สงครามการค้า ใครได้ ใครเสีย ? วิเคราะห์ Tech War ศึกนี้มีแต่ “ผู้ชนะจอมปลอม”

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ประกาศเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน จาก 10% เป็น 25% อย่างเฉียบพลัน

โดยแบ่งเป็นสินค้า 3 กลุ่ม คิดเป็นมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

กลุ่มสินค้าที่น่าจับตามองในเกมนี้ ก็คือ 1. สินค้าทุน เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ในการผลิต 2. สินค้าขั้นกลาง คือ กลุ่มชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนที่นำไปใช้ผลิตสินค้า IT

จนมีรายงานระบุว่า หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศใช้นโยบายนี้ ในวันถัดมาสินค้าจีนที่ส่งออกมายังท่าเรือ และสนามบินไปยังประเทศสหรัฐฯ ก็โดนอัตราภาษีนำเข้าใหม่ 25% โดยสินค้าที่กระทบมากที่สุดก็คือ

อินเทอร์เน็ตโมเด็ม แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ส่งข้อมูลต่างๆ มูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยแผงวงจรพิมพ์ หรือ พีซีบี มูลค่าอีก 12,000 ล้านดอลลาร์

สงครามการค้า และการตอบโต้จากมังกร

เป็นธรรมดาเมื่อถูก “โจมตี” ฟากฝั่งจีนเองก็ไม่นิ่งเฉย งัดมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ อย่างทันควัน ด้วยการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ จำนวน 5,142 รายการ มูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์

โดยเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 มิ.ย. 2019 และสินค้าส่วนใหญ่ที่ปรับภาษีเพิ่มขึ้นก็ไม่ต่างจากสหรัฐฯ ก็คือสินค้าเครื่องจักร, อุปกรณ์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนผลิตสินค้า IT

จะเห็นว่าทั้งสองฝ่ายเลือกจะโจมตีไปยังกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเป็นหลัก จนกลายเป็น Tech War สมบูรณ์แบบ

เพราะ 2 มหาอำนาจของโลกต่างรู้ว่า ณ วันนี้ใครที่กุมอำนาจในสินค้าที่เกี่ยวกับ IT และเทคโนโลยีจะได้เปรียบในสนามการค้า

อีกทั้งสหรัฐฯ ก็มองว่าจีนเองกำลังค่อยๆ ขยับมาท้าทายการเป็นเบอร์หนึ่งในโลกธุรกิจสินค้า IT และเทคโนโลยี   

ทั้งการเติบโตแบบก้าวกระโดดของ Huawei ในโลกของธุรกิจสื่อสารและ Alibaba ในโลกของธุรกิจ e- Commerce ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้แก่ยักษ์ใหญ่ e-Commerce ในสหรัฐฯ อย่าง Amazon

หากไม่สกัดแข้งสกัดขาในตอนนี้ ในอนาคต “จีน“ อาจจะกลายเป็นมหาอำนาจในโลกสินค้าเทคโนโลยีแทนที่สหรัฐฯ 

แล้วระหว่างสหรัฐฯ กับ จีน ใครกันจะ “ชนะ” ในเกมนี้?

เคยได้ยินไหมว่าไม่มี สนามรบ ไหนที่จะมีผู้ชนะที่แท้จริง 

ทางฝั่งสหรัฐฯ เอง ประชาชนชาวอเมริกันก็ต้องเดือดร้อน เพราะในอนาคตอันใกล้จะต้องซื้อสินค้าราคาแพงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้า IT ที่ต้องพึ่งพาชิ้นส่วนการผลิตจากประเทศจีน

และการจะหาตลาดอื่นเข้ามาทดแทนการนำเข้าจากประเทศจีนได้ทั้งหมดในเวลาอันสั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

ในขณะที่จีนเอง ผลกระทบก็ไม่ได้แตกต่างจากสหรัฐฯ คือประชาชนอาจจะต้องซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้น รวมไปถึงการสูญเสียรายได้จากการส่งออกไปอย่างมหาศาล

จนมีการประเมินว่าในปี 2019 GDP ของประเทศจีนจะน้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้จากที่คาดว่าจะเติบโต 6.3% เปลี่ยนมาที่ 5.8% 

ทั้งผู้นำจีนและสหรัฐฯ อาจมีสารพัดเหตุผลในเกม Tech War และต่างฝ่ายต่างต้องการเอาชนะ

แต่…ชัยชนะบนความเจ็บปวดของประชาชนและประเทศต้องสูญเสียรายได้มหาศาล

มันคือชัยชนะ “จอมปลอม” 

————————————————————————————————————————————

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย-SCBS

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน