ตลาดความงามในกลุ่ม CLMV ตลาดที่ยังรอเอสเอ็มอีไทยมาคว้าโอกาส (วิเคราะห์)

ตลาดความงามในประเทศไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในปี 2560 ไทยมีมูลค่า 2.51 แสนล้านบาท มูลค่าการส่งออก 8.3 ล้านบาท คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง 7.6% โดยมีอาเซียน ญี่ปุ่น จีน และออสเตรเลีย เป็นตลาดสำคัญ

ธุรกิจความงามของไทยในตลาดอาเซียนมีมูลค่า 15 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวี (CLMV) กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ที่ขณะนี้มีสินค้าความงามของไทยวางขายอยู่ในตลาดกว่า 40% จากความร่วมมือเชิงรุกของภาครัฐและเอกชนที่ต้องการผลักดันให้ประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวีเป็นศูนย์กลางห่วงโซ่คุณค่า (valuechain) ยุคใหม่แห่งเอเชียและโลก ส่งผลให้ตลาดกลุ่มซีแอลเอ็มวีมีความน่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย

ประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวีมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ GDP per capita เติบโตโดยเฉลี่ย 5.6% ต่อปี ในช่วงปี 2010-2017 ประชากรมีรายได้และกำลังซื้อสูงขึ้น ชนชั้นกลางมีสัดส่วนมากขึ้น การขยายตัวของเมืองสอดคล้องกับสัดส่วนของประชากรที่อาศัยในเมืองเพิ่มขึ้น และโครงสร้างของประชากรเด็กและวัยทำงาน ล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจความงาม

 

ตลาดความงามในกลุ่ม CLMV ออร์แกนิกมาแรง

ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและออร์แกนิกเป็นเทรนด์ที่มาแรงทั่วโลก รวมทั้งภูมิภาคอาเซียนและกลุ่มซีแอลเอ็มวี โดยเฉพาะเวียดนามมีความต้องการสินค้าด้านความงามเพิ่มขึ้น 300% ภายในระยะเวลา 5 ปี

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รายงานว่า

ในปี 2554 เวียดนามนำเข้าเครื่องสำอางมูลค่า 515 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในปี 2559 มูลค่าเครื่องสำอางนำเข้า 2.06 ล้าน เหรียญสหรัฐ ข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์

ปี 2560 ผลิตภัณฑ์ความงามสมุนไพรขึ้นทะเบียนถูกต้องในเวียดนาม มีมูลค่าการเติบโต 11.5 % คิดเป็นมูลค่า 1.55 พันล้านเหรียญสหรัฐ  และคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 7% ต่อปี

ในช่วงปี 2560–2065 และมีมูลค่า 2.18 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2065 กรมศุลกากรเวียดนามรายงานยอดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากไทยในปี 2560 มีมูลค่า 82.8 ล้านเหรียญสหรัฐ และผลิตภัณฑ์ความงามจากธรรมชาติที่นำเข้าจากไทยกำลังเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่ผู้บริโภคเวียดนามโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลาง

เศรษฐกิจเมียนมาขยายตัวขึ้นจากการผ่อนปรนการคว่ำบาตร คาดการณ์ว่าจำนวนชนชั้นกลางจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว ภายในปี 2563 กลุ่มข้าราชการจำนวน 1.5 ล้านคนจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการที่รัฐบาลเพิ่มเงินเดือน 50% โครงสร้างประชากรเมียนมามากกว่าครึ่งมีอายุน้อยกว่า 30 ปี ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยบวกต่อการเติบโตของธุรกิจเครื่องสำอาง ข้อมูลจากสมาคมเครื่องสำอางเมียนมาเปิดเผยรายงานว่า ในเมียนมานำเข้าเครื่องสำอางจากต่างประเทศ 90% อีกทั้งพฤติกรรมการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามเปลี่ยนแปลงไปมากใน 2-3 ปีหลังจากเดิมผู้บริโภคเป็นกลุ่มชนชั้นกลาง วัยกลางคน แต่ปัจจุบันกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มสูงอายุก็นิยมใช้สินค้าความงามเพื่อเสริมความงามและเพื่อสุขภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน

แม้ตลาดกัมพูชายังมีกำลังซื้อไม่สูงนัก แต่ถือว่าน่าจับตาเนื่องจากการไหลเข้าของแหล่งเงินทุนต่างชาติที่เพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากนี้สินค้าอุปโภคบริโภคมีไม่มากนัก ส่วนมากเข้ามาจากไทย จีน และเวียดนาม ผลิตภัณฑ์ความงามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสกินแคร์ เครื่องสำอาง หรือครีมกันแดด ล้วนนำเข้าจากประเทศไทย โดยยอดการนำเข้าในปี 2557 อยู่ที่ประมาณ 404 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2556 เป็น 4.06 ล้านเหรียญสหรัฐ

พีรยาพัณณ์ พงษ์สนาม ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการอาวุโส บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า “ตลาดซีแอลเอ็มวีขยายตัวอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และมีศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ โครงสร้างประชากร และความร่วมมือระหว่างรัฐ นับเป็นสัญญาณที่ดีในการที่จะทำให้กลุ่มซีแอลเอ็มวีเป็นศูนย์กลางห่วงโซ่คุณค่ายุคใหม่แห่งเอเชียและโลกได้ไม่ยาก พฤติกรรมและลักษณะทางกายภาพของลูกค้าที่มีความคล้ายคลึงกับคนไทย รวมถึงความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการขนส่งต่ำ

นอกจากนี้ กลุ่มลูกค้าซีแอลเอ็มวียังให้ความเชื่อถือในแบรนด์สินค้าไทยว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ประกอบกับไทยมีสมุนไพรที่มีความเฉพาะตัว เทคโนโลยีการผลิตและการบรรจุหีบห่อที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้สินค้าไทยได้รับความนิยมจากลูกค้า แบรนด์สินค้าไทยมีโอกาสสร้างการรับรู้ให้แพร่หลายมากขึ้นจากการท่องเที่ยวในกลุ่มซีแอลเอ็มวีเดินทางมาเที่ยวที่ประเทศไทย และได้ทดลองใช้สินค้า

โดยใน 5 ปีที่ผ่านมากลุ่มนักท่องเที่ยวซีแอลเอ็มวีมีจำนวนเพิ่มขึ้น 11.2% ต่อปีและได้ช้อปปิ้งสินค้าไทยโดยเฉพาะเครื่องสำอางและเครื่องดื่ม 33% ของการใช้จ่ายทั้งหมดระหว่างการท่องเที่ยว (ศูนย์ข้อมูลกสิกรไทย) ขณะที่เศรษฐกิจโลกในยุคสงครามการค้ามีความผันผวนทำให้ไทยได้รับผลกระทบในฐานะที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่คุณค่า ผู้ประกอบการจึงควรเริ่มมองหาโอกาสธุรกิจในตลาดอาเซียนและกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีที่กำลังเติบโตด้วยเช่นกัน

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online