุรกิจออกไปอย่างกว้างไกล

เมื่อครั้งพานาโซนิคเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคระดับแมส บริษัทก็เป็นอะไรที่เข้าใจได้โดยง่าย การตั้งคำถามให้กับตัวเองในการผลิตสินค้าคือ “ลูกค้าต้องการอะไร” และวางตัวเองเป็นผู้ผลิตสินค้าที่ดีที่สุด เพื่อผลิตสินค้าในปริมาณมหาศาลเพื่อตอบสนองความต้องการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทั่วโลก

“อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนหน้าที่พานาโซนิคกำลังจะเดินมาถึงจุดครบรอบ 100 ปี ได้ลองถอยกลับไปมองหลายสิ่งหลายอย่างที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน และพบว่าพานาโซนิคเป็นทั้งซัปพลายเออร์รายใหญ่ของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เป็นผู้นำเสนอโซลูชั่นสำหรับสายการผลิตในโรงงานของบริษัทต่างๆ และยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่กำลังเติบโต”

“จุดนี้เองทำให้ตระหนักได้ว่า พานาโซนิคเองนั้นไม่รู้จะนิยามตัวเองว่าอย่างไร”

และทำอย่างไร พานาโซนิคถึงจะเปลี่ยนตัวเองตามสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วบนความต้องการที่แตกต่างของผู้บริโภคในแต่ละช่วงเวลาได้ นึ่คือคำถามปลายเปิดที่ท่านประธานตั้งให้กับตัวเองในการนำพานาโซนิคเดินหน้าต่อไป

 

ทิศทางของพานาโซนิคในปีที่ 101 จึงประกอบด้วยกัน 2 เรื่องหลักคือ

1. การเปลี่ยนแนวคิดในการนำเสนอสินค้าในรูปแบบไลฟ์สไตล์อัพเกรดสู่ไลฟ์สไตล์อัพเดต

ประธานได้กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพานาโซนิคได้ดำเนินธุรกิจตามธรรมเนียมดั้งเดิมใน “การยกระดับ” หรือปรับปรุงความเป็นอยู่ของผู้คนด้วยเครื่องใช้ภายในบ้านและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างพิถีพิถัน เพื่อความสมบูรณ์แบบในการใช้งานของผู้บริโภค

และในปีที่ 101 พานาโซนิคได้ปรับเปลี่ยนไปสู่ยุทธศาสตร์ใหม่ สู่การเป็นผู้นำเสนอไลฟ์สไตล์อันทันสมัย ด้วยสินค้าและบริการที่พัฒนาขึ้นจากความชอบและวิถีชีวิตของผู้ใช้แต่ละราย ผ่านการเก็บข้อมูลด้านไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมด้านการบริโภคมาประยุกต์ใช้ในแบบเรียลไทม์

และเรียกแนวคิดนี้ว่า ไลฟ์สไตล์อัพเดต

ซึกะได้กล่าวเพิ่มว่าวันนี้สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในแต่ละแบรนด์แทบไม่มีความแตกต่างกัน การแข่งขันสร้างความแตกต่างกันคือ การอัพเกรดเทคโนโลยี

ซึ่งการอัพเกรดเทคโนโลยีนี้คุณค่าที่ลูกค้าจะได้รับ คือการอัพเกรด Value ผ่านสเปก ฟังก์ชันการใช้งานให้สูงขึ้น และทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น

และการอัพเกรดเทคโนโลยีมาพร้อมกับความท้าทายคือสกิลของผู้ใช้งานแต่ละบุคคล ซึ่งถ้าลูกค้ามีสกิลที่ไล่ตามเทคโนโลยีไม่ทัน การอัพเกรดเทคโนโลยีก็ไร้ความหมาย เพราะลูกค้าไม่สามารถใช้งานสินค้าได้เต็มประสิทธิภาพของมัน

และถ้าลูกค้ามีสกิลที่สูงกว่าเทคโนโลยี ก็จะมองว่าสินค้านี้ Low Value เพราะลูกค้าสามารถใช้งานสินค้าที่ฟังก์ชันการทำงานที่ High Value ได้มากกว่านั้น

แต่ถ้าเป็นการอัพเดต คำว่า Value ที่ลูกค้าได้รับจากการใช้สินค้าคือประสบการณ์ ด้วยการนำ AI และ IoT เข้ามาผนวกกับสินค้าต่างๆ ของพานาโซนิค

ซึ่งการนำ AI และ IoT มาใช้ทำให้พานาโซนิคได้รู้จักและรู้ใจลูกค้าเฉพาะบุคคลมากขึ้นตามการใช้งานของลูกค้า จนเกิดเป็นประสบการณ์ในการใช้งานที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าตามแต่ละช่วงเวลาของวัน

เพราะการอัพเดตที่ว่านี้คือการอัพเดตไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค

2. Co-Creation จับมือพัฒนาสินค้าที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าสูงสุด

การดำเนินธุรกิจของพานาโซนิคในยุคปีที่ 101 คือการ Co-Creation ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ทั้งในบริษัทและนอกบริษัทเพื่อการเติบโตที่แข็งแกร่งต่อไปในอนาคต

ซึ่งการ Co-Creation ของพานาโซนิคได้แบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ได้แก่

1. ร่วมมือกันในบริษัท ผนวกระบบการทำงานต่างๆ ตั้งแต่โรงงานถึงรีเทลเลอร์เข้าด้วยกัน และนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ในแต่ละหน่วยงานมาปรับใช้ด้วยกัน เพื่อจุดประสงค์หลักคือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้ผู้คนสะดวกสบายในการใช้ชีวิต และเป็นความตั้งใจตั้งแต่ผู้ก่อตั้งบริษัท

2. ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อจับมือกันพัฒนาสินค้าและเทคโนโลยีร่วมกันเพื่อนำเสนอไอเดียใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับการพัฒนาสินค้าออกสู่ตลาดอย่างรวดเร็วขึ้นแข่งกับเวลา

อย่างเช่นการร่วมมือกับบริษัท Furo ผลิตหุ่นยนต์เครื่องดูดฝุ่น ที่เป็นการนำเทคโนโลยี Robotic และ AI ไว้ด้วยกัน โดยจุดเด่นของเครื่องดูดฝุ่นนี้คือควบคุมการทำงานผ่านระบบ AI เครื่องดูดฝุ่นจะสามารถตรวจจับได้ว่าพื้นที่อยู่ตรงหน้ามีสิ่งของมาขวางกั้นไหม และถ้าเป็นสิ่งของประเภทพรม หรือเสื่อ ก็สามารถยกตัวขึ้นไปทำความสะอาดได้  และยังสามารถเดินตามบุคคลภายในบ้านเพื่อให้ไปดูดทำความสะอาดพื้นที่ที่ต้องการประหนึ่งสัตว์เลี้ยง และกลับไปเก็บที่อัตโนมัตเมื่อทำความสะอาดเรียบร้อย พร้อมการควบคุมด้วยแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน

ซึ่งหุ่นยนต์เครื่องดูดฝุ่นนี้พานาโซนิคและ Furo ใช้เวลาพัฒนาเครื่องต้นแบบเพียง 3 เดือนเท่านั้น ซึ่งถือว่าใช้เวลาในการพัฒนาค่อนข้างรวดเร็วเพราะที่ผ่านมาปัญหาของพานาโซนิคคือ มีขั้นตอนในการทำ R&D จนถึงการผลิตค่อนข้างซับซ้อน ทำให้การพัฒนาสินค้าในหมวด HA ออกสู่ตลาดใช้เวลานานเฉลี่ย 8-10 เดือนเลยทีเดียว

3. จับมือพาร์ตเนอร์  B2B เข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ

ประธานซึกะตั้งข้อสังเกตว่าเทรนด์ของไลฟ์สไตล์ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและหลากหลาย รวมไปถึงรสนิยมของแต่ละบุคคลนั้น สามารถที่จะสร้างโอกาสให้พานาโซนิคในระดับโลกได้ถ้ามีการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ในกลุ่มธุรกิจ B2B

เขาได้ยกตัวอย่างความร่วมมือระหว่างพานาโซนิคกับคู่ค้าในการสร้างให้เกิดโอกาสดังกล่าว

โดยหนึ่งในตัวอย่างของความร่วมมือแบบธุรกิจต่อธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ คือร่วมมือกับร้านอาหาร “Hai Di Lao Hot Pot” ซึ่งเป็นเชนร้านอาหารประเภทฮอทพอทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน เปิดให้บริการกว่า 360 สาขา และมีพนักงานจำนวนกว่าห้าหมื่นคน เพื่อนำเสนอบริการอันรวดเร็วและสร้างทางเลือกให้กับลูกค้า

การร่วมมือกับ Hai Di Lao Hot Pot คือการใช้แขนกลอัตโนมัติของพานาโซนิคในกระบวนการเตรียมอาหาร และได้นำระบบบอัตโนมัติอื่นๆ ของพานาโซนิคมาใช้เพื่อให้ลูกค้าสามารถปรับส่วนผสมหรือวัตถุดิบตามแบบที่ชื่นชอบได้ และภายในร้านมีการใช้โปรเจกเตอร์เพื่อย้อมสีของกำแพงให้ปรับเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา

“นับเป็น “ไลฟ์สไตล์ อัพเดต” ที่พานาโซนิคมีส่วนในการเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า และยังสามารถช่วยปรับปรุงในด้านความปลอดภัยของพนักงานที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวกับน้ำเดือดและความร้อนด้วย”

นอกจากนี้ประธานยังมองว่าประเทศจีนนั้นถือเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับพานาโซนิค โดยพานาโซนิคเป็นบริษัทจากประเทศญี่ปุ่นเพียงรายเดียวที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในชมรมผู้ประกอบการค้าจีน The China Entrepreneur Club”

“การเป็นสมาชิกของชมรมดังกล่าว เปิดโอกาสให้พานาโซนิคได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัท  Glodon ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ในธุรกิจการก่อสร้าง และบริษัท Beijing Linkdata Technologies ผู้ให้การบริหารจัดการด้านพลังงานที่เน้นการใช้แบตเตอรี่ โดยมีการใช้เทคโนโลยีกระจกอินซูเลทสุญญากาศ (Vacuum insulated glass) ของพานาโซนิค เพื่อสร้างเป็นที่พักชั่วคราวสำหรับคนงาน ที่สามารถนำไปประกอบตามสถานที่ต่างๆ และใช้เวลาปลูกสร้างเพียงแค่สองเดือนเท่านั้น อีกทั้งยังขนย้ายได้ง่ายและสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ตามที่ต้องการ ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งไลฟ์สไตล์อัพเดตเช่นกัน”

สำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้ยังเป็นเหมาะกับการใช้งานในสถานที่ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงแต่อาจมีที่พักอาศัยไม่เพียงพอ เช่น ในนครดูไบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเหมาะสำหรับนำมาใช้ในเขตที่ประสบภัยพิบัติอีกด้วย

ทั้งนี้ในปีที่ 101 ของพานาโซนิคไม่ใช่เพียงการเติบโตทางธุรกิจต่อไปอีก 100 ปี แต่ยังหมายถึงการสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกับผู้บริโภคด้วย เพราะไม่มีบริษัทไหนที่จะเพิกเฉยความสุขของผู้บริโภคได้

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online