การรณรงค์ความปลอดภัยทางท้องถนน ภายใต้โครงการ Toyota Campus Challenge 2018 บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ร่วมรณรงค์ความปลอดภัยทางถนน ภายใต้โครงการ โตโยต้า ถนนสีขาว มากว่า 30 ปี ด้วยความมุ่งหวังจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมคนขับรถดี เพื่อการลดอุบัติเหตุ โตโยต้าจึงริเริ่มกิจกรรม “Campus Challenge” โดยโตโยต้าถนนสีขาว ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 มุ่งเน้นไปที่กลุ่มนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ในการนำเสนอแผนการรณรงค์สร้างความปลอดภัยทางท้องถนนในรั้วมหาวิทยาลัย และลงมือปฏิบัติเพื่อลดอุบัติเหตุอย่างเป็นรูปธรรม และความมุ่งมั่นผ่านความคิดสร้างสรรค์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านั้น ได้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนครั้งใหม่เพื่อสร้าง ‘ถนนสีขาว’ ปลอดอุบัติเหตุอย่างแท้จริง Toyota Campus Challenge 2018 มากกว่าแนวคิด แต่ลงมือทำจริง โตโยต้าตระหนักว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่มีอุบัติเหตุสูง จึงได้ริเริ่มโครงการ Toyota Campus Challenge ขึ้น โดยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 5 เพื่อให้นิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศได้มีส่วนร่วมในการออกแบบแผนประชาสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างความปลอดภัยบนท้องถนนในรั้วมหาวิทยาลัย พร้อมลงมือปฏิบัติเพื่อลดอุบัติเหตุจริง โดยเฉพาะกับกลุ่มเป้าหมายภายในมหาวิทยาลัย โตโยต้ามีความมุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมคนขับรถดี โครงการในครั้งนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงแนวคิดเพื่อการรณรงค์เท่านั้น หากแต่พลังทางความคิดของคนรุ่นใหม่เหล่านี้ยังจะได้รับทุนสนับสนุน เพื่อนำแผนงานไปรณรงค์ต่อเป็นระยะเวลา 6 เดือนในมหาวิทยาลัยของตนเอง ได้รับโอกาสเข้าร่วมเวิร์กช็อป พร้อมเงินสนับสนุนกว่า 20,000 บาท เพื่อนำแผนงานไปปฏิบัติจริงตามที่ได้นำเสนอไว้ เป็นระยะเวลา 1 เดือน ไอเดียจากนิสิตนักศึกษารุ่นใหม่ในครั้งนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญอีกครั้งที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในอนาคต จาก 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย กับแนวทางการจัดการด้วยพลังสร้างสรรค์อย่างไร HALAQAH: วงกลมเปลี่ยนชีวิต-มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ปัญหาสำคัญ 3 ประการที่นำไปสู่อุบัติเหตุบนท้องถนนที่นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยฟาฏอนี คือ นักศึกษาส่วนใหญ่ชอบลัดวงเวียน ถนนลื่น เนื่องจากความไม่สะอาดจากเศษทรายและการขับรถด้วยความเร็วเกินกำหนด 30 km/h ที่อาจจะส่งผลให้ลื่น และเกิดอุบัติเหตุล้ม แนวทางในการรณรงค์คืออาศัยการเชื่อมโยงของสื่อโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสำคัญ ขณะเดียวกันก็ลงมือปฏิบัติในเชิงรูปธรรมผ่านกิจกรรมปฏิบัติการ การแก้ปัญหา ‘ลัด ลื่น ล้ม’ อาทิ ทำลูกระนาดก่อนถึงวงเวียน ทำป้ายเตือนจราจร ความเร็วไม่เกิน 30 กม. ต่อ ชม. ทาสีกันลื่นระหว่างวงเวียนเป็นลายเส้นตัวเลโก้ สร้างจมูกวงเวียน เป็นต้น   MSU Save Speed Safe Life-มหาวิทยาลัยมหาสารคาม การขับขี่รถด้วยความเร็ว ความเร่งรีบ ความเคยชินจากพฤติกรรม ความมั่นใจในสมรรถนะการขับขี่ของตนเอง และการขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎจราจร นำไปสู่ปัญหาจราจร ทีมได้จัดทําแคมเปญ “Save speed Safe life” เพื่อแก้ปัญหาการขับขี่ด้วยความเร็วเกินอัตราที่กําหนด โดยนํา “น้องชูโล่” มาสคอตประจำแคมเปญ มาติดตั้งบนถนนให้รถวิ่งเพียงเลนเดียว ให้รถชะลอความเร็วควบคู่กับการสื่อสารเพื่อรณรงค์ทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์   Safe Life By Light-มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ปัญหาเรื่องแสงสว่างไม่เพียงพอ รวมถึงลูกระนาดและเส้นถนนมีสีซีดจาง ซึ่งทำให้ทัศนวิสัยของการขับขี่ในช่วงค่ำคืนลดลง ประกอบกับนิสิตมักขับรถไม่เปิดไฟหน้าและไฟเลี้ยวในช่วงกลางคืน นำพามาซึ่งอุบัติเหตุ แผนการสร้างการตระหนักรู้ให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนของทีมจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา คือการรณรงค์ให้ “ขับช้าๆ เปิดไฟหน้า เปิดไฟเลี้ยว” โดยติดป้ายไวนิลเพื่อให้นิสิตมองเห็นตอนขับขี่ ขณะเดียวกันก็รณรงค์ผ่านเพจคณะของมหาวิทยาลัย และช่อง MS Channel ซึ่งเป็นช่องประชาสัมพันธ์ข่าวสารของคณะ   Safe Life on The Right Way (เดินกับปั่นฉันคู่เธอ)-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากปัญหาที่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีพฤติกรรมการเดิน ปั่น ขับขี่ ในเส้นทางที่ไม่ถูกต้องและเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุทั้งต่อตนเองและเพื่อนร่วมทาง นำไปสู่การสร้าง Facebook Fanpage ภายใต้ชื่อ Safe Life on The Right Way เพื่อรณรงค์ออนไลน์ ในขณะเดียวกันในรูปแบบออฟไลน์ก็ได้สร้างมาสคอต หมาชิบะ ชื่อเจ้าชิโต้ ให้เป็นตัวแทนของความมีระเบียบวินัย มีพฤติกรรมการใช้ถนนที่ดี พร้อมคลิปบอกที่มาที่ไปของการริเริ่มโครงการ โดยโน้มน้าวใจให้กลุ่มเป้าหมายตระหนักถึงความใส่ใจเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนร่วมกัน เป็นต้น   Street สู่การทำความดี-มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ปัญหาสำคัญที่ทีมพบคือ การขาดป้ายเตือนการใช้ความเร็วของนักศึกษา ขาดทางม้าลาย และอุบัติเหตุในจุดเสี่ยง โดยเฉพาะในจุดที่เป็นเนินสูง นอกจากรณรงค์และสร้างการตระหนักรู้ร่วมกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์แล้ว กิจกรรมในรูปออฟไลน์ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน อาทิ การทำป้ายเตือนลดความเร็ว การประสานงานกับรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและแกนนำนักศึกษา การทำความสะอาด สร้างลูกระนาดเพื่อสร้างเนินชะลอความเร็ว นอกจากนี้ยังมีการวาดและทาสีบริเวณถนน เป็นทางม้าลายสีสันสะดุดตา และการเดินรณรงค์การขับขี่อย่างปลอดภัยทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ เป็นต้น   เลี้ยวผิด ชีวิตเปลี่ยน-มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ปัญหาหนึ่งที่ทีมนี้พบจากการสัญจรภายในมหาวิทยาลัยคือ การเลี้ยวรถกินเลนถนนในจุดเลี้ยว ซึ่งมักทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และกลายเป็นจุดเสี่ยงที่ทำให้เกิดอันตราย คนขับขี่ส่วนหนึ่งมักไม่ให้ความสำคัญในจุดนี้ และเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดอันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ แนวทางเพื่อรณรงค์ในเรื่องนี้ที่ทีมนำเสนอ คือ วางกรวยที่ทาสีสันสะดุดตา เป็นแนวกั้นเขตเลนถนน เพื่อแก้ไขปัญหาการเลี้ยวกินเลนของผู้ใช้รถที่สัญจรผ่านบริเวณจุดเลี้ยวดังกล่าว   Look at Me-มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จุดเริ่มต้นสำคัญของหนึ่งในความปลอดภัยบนท้องถนน ทั้งผู้ขับขี่ ผู้สัญจร จนถึงคนเดินถนนทั่วไป คือความใส่ใจเรื่องการมองป้ายสัญลักษณ์ รวมถึงความชัดของการมองเห็นในจุดเสี่ยงต่างๆ ทีมนี้พบปัญหาหลายจุดของถนนภายในมหาวิทยาลัย เหตุนี้จึงเสนอแนวทางที่น่าสนใจ อาทิ การรณรงค์และประชาสัมพันธ์การมองป้ายจราจร กระจกโค้งจราจร และการยกมือขณะข้ามถนน โดยนำเสนอเป็นคลิปไวรัลเพื่อให้ผู้คนตระหนักยิ่งขึ้น   ทางม้าลายที่ไม่ใช่ลายม้า BY BUU-มหาวิทยาลัยบูรพา จุดเสี่ยงในมหาวิทยาลัยมักเป็นจุดที่ไม่มีทางม้าลาย ซึ่งคนที่ได้รับอันตรายมักเป็นคนเดินเท้าสัญจร ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การคิดริเริ่มโครงการทางม้าลายที่ไม่ใช่ลายม้า โดยวัตถุประสงค์ในการสร้างการตระหนักรู้เรื่องความระมัดระวังในการข้ามถนน ผ่านการรณรงค์ให้นิสิตข้ามถนนในจุดที่ปลอดภัย โดยรณรงค์ผ่าน Influencer ประชาสัมพันธ์ผ่านวิดีโอคลิป และการเดินประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ทั้งผู้ขับขี่และคนเดินเท้าเห็นความสำคัญ   คนมีเส้น CMRU-มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ปัญหาที่พบคือ นักศึกษาบางส่วนขาดความรู้ความเข้าใจในเครื่องหมายจราจรบนเส้นทางสัญจร หลายคนไม่เข้าใจความหมายของ ‘เส้น’ สัญลักษณ์ต่างๆ จึงทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎจราจรได้อย่างถูกต้อง จนนำไปสู่อุบัติเหตุขึ้นภายในมหาวิทยาลัย เช่น อุบัติเหตุจากการขับย้อนศร อุบัติเหตุจากการไม่ข้ามทางม้าลาย อุบัติเหตุจากการจอดรถไม่ตรงเส้นแบ่งช่องจอดรถ เป็นต้น การรณรงค์เรื่องนี้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงประชาสัมพันธ์ผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงของมหาวิทยาลัย รวมถึงปรับปรุงเครื่องหมายสัญลักษณ์ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี Street Chiw ลดความเร็ว ลดอุบัติเหตุ-มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี จิตสำนึกในการขับขี่และปฏิบัติตามกฎเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ นักศึกษา อาจารย์ บุคลากร โดยแผนรณรงค์คือการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างการรับรู้ของกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น อาทิ แข่งขันประกวดแต่งเพลงอิงจากกระแสเพลงแร็ป ภายใต้หัวข้อ “ลดความเร็ว ลดอุบัติเหตุ” จนถึงกิจกรรม “Art Paint Chiw อีเวนต์ร่วมใจปรับถนนเพื่อสร้างความปลอดภัย” โตโยต้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ไอเดียของน้องๆ ทั้ง 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบจะเป็นจุดเริ่มต้นของสังคม ที่ทำให้หลายภาคส่วนในสังคมได้ตระหนักถึงปัญหาของอุบัติเหตุ ใช้รถใช้ถนนได้อย่างปลอดภัย และขับรถในอัตราความเร็วที่กฎหมายกำหนด และสุดท้าย ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมคนขับรถดี ติดตามรายละเอียดกิจกรรม รวมถึงไอเดียโดยละเอียดของคนรุ่นใหม่ภายใต้โครงการ Toyota Campus Challenge 2018 ได้ที่ www.toyota.co.th/campuschallenge2018/about ร่วมติดตามและให้กำลังใจพวกเขาได้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างถนนสีขาวไปพร้อมๆ กัน!



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online