“เพราะแค่การสนับสนุนด้านเงินทุน อาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของคนทำธุรกิจ SME ในยุคนี้” ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK เดินหน้าเปิด ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXIM Excellence Academy: EXAC)

ศูนย์กลางในการติดต่อช่วยให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสเพิ่มมากขึ้นทางการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ เสริมแกร่งให้ผู้ประกอบการรายย่อยของไทยมองเห็นช่องทางในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกมากยิ่งขึ้น

One Stop Service เพื่อ SME ผู้ส่งออก

พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ระบุว่า ศูนย์ EXAC จัดตั้งขึ้นเพื่อขานรับนโยบายจากทางภาครัฐบาลที่ต้องการให้ผู้ประกอบการ SME และผู้ส่งออกเติบโตแข็งแรงอย่างยั่งยืน ซึ่งการที่จะสนับสนุนกลุ่มคนทำธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้จบเพียงแค่เรื่องของเงินสนับสนุน แต่ SME ไทยจำเป็นต้องมีความรู้ มีทักษะในการประกอบธุรกิจ สามารถเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของตัวเอง ให้แข่งขันได้ทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลกด้วย”

พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า หรือ EXAC จึงเกิดขึ้นจากการรวบรวมปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการส่งออก ซึ่งส่วนใหญ่อาจยังขาดความรู้ ขาดช่องทาง ขาดเทคนิควิธีการจัดการ

เพราะหากปล่อยให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ออกไปต่อสู้ในต่างประเทศเพียงลำพังหรือยังไม่มีความพร้อม อาจจะเกิดความเสียหายต่อตัวผู้ประกอบการเอง และทางธนาคารที่ให้การสนับสนุนทางการเงินด้วยเช่นกัน

“ที่ EXAC พร้อมการดูแลลูกค้าผู้ประกอบการทุกคนแบบครบวงจร รวมถึงลูกค้าที่เข้ามาติดต่อกับ EXIM BANK ถ้าอยากส่งออกให้เดินทางมาที่ธนาคารและไปติดต่อที่ EXAC จะได้รับคำแนะนำตั้งแต่ต้นจนจบว่าทำอย่างไรคุณจะส่งออกได้ ซึ่งยืนยันว่าผู้ประกอบการสามารถมาใช้บริการได้ตลอดเวลาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น”


ภารกิจของ EXAC

สำหรับลูกค้าของ EXAC แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่ กลุ่มที่ยังไม่เคยส่งออก หรือส่งออกแล้วแต่มูลค่าไม่มาก ซึ่งถือเป็นลูกค้าที่มีจำนวนมาก กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่ส่งออกระดับกลาง คือส่งออกแล้ว แต่สามารถขยายการส่งออกเพิ่มได้อีก ซึ่งผู้ประกอบการทั้ง 2 กลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการติดอาวุธ ทั้งด้านความรู้ เทคนิคทำการค้าระหว่างประเทศ และการบริหารกิจการ บริหารต้นทุน เพื่อให้แข็งแกร่งขึ้น

โดยการทำงานหลักๆ ของ EXAC จะเน้นเป็นศูนย์กลางพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการส่งออก ในรูปแบบของการเพิ่มทักษะความรู้ด้วยหลักสูตรอบรมบ่มเพาะ และการให้คำปรึกษาแนะนำต่อเนื่อง

รวมถึงการสร้างโอกาสด้วยกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจ และแนะนำการจัดการความเสี่ยงด้วยบริการประกันการส่งออก นอกจากนั้นยังเน้นหนักไปที่การผสานพลังจากพาร์ตเนอร์ที่เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ทั้งจากภายในองค์กร บริษัทที่ประสบความสำเร็จ และกูรูตัวจริงในแต่ละสาขา มาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้ผู้ประกอบการโดยตรง

EXIM Mobile Clinic
“ลงพื้นที่จริงเพื่อผู้ประกอบการทั่วประเทศ”

แนวทางของ EXAC ยังมาพร้อมกับกิจกรรมที่ชื่อว่า EXIM Mobile Clinic นำทีมที่ปรึกษาของ EXAC และหน่วยงานพันธมิตรลงพื้นที่ให้คำปรึกษาแนะนำด้านการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ประกอบการในจังหวัดศักยภาพทั่วประเทศ

พร้อมจัดหลักสูตรอบรมบ่มเพาะผู้ประกอบการตามกลุ่มของผู้ส่งออก เช่น ผู้ส่งออกหน้าใหม่, ผู้ส่งออกที่ส่งออกแล้วแต่ต้องการเพิ่มศักยภาพให้ส่งออกได้มากขึ้น เป็นต้น หลักสูตรอบรมต่อเนื่องที่จัดขึ้นนี้ จะให้ความรู้ตั้งแต่พื้นฐานและเทคนิคที่สูงขึ้น และพยายามร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทำให้หลักสูตรที่จัดขึ้นเมื่ออบรมเสร็จแล้วสามารถนำไปปฎิบัติได้จริง ทำให้ส่งออกได้ดีขึ้น หรือส่งออกได้มากขึ้น

โดยผู้ประกอบการที่ผ่านหลักสูตรแล้วยังมีการประเมินผลติดตามหลังจากอบรม Work shop แล้วไป 3 เดือน ถึง 1 ปี ผู้ประกอบการค้าขายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ เก่งขึ้นหรือไม่ ยังขาดอะไรที่จะต้องเพิ่มเติม และจะนำเอาผลมาพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม


ผนึกพันธมิตรช่วยเอสเอ็มอี

กรรมการผู้จัดการ EXIM Bank กล่าวทิ้งท้ายว่า “ความมุ่งหวังในการจัดตั้ง EXAC ก็เพื่อจะช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ได้มากที่สุด อยากเห็นผู้ส่งออกไทยเข้มแข็งมีความรู้ ต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเองได้ จะได้ไม่ประสบปัญหาหรืออุปสรรคเวลาไปต่างประเทศ”

พิศิษฐ์มองว่า กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้จำกัด ธนาคารจึงเริ่มเปลี่ยนวิธีคิด เราหันมาให้ความสำคัญผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่ต้องการเงินทุนไม่สูงมาก ฉะนั้นแทนที่คิดว่าจะปล่อยกู้วงเงินสูงๆ ควรจะเปลี่ยนมาให้กู้จำนวนรายให้เยอะขึ้น โดยวงเงินกู้ให้ตั้งแต่ 5 แสนบาท

“แม้จำนวนเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ส่งออก อาจจะไม่มากเท่ากับเอสเอ็มอีที่ผลิตสินค้าและบริการเพื่อค้าขายในประเทศ แต่ในอนาคตกลุ่มนี้มีศักยภาพจะเติบโตสูง โดยเฉพาะกลุ่มที่ค้าขายออนไลน์ กลุ่มนี้มีโอกาสเติบโตเป็นผู้ส่งออกได้มาก หากขายบนแพลตฟอร์มที่ใช่ ซึ่งเราก็จะต้องเข้าไปช่วยให้เขามีความแข็งแกร่งขึ้น ไม่ว่าผู้ประกอบการเหล่านั้นจะเป็นลูกค้าธนาคารหรือไม่ก็ตาม ถ้าเป็นลูกค้าก็เท่ากับเป็นการคุ้มครองให้สินเชื่อนั้นมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และถ้าผู้ประกอบการมีคุณภาพ หากเขาไปใช้สินเชื่อกับธนาคารอื่นก็ถือว่าได้ช่วยประเทศชาติเหมือนกัน” พิศิษฐ์กล่าว

สำหรับเป้าหมายสูงสุดของ EXIM Bank ในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีนั้น ตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2570 คาดว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ส่งออกอยู่ที่ 30% จากจำนวนเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ส่งออกทั้งหมด จากปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดที่ 12.5% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเมื่อสามปีที่ผ่านมา EXIM Bank มีส่วนแบ่งตลาดเพียงแค่ 7% เท่านั้น

ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ EXAC และอัปเดตความรู้เพื่อการส่งออกจาก EXIM Bank ได้ที่: เว็บไซต์ https://www.exim.go.th/ และ Facebook https://www.facebook.com/eximbankofthailand



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online