ธุรกิจสะดวกซัก วิเคราะห์ตลาดแฟรนส์ไชส์มาแรงแห่งปี กรณีศีกษา ลอนดรี้บาร์

หากถามว่าตอนนี้เทรนด์ธุรกิจแฟรนไชส์ไหนมาแรง

คำตอบหนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น ธุรกิจสะดวกซัก” หรือร้านสะดวกซักแบบครบวงจร 24 ชั่วโมง ที่มีทั้งแบรนด์สัญชาติไทย รวมถึงแบรนด์ต่างชาติต่างเข้ามาชิงเค้กในธุรกิจนี้

แม้จะไม่ใช่ธุรกิจใหม่ เพราะธุรกิจสะดวกซัก หรือที่เดิมเราคุ้นกันในชื่อ ‘ร้านซักผ้าหยอดเหรียญ’ มีในไทยมานานแล้ว และบูมมากในช่วงไม่กี่ปีนี้ ที่ทำเลส่วนใหญ่ตั้งอยู่ข้างล่างของหอพัก ตามห้องแถว เราก็จะเห็นเครื่องซักผ้าแบบใช้ในบ้านตั้งเรียงรายรอให้เราใช้เหรียญสิบสัก 3-4 เหรียญไปหยอดใช้บริการ

แต่เพราะธุรกิจสะดวกซักของไทยนั้นยังเป็น ’ตลาดบลูโอเชียน’ ที่ยังสามารถให้ผู้ประกอบการแทรกตัวเข้ามาชิงเค้กส่วนแบ่งได้

ลอนดรี้บาร์” แบรนด์สัญชาติมาเลเซียเป็นรายล่าสุดที่ก้าวเข้าสู่ตลาดธุรกิจสะดวกซักในประเทศไทย ที่ตั้งเป้าภายในสิ้นปีนี้จะเปิดสาขาได้ 30 สาขา และภายใน 3 ปี จะมีสาขา 300 สาขาทั่วประเทศ

บริษัทแม่มาเลเซียลงทุนแบบ JV ในสัดส่วน 40% และคนไทย 60% ที่มีพิมลวรรณ ชีวเกรียงไกร และชานนท โตวิกกัย เป็นแม่ทัพบริหารสิทธิ์ระดับมาสเตอร์แฟรนไชส์ในไทย รวมถึงได้สิทธิ์ในกลุ่มประเทศ CLMV ด้วย

พิมลวรรณ ชีวเกรียงไกร ผู้บริหารฝ่ายการตลาดบริษัท ลอนดรี้บาร์ ไทย จำกัด กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องซักผ้าในเชียงใหม่ รวมถึงได้สำรวจตลาดร้านสะดวกซักทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 4 ปี ทำให้เข้าใจปัญหาทั้งของลูกค้าผู้เข้ามาใช้บริการและปัญหาของผู้ลงทุนเปิดร้าน

และมองว่าช่องว่างในตลาดธุรกิจสะดวกซักในไทยที่ยังเป็นตลาดบลูโอเชียนที่สามารถเติบโตได้อีก เพราะหากนับจำนวนร้านสะดวกซักในไทยในปัจจุบันมีราว 300-400 ร้าน กับจำนวนประชากรในไทยที่มีจำนวนกว่า 60 ล้านคน ก็ยังถือเป็นสัดส่วนที่น้อยอยู่

และหากเทียบกับในมาเลเซียธุรกิจสะดวกซักเป็นธุรกิจยอดนิยมที่มีกว่า 10 แบรนด์ รวมกว่า 3,000 ร้าน กับจำนวนประชากรกว่า 30 ล้านคน ซึ่งน้อยกว่าไทยครึ่งหนึ่งยังเติบโต และมีมูลค่าตลาดกว่าหมื่นล้านบาท

นี่จึงเป็นที่มาที่ “ลอนดรี้บาร์” เข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทย

แม้ลอนดรี้บาร์จะไม่ใช่แบรนด์ธุรกิจสะดวกซักเจ้าแรกในมาเลเซีย แต่ปัจจุบันเป็นแบรนด์อันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมากกว่า 520 สาขาในมาเลเซีย บรูไน ตุรกี และไทย

ย้อนดูก่อนหน้านี้มีแบรนด์สะดวกซักเจ้าไหนเปิดตลาดในไทยบ้าง

Otteri wash & dry: แบรนด์สัญชาติไทยภายใต้บริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่มีรูปแบบการตกแต่งร้านสไตล์ญี่ปุ่น ปัจจุบันเป็นผู้นำตลาดธุรกิจสะดวกซักครองส่วนแบ่ง 50% ปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 166 สาขาทั่วประเทศ

คลีนโปร เอ๊กซ์เพลส (Cleanpro Express): แบรนด์สัญชาติมาเลเซียที่จับมือกับแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติเกาหลีใต้อย่าง LG รุกตลาดร้านสะดวกซักในไทยและต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีกว่า 50 สาขา

Maru Laundry หรือมารุ สะดวกซัก: แบรนด์ที่จับมือกับบริษัทที่มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญมากว่า 40 ปีในไต้หวัน ตั้งเป็นบริษัท กันยงอัพยัง จำกัด ที่วางเป้าเป็นร้านสะดวกซักระดับพรีเมียม ที่ปีนี้ตั้งเป้าเปิดร้านแฟรนไชส์ 5-10 สาขา

และจากที่ยกตัวอย่างมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมีแบรนด์ไทยรายเล็ก รายใหญ่อีกหลายรายไม่ว่าจะเป็น WashCoin, WashXpress, 24 wash, Success Laundromat ฯลฯ ในตลาดสะดวกซักของไทย

มีแบรนด์เล็ก แบรนด์ใหญ่มากมาย เหตุผลที่ทำให้แฟรนไชส์ ธุรกิจสะดวกซัก 24 ชั่วโมง ไปรุ่งนั้น Marketeer มองว่า

1. แก้ Pain point ของผู้บริโภค

เพราะเทรนด์ผู้บริโภคเปลี่ยนไป คนอยู่คนเดียวมากขึ้น รวมถึงพื้นที่ใช้สอยตามหอพัก คอนโดมีจำกัด บริการร้านสะดวกซักเหล่านี้จึงตอบโจทย์ไม่น้อย เพราะสามารถนำผ้ามาทิ้งไว้ แล้วใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงก็สามารถมารับได้ รวมถึงยังไม่ต้องควักเงินในกระเป๋าออกไปซื้อเครื่องซักผ้ามาตั้งไว้ภายในห้องอีกด้วย

และหากลองสังเกตดูเทรนด์ร้านสะดวกซัก 24 ชม. ในปัจจุบันจะเห็นว่าร้านสะดวกซักเหล่านี้จะไม่ได้อยู่ตามใต้หอพัก หรือคอนโดอีกต่อไป แต่จะเป็นร้านแบบสแตนด์อโลนในแนว Co-working space ที่อาจจะไม่ได้ใช่พื้นที่ในร้านมานั่งทำงาน แต่ในร้านกลับมีโต๊ะ เก้าอี้ ตู้ขายขนมและเครื่องดื่ม รวมทั้ง Wifi ให้ผู้ที่มาใช้บริการซักเสื้อผ้านั่งเล่นได้อย่างเพลินๆ

2. ความสะอาด

สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้คนคิดหนักว่าจะมาใช้บริการร้านสะดวกซักเหล่านี้ดีไหมนั่นก็คือเรื่องของ ‘ความสะอาด’

เพราะฉะนั้นจะต้องเข้าใจก่อนว่าเครื่องซักผ้ามีกี่ประเภท และหากจะเปิดร้านเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญทั้งทีควรจะเลือกแบบไหน

เครื่องซักผ้ามีอยู่ 3 ประเภทคือ

เครื่องซักผ้าใช้ในบ้าน

เครื่องซักผ้าเชิงพาณิชย์

และเครื่องซักผ้าเชิงอุตสาหกรรม

หากใช้ตามบ้านปกติทั่วไปเลือกใช้เครื่องซักผ้าแบบใช้ในบ้านก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร แต่หากจะเลือกเปิดร้านทั้งทีการเลือกเครื่องซักผ้าประเภทนี้คงไม่ตอบโจทย์ เพราะนอกจากจะเป็นการเลือกผิดประเภทแล้ว ยังส่งผลถึงเรื่องของความสะอาดอีกด้วย

พิมลวรรณ ผู้บริหารฝ่ายการตลาดบริษัท ลอนดรี้บาร์ ไทย ที่มีแบล็กกราวน์ของครอบครัวทำธุรกิจนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าระบุว่า มีลูกค้ามาซื้อเครื่องซักผ้าไปติดเครื่องหยอดเหรียญค่อนข้างมาก แต่ได้ไม่นานลูกค้าเหล่านั้นโทรมาตามให้ไปซ่อมเพราะเครื่องไม่ทนกับการใช้งานในประเภทนี้

ในส่วนของลอนดรี้บาร์เอง พิมลวรรณระบุว่า ลอนดรี้บาร์เลือกใช้เครื่องซักผ้าประเภทอุตสาหกรรมจากสหรัฐฯ และยุโรป ที่ใช้ตามธุรกิจโรงแรมทำให้มั่นใจได้ว่าเรื่องความสะอาดได้มาตรฐานแน่นอน

และไม่ใช่เพียงแต่แบรนด์ลอนดรี้บาร์ที่ใช้เครื่องซักผ้าแบบอุตสาหกรรมเท่านั้น ยังมีแบรนด์อื่นในตลาดก็เลือกใช้เครื่องซักผ้าแบบอุตสาหกรรมเช่นกัน

แต่สิ่งที่ทำให้ลอนดรี้บาร์เหนือกว่าคู่แข่งอยู่นิดหน่อยคือ เป็นแบรนด์แรกในธุรกิจร้านสะดวกซักที่ให้บริการน้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม และน้ำยาฆ่าเชื้อฟรี ผ่านเครื่องจ่ายน้ำยาอัตโนมัติ เพื่อการันตีว่าลูกค้าจะไม่ใช้น้ำยาผิดสัดส่วน เพราะหากใช้น้อยไปเสื้อผ้าก็จะไม่สะอาด และหากใช้มากไปก็จะทำให้ตกค้างตามเสื้อผ้าอีกด้วย

3. ราคา

เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกเดินถือตะกร้าเข้าร้านสะดวกซัก โดยส่วนใหญ่จากการสำรวจแล้วแต่ละแบรนด์ราคาซักครั้งหนึ่งเริ่มต้นที่ 30-40 บาท ตามแต่ออปชันที่เลือก จุดนี้คงต้องให้ผู้บริโภคเป็นคนตัดสินเอาเองว่าต้องการใช้บริการเจ้าไหนมากกว่ากัน

4. คืนทุนไว

และส่วนใหญ่ธุรกิจนี้คืนทุนภายใน 2-3 ปี หลังจากนั้นก็เรียกได้ว่ายิ่งคนมาใช้บริการมากเท่าไร เราก็มีรายได้เข้ากระเป๋ามากเท่านั้น นี่จึงเป็นอีกทางเลือกของคนที่อยากมีธุรกิจเสริมจากงานประจำเพราะไม่ต้องใช้คนดูแลมากเหมือนธุรกิจอื่น

และยังเป็นเหตุผลที่ทำให้ตลาดยังโตอยู่

1. ปัจจุบันลอนดรี้บาร์ในไทยมีทั้งหมด 5 สาขา สิ้นปีตั้งเป้าจะมี 30 สาขา และภายใน 3 ปี จะมีรวม 300 สาขาทั่วประเทศ

2. เมื่อมีสาขาในไทยแตะถึง 200 สาขา จะเริ่มขยายสาขาไปยังประเทศ CLMV โดยจะเริ่มต้นที่ประเทศกัมพูชา เพราะพฤติกรรมใกล้เคียงกับคนไทย

3. ลอนดรี้บาร์ ไทย จะเป็นบริษัทเปิดร้านเอง 20% และขายแฟรนไชส์ 80%

4. ในมาเลเซีย ลอนดรี้บาร์ ครองส่วนแบ่งตลาด 45%

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online