SEAC รู้จักธุรกิจใหม่ที่จะมาเป็นขาที่สามของ เอพี (ไทยแลนด์)
SEAC (เอสอีเอซี) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน คือ 1 ใน 3 ของธุรกิจใหม่ที่นอกเหนือจากการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทเอพี (ไทยแลนด์) ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม 2562 นี้
อนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) ขอทำความเข้าใจก่อนว่า
“การที่เราขยายไปธุรกิจอื่น ไม่ใช่เพราะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ถึงทางตันนะครับ ธุรกิจนี้ยังไปได้อีกไกล รถไฟความเร็วสูงที่จะเปิดเส้นทางไปต่างจังหวัดมีเยอะมาก รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็มีอีกหลายสาย ในอีก 4-5 ปีนี้ผมค่อนข้างมั่นใจว่าอสังหาฯ จะไม่มีทางตัน ที่สำคัญจากนี้ไปอีก 4-5 ปี เราจะมีคนวัยทำงานที่มีความพร้อมในการซื้อที่อยู่อาศัยมากที่สุดเช่นกัน”
แล้วทำไม ต้องเป็นธุรกิจการศึกษา
เขาอธิบายว่าเพราะเป็น pain point ที่เกิดขึ้นจริงกับปัญหาเรื่องคนในองค์กร หลายปีมาแล้วที่ต้องการเด็กจบใหม่ที่ “ใช่” สำหรับการทำงานทันที แต่ปรากฏว่า “ไม่ใช่” หรือพูดชัดๆ คือใช้ไม่ได้ ต้องใช้เวลาในการเทรนนิ่งพักใหญ่ถึงจะทำงานได้อย่างที่ต้องการ
ในขณะเดียวกันเขายอมรับว่ากระแส Digital Disruption ทำให้ความรู้ ความสามารถของคนในปัจจุบันล้าสมัยลง จำเป็นต้องรีสกิล (Re-skill) เพื่อให้ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ดังนั้นกว่า 5 ปี ที่ผ่านมาอนุพงษ์ได้ให้ความสำคัญอย่างมากในการสร้างอคาเดมีขึ้นมาในองค์กร เพื่อพัฒนาทั้งคนเก่าและคนใหม่ให้ได้มาตรฐานอย่างที่เอพีต้องการ
จากปัญหาของ “องค์กร” ถูกมองเป็นภาพที่ใหญ่ขึ้นกลายเป็นปัญหาของ “สังคม” ของ “ประเทศ” ไทยที่ควรได้รับการแก้ไขด้วย
“เราหาคนทำงานที่ใช่ไม่ได้ แต่เราจะรับรู้อยู่ว่าคนตกงานมีจำนวนมาก ในขณะเดียวกันคนในต่างจังหวัดเอง พวกธุรกิจเอสเอ็มอีเล็กๆ เขาก็เจอกับปัญหาเหล่านี้ แต่เขาจะไปเรียนที่ไหน จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไร เขาไม่รู้ หรือรู้ก็เป็นต้นทุนที่แพง ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะลงทุนเหมือนกัน”
ทั้งหมดคือจุดเริ่มต้นในการลงทุนด้วยเงิน 300 ล้านบาทใน SEAC เมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา (ปัจจุบันลงทุนไปแล้วเกือบ 600 ล้านบาท) เพื่อดิสรัปวิธีการเรียนรู้ของคนในองค์กรและคนในสังคมด้วยกระบวนการใหม่ๆ พัฒนาความพร้อมและความสามารถของคนให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในวันนี้และอนาคต
ทำไมต้องเป็น SEAC เพราะในช่วงเวลาหลายปีที่เอพีทำอคาเดมี ก็ได้ให้ อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC หรือ บริษัท เอพีเอ็ม กรุ๊ป จำกัด (APMGroup) ในตอนนั้นมาช่วยจัดการเรื่องหลักสูตรให้
“ผมเห็น passion ของผู้หญิงคนนี้เกี่ยวกับเรื่องการศึกษาที่เขาคลุกคลีมานานถึง 27 ปี เชื่อว่าเขามีความเข้าใจ เห็นช่องว่างและปัญหาที่เกิดขึ้น สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติที่ทำให้คนในประเทศไทยเกิดการรีสกิลได้จริงๆ”
การเปลี่ยนแปลงในโลกของการเรียนรู้และการศึกษาคือโจทย์ที่ถูกวางไว้ โดยมีเป้าหมายไปยังผู้คนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเองที่ไม่ใช่เฉพาะคนในเมืองเท่านั้น แต่ต้องขยายไปยังคนในต่างจังหวัด รวมทั้งต่างประเทศได้ด้วย
SEAC เริ่มต้นด้วยการสร้างแพลตฟอร์มการเรียนที่แตกต่าง
ไม่ใช่การเปิดมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ แต่เป็นการทำธุรกิจในรูปแบบแพลตฟอร์มเช่นเดียวกับธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่สามารถขยายได้เร็วและอาศัยคนเข้ามาใช้เป็นจำนวนมาก เพื่อให้ราคาที่เฉลี่ยต่อหลักสูตรไม่สูงและทุกคนเข้าถึงได้
4 Line Learning คือรูปแบบการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบที่คิดค้นและพัฒนาขึ้นโดย SEAC ซึ่งสามารถรองรับรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคลประกอบด้วย
1. วิธีการเรียนรู้แบบ Online ที่เป็นหลักสูตรจากต่างประเทศทั้งหมด แปลเป็นภาษาไทย เพื่อรีสกิลการทำงานในยุค 4.0 เน้นการเรียนรู้ผ่านหลักสูตรด้วยวิดีโอคลิป หรือ Visual ต่างๆ ที่ตอนนี้โหลดไว้ประมาณ 100 กว่าหลักสูตรแต่ซื้อลิขสิทธิ์มาแล้วประมาณ 800 กว่าหลักสูตร
2. วิธีการเรียนรู้แบบ Inline ที่เน้นการเข้าคลาสเพื่ออบรมในหลักสูตรต่างๆ โดยคำนึงถึงระยะเวลาการเรียนที่เหมาะสม แต่ละวันมี 9 วิชาที่ใครจะเลือกเรียนเวลาไหนก็ได้ เรียนกี่วิชาก็ได้ ซ้ำกี่รอบก็ได้ ภายในเวลา 1 ปี
“มีหลักสูตรออนไลน์บางหลักสูตร ที่เอามาสอนแบบ Inline ด้วย เพื่อให้มีการซักถามทำความเข้าใจโดยตรงกับผู้สอนได้ซ้ำอีกทีด้วย”
3. วิธีการเรียนรู้แบบ Beeline ที่เน้นการเรียนรู้ในรูปแบบแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อมูล หรือเรื่องราวจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะที่สามารถไลฟ์สดมาให้ฟังโดยไม่ใช่คนพูดในเมืองไทยเท่านั้นใครเก่งภาษาอังกฤษ ฟังตอนนั้น ใครไม่เก่งรอฟังย้อนหลังพร้อมซับไตเติ้ลให้ซึ่งเป็นรูปแบบที่เด็กรุ่นใหม่ 18-23 ปี ชอบเรียน
4.วิธีการเรียนรู้แบบ Frontline ที่เป็นคลังการเรียนรู้ที่สามารถให้ผู้เข้าเรียนเข้าถึงข้อมูลการเรียนรู้ และดาวน์โหลดออกมาเป็นคัมภีร์พิชิตความสำเร็จ
สำหรับหลักสูตรที่น่าสนใจ เช่น หลักสูตร Design Thinking ต้นฉบับจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด หลักสูตร Outward Mindset จาก The Arbinger Institute หลักสูตร Self-Leadership จาก The Ken Blanchard Companies รวมถึงหลักสูตรเพื่อสร้างทักษะใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ยุค 4.0 อีกมากมาย
“ทั้งหมดจะเรียนกี่ครั้งก็ได้ เรียนแบบไหนก็ได้ ไม่เข้าใจเรียนซ้ำได้ภายใน 1 ปี ราคาประมาณ 10,000 -15,000 บาท ต่อคน ซึ่งเป็นราคาที่ผมมั่นใจว่าทุกคนจับต้องได้ เพราะอย่างหลักสูตร Design Thinking ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดหลักสูตรละเป็นแสนบาทนะครับ ผมรู้ดีเพราะทั้งไปเรียนเองและส่งพนักงานไปเรียน”
ที่สำคัญ ในบางหลักสูตร ผู้เรียนยังจะได้รับใบประกาศนียบัตรจบหลักสูตรจากสถาบันผู้เป็นเจ้าของ เช่นสมมุติ เรียนหลักสูตร Design Thinking จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เรียนจบก็จะได้ใบประกาศฯ จากมหาวิทยาลัยซึ่งสามารถนำไปใช้ต่อยอดเส้นทางการเรียนหรือทำงานในอนาคต
ดังนั้น เขาถึงมั่นใจว่าทันทีที่หลักสูตรนี้เปิดตัวอย่างจริงจังจนถึงสิ้นปี 2562 จะมีคนมาเรียนไม่ต่ำกว่า 80,000 คน และคาดว่ารายได้จะทะลุ 3 พันล้านบาทแน่นอน
กลุ่มลูกค้าที่จะทำให้เป้าหมายเป็นจริง
ในระยะแรก SEACต้องการจะโฟกัสไปยัง 1. ลูกค้าองค์กร ที่จะส่งพนักงานมาเรียน โดยตอนนี้มีติดต่อเข้ามาแล้วประมาณ 30 องค์กร
2. กลุ่มเอสเอ็มอี 3. บุคคลทั่วไป เช่น นักเรียน สตาร์ทอัพ ฟรีแลนซ์ และพนักงานขายตรงที่มาลงเรียนเอง
โดยแบ่งสัดส่วนเป็นพนักงานองค์กรประมาณ 40,000-50,000 คน เอสเอ็มอี 20,000 คน ที่เหลือคือคนทั่วๆ ไปอีก 20,000 คน
หลังจากนั้นจะมีแผนพัฒนาขยายธุรกิจไปในระดับอาเซียนด้วย
“เด็กยุคนี้เรียนจบปริญญาตรีแล้วส่วนใหญ่ไม่เรียนต่อ เปิดออนไลน์ขายของหรือหันไปทำธุรกิจเอง โดยที่เขาอาจจะไม่มีความรู้พอ หลายปีผ่านไป หลายคนอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่เขาได้คือบทเรียนของความผิดพลาด และขาดทุน การได้เข้ามา SEAC ผมมั่นใจว่าจะทำให้การทำธุรกิจของเขามั่นคงขึ้น พลาดน้อยลง ได้ทั้งเงินได้ทั้งประสบการณ์ และที่สำคัญยังได้ใบประกาศนียบัตรเก็บไว้การันตีเผื่อต้องไปเรียนต่อหรือสมัครงานที่ไหนด้วย”
ย้อนกลับมายังองค์กรของเอพี ที่ได้ให้ความสำคัญเรื่ององค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อการรีสกิลพนักงานอย่างต่อเนื่องมีอัตราการ turn over มากน้อยแค่ไหน
“ผมว่าโลกวันนี้ไม่ได้อยู่ที่ทำอย่างไรให้พนักงานอยู่กับเราโดยไม่มีการ turn over เพราะแอดติจูดของเด็กจบใหม่ในวันนี้ไม่เคยคิดว่าอยู่ที่ไหนแล้วจะอยู่ไปตลอด ลูกสาวผมเพื่อนๆ ยังล้อว่าทำงานมา 3 ปีแล้ว ทำไมยังอยู่ที่เดิมเหมือนเป็นความผิด ดังนั้น เราต้องสู้กับการ turn over ด้วยการพัฒนาคนเพื่อทำให้งานของเราเดินหน้าโดยไม่สะดุดดีกว่า”
ในเมื่อ Netflix สามารถเปลี่ยนโลกของการดูหนัง อเมซอนสามารถสร้างโลกใหม่ของการซื้อขาย เฟซบุ๊กสามารถเปลี่ยนโลกของคอมมูนิตี้
ดังนั้น ไม่แปลกที่อนุพงษ์จะคาดหวังว่า SEACจะเปลี่ยนโลกของการศึกษาได้เหมือนกัน โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับกรอบความรู้เดิมๆ จากรั้วมหาวิทยาลัย หรือยึดติดกับใบปริญญาหรือความสำเร็จเก่าๆ จากการทำงานอีกต่อไป
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



