อริยะ พนมยงค์ ภารกิจพลิกช่อง 3 ให้กลับมาแกร่งในวันที่แบรนด์กำลังอ่อนแรง
หลายคนคิดว่า การที่ อริยะ พนมยงค์ ตัดสินใจไปรับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ (President) และกรรมการบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) คือการตัดสินใจที่ผิดพลาด ในวันที่ช่อง 3 ยังประสบปัญหาด้านผลกำไร
แต่ภายใต้การตัดสินใจนี้มีอะไรซ่อนอยู่ เพราะเชื่อว่า อริยะ พนมยงค์ ตัดสินใจไม่ผิดที่จะไปเติบโต
การที่อริยะตัดสินใจไปช่อง 3 Marketeer วิเคราะห์ว่ามาจากเหตุผลที่สำคัญ 3 ประการคือ
1. ปลดล็อกสัมปทานทีวีดิจิทัล
ที่ผ่านมากำไรของช่อง 3 ที่ลดลงไม่ได้มาจากการหดตัวของรายได้โฆษณา ที่หลายคนมองว่าธุรกิจนี้อยู่ยากเพราะโฆษณาไม่เข้า เพราะที่ผ่านมารายได้ของช่อง 3 ที่มาจากการโฆษณามีการลดลงจริง แต่ก็ลงเพียงไม่มากนัก อย่างเช่นที่ผ่านมาช่อง 3 มีรายได้จากการขายโฆษณาลดลง 10%
กำไรที่ลดลงของช่อง 3 อย่างต่อเนื่องทุกปี จึงไม่ได้มาจากประเด็นนี้เท่านั้น แต่ยังมาจากต้นทุนที่ต้องจ่ายให้กับค่าสัมปทานทีวีดิจิทัลอีกด้วย
ช่อง 3 มีการประมูลช่องทีวีดิจิทัลมาทั้งหมด 3 ช่อง รวมเป็นเม็ดเงินกว่า 6,471 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม แบ่งจ่ายเป็นงวดละปี
แต่ละปีช่อง 3 ต้องจ่ายค่าสัมปทานทีวีดิจิทัลเท่าไร
ราคาประมูล
3Family 666 ล้านบาท
3 SD 2,275 ล้านบาท
3 HD 3,530 ล้านบาท
รวม 6,471 ล้านบาท
ซึ่งในสัญญาครั้งแรก จะต้องจ่ายทั้งหมด 6 งวด 6 ปี สิ้นสุดปี 2562 แต่ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นกับทีวีดิจิทัล ทำให้ กสทช. ได้มีมาตรการเยียวยาออกมาหลายรอบ เพื่อที่จะลดค่างวดที่ช่องต้องจ่ายให้กับภาครัฐเพื่อแลกกับสัมปทานในการดำเนินธุรกิจให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลมีความคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้น
อย่างเช่นปีที่ผ่านมา ช่อง 3 จ่ายค่างวดสัมปทานทีวีดิจิทัล 544 ล้านบาท ส่วนปี 2560 จ่ายไปที่ 583.7 ล้านบาท
และล่าสุด คสช. ได้ออกคำสั่งตามมาตรา 44 เรื่องมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ที่มีแนวทางในการพักชำระค่าสัมปทานสำหรับช่องที่ยังไม่พร้อมจ่ายค่างวดสัมปทานที่เหลือออกไปอีก 3 ปี โดยจะชำระอีกครั้งในปี 2564
ช่อง 3 เป็นหนึ่งในช่องที่ขอรับมาตรการเยียวยานี้ ซึ่งเท่ากับว่า ปีนี้ช่อง 3 ยังไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานทีวีดิจิทัล
นอกจากนี้ ในมาตรการบรรเทาผลกระทบยังมีแนวคิดที่จะให้ช่องทีวีดิจิทัลสามารถขอคืนช่องที่ได้รับสัมปทานกลับมายังภาครัฐ เพื่อที่จะนำคลื่นความถี่ที่ได้รับกลับมาจากการคืนช่องของทีวีดิจิทัลไปจัดสรรให้กับธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อให้บริการ 5G ต่อไป และจะคิดค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานตามจริง หรือเป็นค่าใช้จ่ายเพียง 5 ปีเท่านั้น
โดยค่าใช้จ่ายที่คิดมาจากการนำอายุสัมปทานที่ได้รับการประกอบธุรกิจทีวีดิจิทัลของช่องนั้นๆ มาหารกับค่าสัมปทานที่ช่องประมูลได้มา
ซึ่งเท่ากับว่าผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่จะขอคืนช่อง ส่วนใหญ่จะได้รับเงินที่จ่ายเกินมาคืนกลับไป เพราะการจ่ายค่างวดของทีวีดิจิทัลในวันนี้มีมูลค่ารวมกันตั้งแต่งวดแรกจนถึงปัจจุบันมากกว่ามูลค่าสัมปทาน 5 ปี ที่ทีวีดิจิทัลได้ดำเนินการมา
มาตรการการคืนช่องนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปอย่างแน่ชัดจากคณะกรรมการผู้เกี่ยวข้องแต่เชื่อว่าถ้า กสทช. ได้มีมาตรการนี้ออกมาจริง ช่อง 3 อาจจะขอคืนช่องที่ทำเงินได้ไม่มากนัก เช่น ช่อง 3 Family ช่อง 3SD เพื่อลดต้นทุนในแง่ของค่าสัมปทาน การดำเนินงาน และอื่นๆ แถมยังได้รับเงินจากค่าสัมปทานคืนกลับเข้ากระเป๋าอีกด้วย
2. คอนเทนต์ช่อง 3 แข็งแกร่ง
ปีที่ผ่านมาช่อง 3 มีคอนเทนต์บุพเพสันนิวาส เป็นคอนเทนต์ที่สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับช่อง ส่วนต้นปีนี้ ทองเอกหมอยาท่าโฉลง ก็ทำยอดผู้ชมได้ไม่เลว และเชื่อว่าในปีนี้น่าจะมีคอนเทนต์อื่นๆ ที่เข้ามาสร้างอะไรใหม่ๆ ให้กับช่อง 3 เพิ่มขึ้น เพราะช่อง 3 เองก็พยายามหาคอนเทนต์เข้ามาป้อนตลาดอย่างต่อเนื่อง
สำหรับตลาดต่างประเทศ ช่อง 3 มีการจับมือกับ JKN ผู้นำการจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ละครจากสถานีช่อง 3 ไปยังตลาดต่างประเทศ
โดยในปีนี้ JKN มีแผนในการขยายคอนเทนต์ของช่อง 3 ไปยังประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไต้หวัน จากเดิมที่ได้จำหน่ายคอนเทนต์จากช่อง 3 ให้แก่สถานีโทรทัศน์ในประเทศฟิลิปปินส์
ซึ่ง JKN ไม่ได้ขายคอนเทนต์ให้กับช่อง 3 เท่านั้น แต่ยังทำมาร์เก็ตติ้งให้กับช่องด้วยการโปรโมตคอนเทนต์ช่องผ่านการโรดโชว์ที่นำนักแสดงนำเรื่องนั้นๆ ร่วมเดินทางไปยังประเทศต่างๆ เพื่อสร้างรายได้และฐานกลุ่มแฟนคลับในต่างประเทศได้อีกกำลังหนึ่ง
3. อย่างไรเสีย ทีวีก็ยังยึดครองส่วนแบ่งตลาดโฆษณาสูงสุด
แม้ใครจะมองว่าสื่อออนไลน์จะมาแทนที่สื่อทีวี แต่ในเวลานี้สื่อทีวีก็ครองส่วนแบ่งการตลาดโฆษณาสูงสุดประมาณ 50% จากตลาด 1 แสนล้านบาทต่อปี และน่าจะยังดำรงอยู่เช่นนี้ไปอีกระยะ และตราบใดที่คอนเทนต์ของช่อง 3 ยังแข็งแกร่ง (โดยเฉพาะด้านบันเทิง) ช่อง 3 ก็ยังคงรักษาสถานะของรายได้คงเดิมได้ ไม่มากไม่น้อยไปกว่าปัจจุบัน
หากมีการปลดล็อกจาก กสทช. อาจจะมีผู้คืนสัมปทานทีวีดิจิทัลแก่รัฐ นั่นจะทำให้ผู้แย่งชิงเค้กน้อยลง
ที่สำคัญ หากเม็ดเงินโฆษณาเคลื่อนย้ายไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล ช่อง 3 ก็น่าจะพร้อมเคลื่อนย้ายคอนเทนต์ไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น และนั่นคือภารกิจของอริยะ
อริยะ พนมยงค์
ไม่ได้มากอบกู้แต่มาขยายธุรกิจ
เมื่อดูจากอนาคตของช่อง 3 ที่จะเกิดขึ้น จะเห็นได้ว่า ช่อง 3 ไม่ได้ต้องการอริยะเข้ามากอบกู้สถานการณ์ แต่ต้องการที่จะนำความรู้และความเชี่ยวชาญของเขาในด้านแพลตฟอร์มดิจิทัลมาช่วยช่อง 3 ขยายธุรกิจไปยังดิจิทัลแพลตฟอร์มใหม่ๆ
Marketeer จึงเชื่อว่าหน้าที่หลักของอริยะคือการขยายธุรกิจช่อง 3 นำคอนเทนต์ต่อยอดไปยังแพลตฟอร์มใหม่ๆ นอกเหนือจาก Mello, Line TV และ Youtube ที่สามารถทำเงินกลับมาให้กับช่องและธุรกิจในเครือ BEC มากขึ้น
เพราะที่ผ่านมาช่อง 3 ไม่มีคนรู้เรื่องดิจิทัล อย่างจริงจัง และเป็นไปได้ว่าในอนาคตถ้าช่อง 3 ต่อยอดนำคอนเทนต์ไปยังแพลตฟอร์มดิจิทัลได้สำเร็จ เป็นไปได้ว่าบีอีซีอาจจะเพิ่มบทบาทให้กับตัวเองในฐานะ NetFlix ประเทศไทย ที่มีคอนเทนต์และแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ