เรียกได้ว่าเป็นรายแรกของปีนี้ สำหรับ “ปรากฏการณ์ปลดพนักงาน” ครั้งใหญ่ในธุรกิจสื่อ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก Technology Disruption อย่างหนักมาอย่างยาวนาน

การปลดพนักงานครั้งใหญ่ครั้งนี้เป็นคราวของสื่อทีวีดิจิทัลอย่างช่อง MONO29 แม้จะถือเป็นช่องที่มีเรตติ้งติดอยู่ TOP3 แทบจะตลอดเป็นเวลาร่วม 5 ปีต่อเนื่อง แถมบางช่วงเวลาเคยแซงคู่แข่งอันดับ 2 อย่างช่อง 3 ได้ด้วย โดยล่าสุด Neilsan เพิ่งประกาศเรตติ้งช่วงสัปดาห์ที่ 6-12 ม.ค. 2563 ซึ่ง MONO29 ก็ครองอันดับ 3 เช่นเดิม ตามหลังเพียงช่อง 7 และช่อง 3

ว่ากันว่า การปลดพนักงานครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ (ที่สุด) ของช่อง MONOโดยจำนวนพนักงานที่ถูกปลดอาจมีมากถึงกว่า 200 ถึง 300 ชีวิต โดยมีข่าวจากวงในพูดกันหนาหูว่า ไม่มีการแจ้งล่วงหน้า พนักงานบางคนบอกว่า หลังจากได้รับการแจ้งข่าวพร้อมกับซองขาวจากฝ่ายบุคคลแล้ว ก็ถูกให้เก็บของออกจากบริษัทได้ทันที อย่างไรก็ดี บริษัทได้มีการจ่ายค่าตอบแทนการจ้างออกพร้อมค่าตกใจ ตามกฎหมาย

นอกจากนี้ ยังว่ากันมาอีกว่า มีการยุบหน่วยธุรกิจ (Business Unit) หลายๆ หน่วยให้มีความกระชับเพื่อลดความซ้ำซ้อนในโครงสร้างการทำงานและบุคลากร

ไม่ว่าการปรับโครงสร้างใหญ่ครั้งนี้จะเป็นไอเดียของซีอีโอคนใหม่ หรืออาจเป็นแผนงานต่อเนื่องจากซีอีโอคนเก่า หรืออาจเป็นมติจากคณะกรรมการบริหารบริษัท ก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่านี่เป็นการตัดสินใจที่เด็ดขาดอย่างยิ่งสำหรับซีอีโออายุน้อยที่สุดในวงการทีวีดิจิทัล (ด้วยวัย 39 ปี) อย่าง “ปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์” ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นซีอีโอมาหมาดๆ เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2562 โดยเขาถือเป็นลูกหม้อที่ช่วยบุกเบิกความก้าวหน้าให้กับช่อง MONO29 ในหลายๆ เรื่อง และเรียกได้ว่าเป็นลูกน้องที่ “พิชญ์ โพธารามิก” ผู้ก่อตั้ง MONO Group และอดีตประธานกรรมการ MONO ไว้วางใจอย่างมาก

เหตุผล (ผลงาน) สู่การตัดสินใจ

การตัดสินใจครั้งนี้น่าจะเป็นผลมาจากผลประกอบการที่ไม่ค่อยดีของ MONO29 โดยแค่ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 บริษัทขาดทุนไปแล้วกว่า 380 ล้านบาท โดยรายได้ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงเกือบ 200 ล้านบาท (นี่ยังไม่นับรวมไตรมาสสุดท้ายเพราะผลประกอบการยังไม่ออก)

รายได้รวม 9 เดือนแรกของ

ปี 2561    1,905.54 ล้านบาท

ปี 2562    1,710.64 ล้านบาท  ลดลง 194.9 ล้านบาท หรือ 10.23% 

เรียกได้ว่ารายได้ของ MONO ลดลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2561 ซึ่งทั้งปีมีรายได้ต่ำกว่าปี 2560 อยู่ที่ 63.56 ล้านบาท หรือลดลงราว 2.48% 

นอกจากนี้ การขาดทุนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ยังถือเป็นการขาดทุนอย่างต่อเนื่องจากปี 2561 ซึ่งทั้งปีขาดทุนไป 193.27 ล้านบาท ขณะที่แค่ 9 เดือนแรกของปี 2562 ก็ขาดทุนไปแล้วกว่า 384.98 ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้น 99.15%

เมื่อย้อนดูผลงาน (รายได้รวม) ในแต่ละไตรมาสของปี 2562 ต้องบอกว่าต่ำกว่าปีก่อนหน้าในทุกไตรมาส โดยเฉลี่ยขาดทุนไตรมาสละ 65% โดยรายได้จากการให้บริการผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Subscription Revenue) ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญมาตั้งแต่ต้นปี ขณะที่รายได้จากสื่อโฆษณาทีวี เพิ่งลดลงในไตรมาส 3 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ด้วยผลการดำเนิน 9 เดือนแรกของปี 2562 ที่ค่อนข้างย่ำแย่ น่าจะทำให้ เป้าหมายรายได้รวมของบริษัทตลอดทั้งปี 2562 ที่ซีอีโอคนใหม่เคยตั้งเอาไว้ ซึ่งอยู่ 3,500 บาท…น่าจะไปไม่ถึงฝัน!

แผนขับเคลื่อน MONO ของซีอีโอคนใหม่

คุณปฐมพงศ์ได้กล่าวหลังรับตำแหน่งซีอีโอใหม่ๆ (อ้างอิงประชาชาติ ฉ.19 พ.ย. 2562) ว่า จะผลักดันให้บริษัทมีรายได้รวมแตะ 5,000 ล้านบาทภายในอีก 5 ปีข้างหน้า 

ทั้งนี้ ธุรกิจของกลุ่ม MONO แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

ธุรกิจทีวี ซึ่งมีสัดส่วนรายได้สูงถึง 80% ของรายได้รวมบริษัท ซึ่งเขาได้บอกไว้ว่าจะให้น้ำหนักกับรายได้ก้อนนี้มากขึ้น โดยหลังจากคืนช่องทีวี น่าจะถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญของบริษัท โดยบริษัทจะหันมาให้ความสำคัญกับการเติมเต็มความต้องการของผู้ชมด้วยคอนเทนต์ทั้งไทยและต่างประเทศให้เข้มข้นขึ้น 

ธุรกิจที่ 2 คือ วิดีโอออนดีมานด์ โมโนแม็กซ์” ซึ่งเขามีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดขึ้น โดยในส่วนนี้จะใช้งบลงทุนอีก 1,000-1,500 ล้านบาทสำหรับซื้อคอนเทนต์ เพื่อออกอากาศทุกแพลตฟอร์ม รวมถึงร่วมกับพันธมิตรในไทยและต่างประเทศเพื่อผลิตคอนเทนต์เองด้วย เพื่อขยายฐานสมาชิก โดยตั้งเป้าจะขยับฐานสมาชิกเป็น 200,000 รายภายใน 3-5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีราว 50,000 ราย  

ธุรกิจที่ 3 คือ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต 3BB โดยบริษัทจะเร่งเครื่องบริการทีวีผ่านอินเทอร์เน็ต (Iptv) อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าจะเพิ่มฐานสมาชิกเป็น 1.5 ล้านราย

ธุรกิจที่ 4 คือ อีเวนต์ โดยปี 2563 ตั้งเป้าจะจัดอีเวนต์ไม่ต่ำกว่า 15 งาน

และธุรกิจที่ 5 คือการผลิตคอนเทนต์ เพื่ออกอากาศในทุกช่อง แบ่งเป็นภาพยนตร์ 12 เรื่อง ละคร ซีรีส์อีก 6 เรื่อง

ต้องบอกว่าแผนงานดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนปรากฏการณ์ใหญ่ครั้งนี้ ซึ่งถ้าการ “ปลดพนักงานครั้งใหญ่” อยู่ในแผนดำเนินงานของ MONO Group อยู่แล้ว ก็เป็นไปได้ที่ เป้าหมายดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อไปได้ แต่ถ้าปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่า “สถานการณ์บังคับ” ก็จะเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับซีอีโอคนใหม่นี้

ส่วนผู้ชมอย่างเราๆ …นอกจากรอดูความเปลี่ยนแปลงของ MONO29 ก็อย่าลืมเป็นกำลังใจให้คนในธุรกิจสื่อ ไม่ให้ต้องเจอกับมรสุมใหญ่ระลอกถัดไป

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online