สินค้า FMCG เปิดบทวิเคราะห์ผลกระทบจากเทรนด์ผู้บริโภค 2019 เมื่อลูกค้าเปลี่ยน แบรนด์ต้องเปลี่ยนก่อน

จากนี้ไปตลาด FMCG โลกจะเติบโตจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในโลก อย่างเช่นประเทศไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ก็ยังคงเป็นประเทศที่น่าดึงดูดสำหรับหลายๆ บริษัทที่ต้องการขยายธุรกิจและต้องการสร้างการเติบโตที่ชัดเจน

การเติบโตของภูมิภาคนี้มาจากปัจจัยหลายๆ ประการที่จะกลายเป็นเทรนด์ผู้บริโภค FMCG ในวันนี้และอนาคต

จากงานสัมมนา What’s Next in 2019 ที่นีลเส็น ประเทศไทย จัดขึ้น ได้ฉายภาพเล่าเรื่องราวของเทรนด์ผู้บริโภคที่มีผลต่อธุรกิจ FMCG อย่างน่าสนใจ

 

วอน ไรอัน กรรมการผู้จัดการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท นีลเส็น จำกัด ได้บอกกับเราว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือภูมิภาคอันทรงพลังที่จะดึงดูดเหล่าบรรดาธุรกิจ FMCG เป็นอย่างดี

สิ่งที่ทำให้วอน ไรอัน คิดเช่นนั้นมาจาก

ผู้บริโภคเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ในปี 2558 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประชากรทั้งสิ้น 633 ล้านคน และเชื่อว่าจะเพิ่ม เป็น 692 ล้านคนในปี 2568

และเป็นภูมิภาคที่คนหนุ่มสาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แม้ในบางประเทศจะเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยก็ตาม

จากการสำรวจของนีลเส็นพบว่า ในปัจจุบันภูมิภาคนี้มีแรงงานหนุ่มสาวที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปีในสัดส่วนมากถึง 60%

ส่วนอเมริกา มีสัดส่วนคนหนุ่มสาวเหลืออยู่เพียง 40% และญี่ปุ่น 46%

และการที่ประเทศมีแรงงานหนุ่มสาวจำนวนมากย่อมเกิดการจ้างงานและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่จะขับเคลื่อนภูมิภาคนี้ให้เป็นภูมิภาคอันทรงพลังได้ไม่ยาก

 

เชื่อมั่นว่ามีสถานะการเงินที่ดี

วอนได้บอกกับเราว่า นีลเส็นได้สำรวจความคิดเห็นของประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบผลสำรวจที่น่าสนใจคือ ผู้บริโภคในภูมิภาคนี้มีอัตราความเชื่อมั่นด้านสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมา (2014 เทียบกับ 2018) และเป็นอัตราความเชื่อมั่นที่สูงติดอันดับต้นๆ ของโลก โดยเวียดนามมีอัตราความเชื่อมั่นสูงสุด ที่ 86% ส่วนเกาหลีใต้มีอัตราความเชื่อมั่นต่ำสุดเพียง 18% เท่านั้น 5 ประเทศที่มีอัตราความเชื่อมั่นสูงสุดเวียดนามมีอัตราความเชื่อมั่น 86%  อินโดนีเซีย 75%  ฟิลิปปินส์ 71%  ไทย 57% และ สิงคโปร์ 49%

มีเงินในกระเป๋าพร้อมจ่าย

ผลการสำรวจยังพบว่า ผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกยังมีการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับรายได้ส่วนบุคคลระหว่างปี 2014-2018 เพิ่มขึ้นด้วย โดยประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น 14%  6 ประเทศที่มีการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น  อินโดนีเซีย +51% เวียดนาม +29%  มาเลเซีย +27%  สิงคโปร์ +23%  ฟิลิปปินส์ +22%  และ ประเทศไทย +14%  การที่ผู้บริโภคใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการใช้จ่ายในสินค้า FMCG เทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมา  ฟิลิปปินส์ถือเป็นประเทศที่มีการใช้จ่ายในสินค้า FMCG สูงที่สุด  6 ประเทศที่มีการใช้จ่ายสินค้า FMCG เพิ่มขึ้น ฟิลิปปินส์ +51%  อินโดนีเซีย +46%  สิงคโปร์ +39%  มาเลเซีย +36%  เวียดนาม +33% และ ประเทศไทย +24% 

สถานะและการใช้จ่ายทางการเงินที่พัฒนาขึ้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพรวมทั้งหมดเท่านั้น ถ้ามองลึกลงไป ผู้บริโภคในหลายๆ ประเทศมองโลกในแง่ดีว่า พวกเขามีเงินมากพอที่จะใช้จ่ายได้อย่างอิสระ โดยเวียดนามมีเปอร์เซ็นต์มากถึง 35% และไทย 23% ซึ่งถือว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่าสัดส่วนรายได้ของคนชั้นกลาง

ทำให้พวกเขากล้าที่จะใช้จ่ายในสิ่งต่างๆ เช่น การใช้จ่ายด้านศึกษา การใช้จ่ายด้านไลฟ์สไตล์ การออกไปรับประทานข้าวนอกบ้าน ท่องเที่ยว และการซื้อสินค้าเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าบ้าน และเป็นโอกาสอันดีสำหรับนักการตลาดที่จะสร้างคุณค่าให้กับสินค้าเพื่อเสนอขายไปยังผู้บริโภคเหล่านั้น

 

เมื่อรู้จักโอกาสทางการตลาดของผู้บริโภค FMCG ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว เรามาดูกันว่าเทรนด์สำคัญของผู้บริโภค FMCG ไทยคืออะไร

 

เกิดอะไรขึ้นในไทยบ้าง เพื่อการเติบโตในปี 2019

ตลาด FMCG ในประเทศไทยสองปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตติดลบ จากเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ และการได้รับผลกระทบจากกฎหมายและอัตราภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เพราะตลาดที่ใหญ่ที่สุดใน FMCG ไทย คือตลาดเบเวอเรจที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อน

ส่วนในปีนี้สมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) เชื่อว่าตลาด FMCG จะกลับมาเติบโต 4-5% ซึ่งการเติบโตนี้มาจาก Ubernization ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

การเติบโตของสังคมเมืองอย่างรวดเร็ว เกิดปัญหาด้านการจราจร ทำให้เกิดธุรกิจอย่างฟู้ดแพนด้า แกร๊บฟู้ด และจะเกิดเพิ่มมากขึ้น และเข้ามาดิสรัปท์ธุรกิจบางธุรกิจไป

 

การขยายตัวในตลาดต่างจังหวัด

ตลาดต่างจังหวัดในจังหวัดรองได้กลายเป็นตลาดที่มีความสำคัญ จากการเติบโตด้านประชากรที่เข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอีกล้านคนในปี 2025

แต่เป็นเรื่องที่ท้าทายนักการตลาด คือประชากรจะมีความแตกต่างจากกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่

การวางแผนการตลาดต้องมองที่ความแตกต่างของคนในพื้นที่

เช่น กลุ่มจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศใน AEC โอกาสทางการตลาดไม่ได้มีแค่โลคอลดีมานด์ แต่ยังรวมถึงผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้านด้วย

 

พัทยา เป็นเมืองท่องเที่ยว ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ

สัตหีบ เป็นเมืองแห่งการศึกษาและการรักษา ที่มีทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล และคอมมูนิตี้ ในนั้น

ฉะเชิงเทรา เป็นเมืองของคนทำงานในโรงงาน เป็นต้น

ซึ่งนักการตลาดจะต้องทำการบ้านในแต่ละพื้นที่เพื่อหาโอกาสในการเข้าไปสร้างความสำเร็จในตลาดแต่ละพื้นที่

 

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มีโครงการบัตรสวัสดิการแห่งร้ฐ ได้ผลักดันให้ธุรกิจ FMCG โดยเฉพาะในต่างจังหวัดและร้านโชห่วยเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการที่ผู้บริโภคนำเงินในบัตรมาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น และส่งผลมายังตลาด FMCG ในปีนี้ด้วย

 

ครอบครัวขนาดเล็กลง

โครงสร้างประชากรเปลี่ยนไปอย่างถาวร จากครอบครัวขนาดใหญ่ที่มีผู้อยู่อาศัยเฉลี่ยทั่วประเทศมากถึง 6 คนต่อหลังคาเรือน เป็น 3 ต่อหลังคาเรือน

และคนกรุงเทพมีสัดส่วนน้อยกว่านั้น จากเทรนด์ผู้บริโภคที่นิยมอาศัยอยู่คนเดียวในคอนโด หรือคู่สามีภรรยา ที่ไม่ต้องการมีลูก

เทรนด์นี้ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับธุรกิจคอนวีเนียนสโตร์ ที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนปัจจุบันมีมากถึง 15,000 สาขา และเกิดพฤติกรรมการจับจ่ายในคอนวีเนียนสโตร์เปลี่ยนไป จากในอดีตที่ผู้บริโภคเข้ามาซื้อของในร้านสะดวกซื้อเพราะของขาด เปลี่ยนเป็นการซื้อสินค้า FMCG ในร้านสะดวกซื้อเพราะความสะดวกไม่ต้องเดินทางไปซื้อในห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ต

และร้านสะดวกซื้อยังมีการปรับรูปแบบธุรกิจด้วยการนำอาหารปรุงสำเร็จมาจำหน่ายตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มีการอาศัยในรูปแบบครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น

 

อีคอมเมิร์ซมีการเติบโตสูง แต่จะใหญ่ได้แค่ไหน

อีคอมเมิร์ซไทยยังมีสัดส่วนไม่ถึง 1% ในตลาดค้าปลีก แต่สิ่งที่ผู้ผลิตสินค้า FMCG ต้องทำ คือการปรับตัวสู่ omni channel ผู้บริโภคอยู่ไหนก็ไปที่นั่น เพื่อที่จะให้ผู้บริโภคค้นหาและซื้อสินค้าได้ง่ายที่สุด

 

สินค้า FMCG

สินค้าเฉพาะบุคคลและพรีเมียมโปรดักต์มา

สองปีที่ผ่านมาตลาด FMCG โดยรวมตก แต่ก็ยังมีสินค้าในบางกลุ่มที่มีการเติบโต ได้แก่ Personal care, House Hold และ Impulse ซึ่งเป็นการเติบโตจากการนำอินโนเวชั่นเข้าไปในโปรดักต์เพื่อให้โปรดักต์มีความเป็นพรีเมียมขึ้น ซึ่งอินโนเวชั่นนี้มีตั้งแต่การคิดสินค้าใหม่ และการปรับเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งใหม่

เช่น การนำน้ำยาปรับผ้านุ่มผสมในผงซักฟอก การปรับเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งใหม่ให้มีความเป็นพรีเมียม หรือเปลี่ยนจากฝาจีบเป็นฝาเกลียว เป็นต้น

นอกจากนี้ เทรนด์ที่น่าสนใจอีกเทรนด์หนึ่ง คือการผลิตสินค้าเฉพาะบุคคล เช่น ยาสีฟันสำหรับคู่รัก ยาสีฟันสำหรับผู้หญิง เป็นต้น

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน