เพราะไม่มีใครหรอก ที่ลงทุนเป็นล้าน ๆ โดยไม่เห็นช่องทางทำเงินในอนาคต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าธุรกิจ Food Delivery ในปี 2562 จะมีมูลค่าอยู่ที่ 33,000–35,000 ล้านบาท

หรือเติบโตประมาณร้อยละ 14 จากปี 2561

และเชนร้านอาหารรายใหญ่ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น CRG (ร้านอาหารในเครือเซ็นทรัล), Minor (เจ้าของแบรนด์ Sizzler / The Pizza Company / etc.), MK หรือ Oishi Group ต่างก็หันมารุกตลาดนี้ ด้วยการปรับเมนูให้เอื้ออำนวยต่อการส่งแบบ Delivery

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าในปี 2563 ธุรกิจ Food Delivery มีแนวโน้มในการเติบโตที่สูงขึ้น

หรือไม่ต้องเอาภาพใหญ่ เพราะแค่ตัวเราเองและคนรอบข้าง ก็หันมาสั่งอาหารผ่าน Grab, Line Man, GET หรือ Food Panda มากกว่าแต่ก่อน

แต่แล้วทำไมผู้ให้บริการ Food Delivery ทั้งหลาย ถึงยังไม่คืนทุนสักที ?

Marketeer เลยจะขออธิบายให้ฟังดังต่อไปนี้

1

ไม่ว่าธุรกิจไหน ๆ ก็อยากจะรีบคืนทุน รีบทำกำไรให้ตัวเองกันทั้งนั้นแหละ เพียงแต่ว่าธุรกิจแต่ละอย่าง ก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันไป

2

ซึ่งธุรกิจ Food Delivery ส่วนใหญ่จะเป็นสตาร์ทอัพ ที่เน้นลงทุนในเทคโนโลยี ลงทีเป็นหลักหลายล้านดอลลาร์ อาจจะยังไม่คืนทุนภายในปีสองปี

แต่ถ้าวันไหนที่ธุรกิจไปถึงจุดที่เริ่ม ‘เกิดกำไรต่อหน่วย’ หรือหมายถึง ‘มีกำไรต่อการสั่งออร์เดอร์ต่อครั้ง’ แล้ว

เมื่อนั้นแหละเทคโนโลยีจะเป็นตัวผลักดันให้ธุรกิจเติบโตเหมือนติดจรวด !

3

สิ่งที่ทำให้ผู้ให้บริการ Food Delivery ส่วนใหญ่ยอมขาดทุนในช่วงเริ่มต้น

เพราะในช่วงปี-สองปีก่อนหน้า การสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นถือเป็นเรื่องใหม่

พวกเขาจึงต้องยอมขาดทุน ที่เป็นเหมือนการ ‘ลงทุนให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรม’

ด้วยการเล่นเกมเผาเงินอัดโปรโมชั่น ใช้ส่วนลดและค่าส่งราคาแสนถูก เป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาใช้

และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมค่าส่งแต่ละครั้ง ถึงมีราคาเพียงแค่ 10-15 บาทเท่านั้น

4

จนถึงวันนี้ ที่ผู้ใช้งานบางคนจะสังเกตได้ว่า ทำไมค่าส่งเริ่มแพงขึ้นกว่าเดิม

นี่เป็นสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นว่า บรรดาผู้ให้บริการ Food Delivery ทั้งหลาย เริ่มปรับกลยุทธ์ในธุรกิจ จากเกมเผาเงิน มาเป็นเกมของการเริ่มหากำไรแล้ว

5
เหตุผลที่ทำให้ธุรกิจ Food Delivery เริ่มเดินเข้าสู่เกมของการเริ่มหากำไร ไม่ได้เป็นเพราะความคุ้นชินที่ผู้คนมีต่อการสั่งอาหารผ่านแอปแล้วเท่านั้น

แต่ยังรวมไปถึงสถานการณ์ของ WeWork สตาร์ทอัพระดับโลกที่ทำท่าจะไปได้สวย จนเกือบได้เข้าตลาดหลักทรัพย์

แต่ก็ต้องกลายมาเป็นบริษัทที่มีตัวเลขทางการเงินเข้าขั้นวิกฤต

เพราะการเติบโตของ WeWork เป็นการเอาเงินของนักลงทุน มาลงทุนในสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดกำไรอย่างแท้จริง

แถมยิ่งลงทุนไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเจ็บตัวมากเท่านั้น

(อ่านข่าววิกฤต WeWork เพิ่มได้ที่ลิงค์นี้ : https://marketeeronline.co/archives/124812 )

พอมีสตาร์ทอัพระดับโลกเจอวิกฤติแบบนี้ นักลงทุนทั้งหลายจึงต้องหันมามองว่าสตาร์ทอัพที่ตัวเองเอาเงินไปลง จะเป็นเหมือน WeWork หรือเปล่า

นี่จึงเป็นอีกเหตุผล ที่ทำให้ธุรกิจ Food Delivery ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสตาร์ทอัพ ต้องเริ่มออกมาขยับ ปรับแผนจากเกมเผาเงินอัดโปรโมชั่น มาเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจมากขึ้น เพื่อทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น

6

สะท้อนได้จาก Line Man ที่เริ่มปรับเกมก่อนใคร ด้วยการเริ่มคิดค่าส่งตามระยะทางจริง

ส่วน GET แม้จะเป็นน้องใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในวงการ Food Delivery เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

แต่ในปีหน้า GET ก็จะชะลอเกมเผาเงินอัดโปรโมชั่นให้น้อยลงแล้วเช่นกัน

7

แม้จะมาทีหลังเพื่อน แต่ข้อได้เปรียบของ GET คือไม่ต้องสูญเสียเงินไปกับการทำการตลาดในแง่การ Educate ผู้คนให้เปลี่ยนพฤติกรรมเหมือนอย่างที่ Grab และ Line Man ได้ทำไว้ก่อนหน้า

เพราะ GET เข้ามาในช่วงที่แอปสีเขียวทั้งสองเจ้าได้ปูทางตลาดเอาไว้แล้ว

8

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจเกิดความสงสัย ว่าถ้าไม่ใช้โปรโมชั่น

แล้วอะไรล่ะที่จะจูงใจให้ผู้คนยังคงสั่งอาหารผ่านช่องทางเหล่านี้อยู่ได้ ?

9

คำตอบก็คือ ‘ความเคยชินของผู้บริโภคอย่างเรา ๆ เองยังไงล่ะ’

ไม่เชื่อก็ลองถามตัวเองดูว่าแม้ค่าส่งจะแพงขึ้นมานิดหน่อย แต่ก็ยังตัดสินใจกดสั่งอยู่ใช่ไหม

และมันก็เกี่ยวกับการออกแบบของตัวแอปด้วยเช่นกัน เพราะกว่าจะรู้ว่าราคาค่าส่งเท่าไหร่ ก็ต้องกดไปถึงหน้าต่างสุดท้าย

แต่ก่อนจึงหน้าต่างนั้น เราก็ต่างเตรียมท้อง เตรียมใจ และตั้งใจเลือกเมนูมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จะให้ถอยทัพตอนหิว ก็คงเป็นเรื่องที่ยากเอาการอยู่ !

10

นอกจากความเคยชิน สิ่งที่จะทำให้ผู้คนสั่งอาหารผ่านแอป ในวันที่โปรโมชั่นลดน้อยลงได้ มีอยู่ 3 ข้อด้วยกัน

ข้อแรก ) คือเวลาในการจัดส่งที่ทางผู้ให้บริการกำลังพัฒนาระบบเพื่อให้ลูกค้าได้รับอาหารเร็วขึ้น

จากตอนนี้ที่เวลาคนกดสั่งอาหาร > รอคนขับกดรับ > คนขับนั่งรอร้านทำอาหาร > แล้วค่อยขับมาส่งให้เรา

ก็กลายเป็นคนกดสั่งอาหาร > ออร์เดอร์ไปที่ร้าน > ร้านทำอาหารได้ทันที > คนขับไปรับอาหาร โดยไม่ต้องรอนานเท่าเดิม > อาหารส่งถึงคนสั่งเร็วขึ้น

11

ข้อที่สอง ) ความถูกต้องของเมนู และการบริการ

12

ส่วนข้อสุดท้ายคือ ) ความหลากหลายของร้านอาหารในแอป

ซึ่ง ณ ขณะนี้ LINE MAN เป็นแอปแรกที่มีร้านอาหารครบ 1 แสนร้าน

13

และช่องทางรายได้ของผู้ให้บริการ Food Delivery ก็ไม่ได้มีแค่ค่าคอมมิชชั่นจากร้านอาหารเท่านั้น

เพราะยังรวมไปถึงข้อมูลในระบบ ทั้งในฝั่งของคนขับ ร้านค้า และคนสั่งอาหาร

ที่สามารถนำไปต่อยอดในการทำการตลาด หรือนำไปแตกไลน์เป็นธุรกิจอื่น ๆ ได้อีกมากมาย

14

ในวันนี้เราได้เห็น Food Delivery บางเจ้า สามารถทำกำไรต่อการสั่งออร์เดอร์หนึ่งครั้งได้แล้ว

แต่ยังไม่เห็นเจ้าไหนที่สามารถไปถึงจุดคุ้มทุนของธุรกิจได้

15

แต่ก็อย่างที่บอกไปตอนต้นนั่นแหละ ว่าวันไหนที่ธุรกิจไปถึงจุดที่เริ่ม ‘เกิดกำไรต่อหน่วย’

เมื่อนั้นเทคโนโลยีจะเป็นตัวผลักดันให้ธุรกิจเติบโตเหมือนติดจรวด

และมันก็คงเป็นวันเดียวกับที่ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ไม่สามารถปฏิเสธความสะดวกสบาย ที่ใช้กันอย่างคุ้นชินได้

#MarketeerOnline #MarketeerFooooooood #GrabFood #GetFood #FoodPanda #LINEMAN #FoodDelivery



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online