กองทุนรวม SSF คืออะไร ต่างจาก LTF อยางไร ? นักลงทุนต้องรู้

จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลากหลายมาตรการ หนึ่งในนั้นมีมาตรการสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุนไทยให้ประชาชนทั่วไป

นั่นคือ มาตรการที่เรียกว่า “กองทุนรวม SSF หลักทรัพย์จดทะเบียน” หรือก็คือ “กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ หรือที่รู้จักกันในนาม กองทุน SSF พิเศษ (บ้างก็เรียก SSFX – SSF Extra)”

ย้อนทำความรู้จักกองทุน SSF กันอีกครั้ง

ก่อนจะไปรู้จักกองทุน SSF พิเศษ เราไปทำความรู้จักกับกองทุน SSF ปกติกันก่อน

 SSF ย่อมาจากคำว่า Super Saving Fund เป็นกองทุนที่มุ่งเน้นการออมระยะยาวและเป็นตัวช่วยในการลดหย่อนภาษีที่มาทดแทนกองทุน LTF ที่เพิ่งหมดอายุไปเมื่อปี 2562

เงื่อนไขสำคัญของ SSF  

  • ใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท (รวมกับ RMF กองทุนบำเหน็จบำนาญ และกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ ต้องไม่เกิน 5 แสนบาท) เช่น หากมีรายได้ 400,000 บาท/ปี จะซื้อ SSF เพื่อลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% หรือไม่เกิน 120,000 บาท แต่หากมีรายได้เกิน 700,000 บาท/ปี จะซื้อ SSF เพื่อการลดหย่อนภาษีได้สูงสุดแค่ 200,000 บาท
  • ซื้อแล้วต้องถือให้ครบ 10 ปี เช่น ซื้อกองทุน SSF วันที่ 1 ตุลาคม 2563 จะครบกำหนด 10 ปี ในวันที่ 1 ตุลาคม 2573 ทั้งนี้ เนื่องจากกองทุนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นการออมระยะยาวและการเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณ หากขายก่อนครบกำหนด จะถือว่าทำผิดเงื่อนไขลดหย่อนภาษี จะต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นทั้งหมดทันที 
  • กองทุนสามารถลงทุนในหลักทรัพย์อะไรก็ได้ ทั้งหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ กองทุนดัชนี กองทุนทองคำ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ทำให้กองทุนมีความยืดหยุ่นสูงในการลงทุนและปรับพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์และผลตอบแทนที่ดีที่สุดในแต่ละช่วงเวลา
  • ไม่มีเงินลงทุนขั้นต่ำ และไม่จำเป็นต้องลงต่อเนื่องทุกปี

ส่องความพิเศษของกองทุน SSF พิเศษ

กองทุน SSF พิเศษ หรือกองทุน SSF เฉพาะกิจ หรือที่หลายคนเรียก SSFX เกิดจากการหารือร่วมกันระหว่าง กระทรวงการคลัง กับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อหามาตรการสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุนไทย ที่ก่อนหน้านี้ดัชนีการซื้อขายร่วงไปอย่างมาก จากเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19

โดย SSF พิเศษ เป็นกองทุน SSF ที่มีการปรับเกณฑ์ให้คล้ายกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) นั่นคือมีการกำหนดเงื่อนไขการลงทุน ระบุว่าต้อง ลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไทยไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (เหมือน LTF)

ประโยชน์ของ SSFX ต่อนักลงทุนไทย

1. ประโยชน์ทางตรง คือ ผู้ลงทุนสามารถนำเงินที่ลงทุนใน “SSF พิเศษ” มาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เพิ่มขึ้นอีกถึง 2 แสนบาท ซึ่งสิทธิลดหย่อนก้อนนี้แยกจากวงเงินลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน RMF และ SSF ปกติ เพียงแต่มีข้อแม้ว่าต้องซื้อระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย. 63 และถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 10 ปี

หากผู้ลงทุนซื้อกองทุน SSF ปกติ ไว้เต็มวงเงิน 2 แสนบาทแล้ว ก็ยังสามารถซื้อ SSF พิเศษ ได้อีกไม่เกิน 2 แสนบาท เท่ากับผู้ลงทุนสามารถใช้สิทธิ SSF ลดหย่อนภาษีสำหรับปี 2563 ได้เต็มสิทธิถึง 4 แสนบาท

หรือหากผู้ลงทุนมีสิทธิซื้อทั้ง RMF, SSF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และประกันชีวิตแบบบำนาญ ได้เต็มเพดานที่ 5 แสนบาท ก็ยังมีสิทธิ์ซื้อ SSF พิเศษ เพิ่มได้อีก 2 แสนบาท เท่ากับผู้ลงทุนใช้สิทธิจากการลงทุนเพื่อการลดหย่อนภาษีสำหรับปี 2563 ได้เต็มสิทธิ์ถึง 7 แสนบาท นั่นเอง

2. ประโยชน์ทางอ้อม SSF พิเศษ ยังส่งผลถึงนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากนโยบายการลงทุนระบุว่าต้องลงทุนในหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65% นั่นหมายความว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งจากกลุ่มนักลงทุนที่เรียกว่า “นักลงทุนกลุ่มสถาบัน” หรือ “กองทุน” เข้ามาช่วยหนุนซื้อหุ้นไทย โดยเฉพาะหุ้นบริษัทในดัชนี SET50 และ SET100 รวมถึงบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีผลประกอบการดี และมีปันผลดี ซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะมีส่วนช่วยทำให้ราคาของ “หุ้นพื้นฐานดี” จะไม่ดิ่งเหวจนน่าตกใจเหมือนช่วงก่อนหน้านี้  

กองทุนรวม SSF และ SSF พิเศษ เหมาะกับใคร

1. คนที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี โดยเฉพาะคนที่มีฐานเงินเดือนสูง และใช้สิทธิจากกองทุน SSF, RMF, ประกันบำนาญและกองทุนเกษียณอายุอื่นๆ จนเต็มสิทธิแล้ว กองทุน SSF เฉพาะกิจ จะเป็นตัวช่วยพิเศษที่ทำให้ได้สิทธิลดหย่อนเพิ่มอีก 2 แสนบาท 

2. มีเงินลงทุนในระยะยาว และสามารถลงทุนได้ยาวถึง 10 ปีขึ้นไป นับจากวันที่ซื้อ รวมถึงต้องรับความเสี่ยงได้ อย่างไรก็ดี หากย้อนไปดูผลตอบแทนการลงทุนในอดีต จะพบว่าหลังวิกฤตเกิดขึ้นไป 10 ปี การลงทุนส่วนใหญ่มักจะได้ผลตอบแทนที่ดี

3. เหมาะกับคนอายุต่ำกว่า 50 ปี เพราะเงื่อนไขของ SSF ต้องถือครองขั้นต่ำ 10 ปี (หากอายุ 50 ปีขึ้นไป การซื้อ RMF จะน่าสนใจกว่า เพราะสามารถเลือกใช้สิทธิถือครอง 5 ปี ได้เนื่องอายุเกิน 55 ปีไปแล้ว)

นอกจากนี้ อีกคุณสมบัติสำคัญของคนที่เหมาะจะลงทุนใน SSF พิเศษ คือต้องเป็นคนที่มองไกลและเชื่อมั่นในศักยภาพของตลาดหุ้นไทย และบริษัทจดทะเบียนไทยในระยะยาว เพราะกองทุนนี้จะลงทุนในหุ้นไทยไม่ต่ำกว่า 65% ซึ่งการลงทุน SSF พิเศษ ในช่วงนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุน เพราะเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นปรับฐานลงมาอย่างมาก

ถ้าคุณมีคุณสมบัติครบที่จะลงทุน SSF พิเศษ บลจ.หลายแห่งแนะนำว่า อย่าพลาดใช้สิทธิ์ซื้อ SSF พิเศษ ให้เต็มสิทธิ์ 2 แสนบาท หรือมากเท่าที่มีความสามารถลงทุนได้ เพราะนี่ถือเป็นสิทธิ์พิเศษเพิ่มเติม ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่ต้องลงทุนในช่วงเวลาที่กำหนด

การลงทุนมีความเสี่ยง ควรศึกษาก่อนลงทุน

ทั้งนี้ กองทุน SSF และ SSF พิเศษ จะเริ่มทยอยออกมาขาย (IPO) ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ที่จะถึงนี้ โดย  ณ วันที่ 30 มี.ค. มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่ตบเท้าเตรียมเสนอขายกองทุน SSFX และ SSF ปกติ แล้วถึง 15 บลจ. และมีกองทุน SSF พิเศษ ที่เตรียมเสนอขายมากถึง  20 กองทุน และมีกองทุน SSF ปกติ ถึง 52 กองทุน

สุดท้ายนี้ ต้องไม่ลืมว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ควรศึกษาก่อนลงทุนทุกครั้ง… การลงทุนในกองทุน SSF หรือ SSF พิเศษ ก็เช่นกัน ผู้ลงทุนต้องศึกษาเงื่อนไขการลงทุนของแต่ละกองทุนให้ดี โดยควรเลือกลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนที่สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ตนยอมรับได้ ฉะนั้นต้องอ่านหนังสือชี้ชวนอย่างรอบคอบ!!

.

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online