แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วเอเชีย แต่สิ่งที่คนเอเชียวิตกกังวลมากที่สุดไม่ใช่การเจ็บไข้ได้ป่วย แต่เป็นผลกระทบจากไวรัสที่มีต่อสุขภาพทางการเงินของตนเอง

ประโยคข้างบนนี้ไม่ได้คิดหรือเดาเอาเอง แต่เป็นผลการศึกษาของกันตาร์ (Kantar) บริษัทที่ปรึกษาและจัดเก็บข้อมูลเชิงลึกชั้นนำระดับโลก

โดยใช้ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถาม 3,000 คนในอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย รวมถึงข้อมูล Panel Data และการวิเคราะห์โซเชียลมีเดียในเชิงลึก เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของไวรัสที่มีต่อทัศนคติและพฤติกรรมของคนทั่วเอเชีย

เอเดรียน กอนซาเลซ ซีอีโอประจำเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิก บริษัทกันตาร์ เปิดเผยว่า ผลการศึกษาของกันตาร์แสดงให้เห็นถึงขอบเขตของผลกระทบที่มีต่อชีวิตประจำวันของผู้คน ซึ่งต่างตื่นกลัวและทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อให้ตัวเองปลอดภัย หลายคนเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต พฤติกรรมการซื้อสินค้า และบางคนยอมรับว่าซื้อด้วยความตื่นตระหนก

แต่สิ่งที่ผู้คนกังวลมากที่สุดก็คือ ผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อความมั่นคงทางการเงิน เนื่องจากมีแนวโน้มว่าไวรัสจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพเศรษฐกิจ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้นอีก นั่นคือ ทางเลือกของหลายคนอาจต้องเปลี่ยนไปอีกหลังการแพร่ระบาดสิ้นสุดลง

Marketeer ขอสรุปให้ฟังเป็นข้อๆ ดังนี้

  • คนเอเชีย 60% รู้สึกกังวลเรื่องความมั่นคงทางการเงิน รองลงมา 46% กังวลเรื่องการติดไวรัส
  • หนึ่งในสาม (34%) กลัวว่าไวรัสโควิด-19 อาจฉุดเศรษฐกิจเข้าใกล้ภาวะถดถอย
  • ญี่ปุ่นกังวลว่าจะติดไวรัสมีระดับสูงสุด 68%
  • ชาวเกาหลีกังวลมากที่สุดเรื่องสุขภาพทางการเงินของตนเอง 77% และการตกงาน 61%
  • ผู้บริโภคชาวเอเชียเกือบครึ่งหนึ่ง (48%) “กังวลอย่างยิ่ง” เกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ในชีวิตประจำวัน
  • ชาวเกาหลี 75% และชาวญี่ปุ่น 60% มีความวิตกกังวลและรู้สึกว่าชีวิตได้รับผลกระทบ
  • ความไว้วางใจในวิธีการที่รัฐบาลใช้รับมือกับวิกฤตอยู่ในระดับต่ำมากในเกาหลี (39%) และญี่ปุ่น (9%)
  • ชาวสิงคโปร์ 78% ไว้วางใจวิธีการที่รัฐบาลใช้รับมือกับวิกฤต
  • สินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและสุขอนามัยมียอดซื้อเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดย 48% เผยว่าซื้อสินค้าสุขอนามัยส่วนบุคคลมากขึ้น เช่น หน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ ขณะที่ 45% ซื้อสินค้าสุขภาพและโภชนาการมากขึ้น เช่น วิตามิน เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และ 40% ซื้อผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้านมากขึ้น
  • ผู้บริโภคที่ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีจำนวนลดลง (30%) ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ก็เคยเกิดขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส นอกจากนั้น ผู้ที่ซื้อสินค้าหรูก็ลดลง (27%) รวมถึงผู้ที่ซื้อเนื้อและอาหารทะเลก็ลดลง (21%)



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online