อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ซีอีโอ ปตท. คนใหม่ กับความท้าทายท่ามกลาง Double Effect น้ำมัน และโควิด-19 (สัมภาษณ์พิเศษ)

จับตามอง อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์  ซีอีโอ ปตท. คนที่ 10 ที่เพิ่งก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  โดยมีภารกิจสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ในวันที่ต้องเจอกับผลกระทบแบบ  Double Effect ทั้งปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำ วิกฤตโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก     

เป็นวัย 55 ปีของเขาที่คงท้าทายสุด ๆ ในชีวิต

น่าสนใจอย่างมาก ๆ ว่าเมื่อต้องเป็นผู้นำทัพขององค์กรที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มียอดขายปีละกว่า 2 ล้านล้านบาท ท่ามกลางวิกฤตและอนาคตที่คาดเดาได้ยากนั้นจะต้องเตรียมรับมือกันอย่างไร

และถึงแม้ว่า ปตท. จะแข็งแรงและมั่นคงขนาดไหน แต่ก็ยังถูกมรสุมโควิดกระหน่ำเข้าอย่างจัง สะท้อนได้จากผลการดำเนินงาน Q1/2563 ขาดทุนสุทธิ 1,554 ล้านบาท ลดลง 30,866 ล้านบาท เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 29,312 ล้านบาท

จากนี้ไปคงเป็นช่วงเวลา 4 ปีตามวาระของตำแหน่งที่ต้องบันทึกไว้ทุกบรรทัดกันเลยทีเดียว

อรรถพลจบการศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนศึกษาต่อปริญญาโท พัฒนาการเศรษฐกิจมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 

เป็นลูกหม้อที่ทำงานใน ปตท. มานาน 30 ปี จากตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม เมื่อปี 2522 

ตำแหน่งล่าสุดก่อนเป็นซีอีโอ คือประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. กำกับดูแลในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจปิโตรเคมี และการกลั่น ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันและการค้าปลีก รวมทั้งถึงบริษัทย่อยในเครือ ปตท. ทั้ง บมจ. ไออาร์พีซี บมจ. ไทยออยล์ บมจ. พีทีที โกลบอลเคมิคอล และ บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก

เขาเป็นวิศวกรคนหนึ่งที่เต็มไปด้วยจินตนาการด้าน Marketing มีบทบาทสำคัญในเรื่องการสร้าง Brand Awareness เปลี่ยนภาพลักษณ์สถานีบริการน้ำมันเป็น PTT Life Station ซึ่งเปลี่ยนเป็น PTT Living Community ในเวลาต่อมา เพื่อส่งเสริมให้สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ดำเนินธุรกิจควบคู่กับการดูแลสังคม   

และสานต่อนโยบายการแยกธุรกิจน้ำมันออกมาจาก ปตท. เป็นบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ เพื่อนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ      

ยังเป็นผู้บริหารองค์กรคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญเรื่องการสื่อสารอย่างมาก

วันแรกของการทำงานเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ท่ามกลางความสับสนไม่มั่นใจของพนักงานทั้งในแง่ความมั่นคงขององค์กรจากปัญหาของวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น   

เขาได้บันทึกคลิปความยาว 7 นาทีเศษ เพื่อสื่อสารกับฝ่ายบริหารและพนักงานในองค์กร ปตท. เนื้อหาหลัก ๆ เพื่อให้พนักงานได้รับรู้อย่างเข้าใจว่า องค์กรกำลังปรับตัวอย่างไรท่ามกลางวิกฤตที่ร้ายแรงนี้

และได้ให้ความมั่นใจกับพนักงานว่า ผลกระทบของ ปตท. จะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 1 และ 2 นี้เท่านั้น แต่ไตรมาสที่ 3 และ 4 ธุรกิจน่าจะปรับตัวดีขึ้น  ยังมีความเเข็งแกร่ง โดยมั่นใจว่าในกรณีที่แย่ที่สุดในปีนี้ผลประกอบการโดยรวมของ ปตท. จะยังเป็นบวก  

ดังนั้น “ภารกิจ ปตท. ยังคงต้องรักษาความเข้มแข็งของธุรกิจหลักและสร้างธุรกิจใหม่แทนที่การเติบโตในรูปแบบเดิม เพื่อความชัดเจนในการทำงาน และให้ทุกคนเห็นเป้าหมายเดียวกัน อรรถพลได้วางพื้นฐานหลักในการทำงานด้วยกลยุทธ์ PTT ร่วมกับแนวคิด PTT เช่นเดียวกันหรือที่เรียกว่า PTT by PTT  

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ขับเคลื่อนองค์กรด้วยกลยุทธ์ “PTT by PTT

ซึ่งประกอบไปด้วย

Partnership and Platform เน้นการดำเนินธุรกิจด้วยการสร้างพันธมิตรและพัฒนาธุรกิจของ ปตท. ให้มีลักษณะเป็นแพลตฟอร์มมากกว่าเป็นแค่ผู้ผลิตสินค้าและจำหน่าย โดย ปตท. จะดึงดูดพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ควบคู่กับการสร้างความร่วมมือกับทั้งรัฐวิสาหกิจ เอกชน ผู้ประกอบการไทย และ SMEs ในการขับเคลื่อนคุณค่าจากมือพันธมิตรสู่มือผู้บริโภค เป็นการร่วมกันสร้าง New Business Model และ New Ecosystem

Technology for All เทคโนโลยีที่เกิดจากการผสมผสานความรู้ความเชี่ยวชาญ นวัตกรรม และดิจิทัล โดยจะใช้ในทุกมิติของกระบวนการดำเนินงาน ทั้งการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ และใช้บริหารจัดการองค์กร รวมทั้งการขับเคลื่อนสู่ภายนอก เป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม

Transparency and Sustainability สร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ เน้นให้พนักงานผู้ปฏิบัติมีความเข้าใจเรื่องการดำเนินงานที่สอดคล้องกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี การประเมินความเสี่ยงอย่างเหมาะสม (Governance, Risk และ Compliance หรือ GRC) พร้อมกับพัฒนาการดำเนินธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

รองรับวิกฤตและผลกระทบด้วย  4R’s  

เริ่มตั้งแต่

Resilience สร้างความยืดหยุ่นพร้อมดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สร้างความปลอดภัยให้พนักงาน ประเมินสุขภาพองค์กร ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น จัดความสำคัญของโครงการลงทุน ตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ และรักษาสภาพคล่อง

 Restart เตรียมความพร้อมในการนำธุรกิจ พนักงาน ลูกค้าและคู่ค้า กลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด และรักษาความสามารถทางการแข่งขัน

 Re-imagination ในขณะเดียวกันต้องเตรียมออกแบบธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดเป็น Next normal ทั้งธุรกิจเดิม

 New S-Curve และ Reform พร้อมปฏิรูป จัดโครงสร้างองค์กรและธุรกิจให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคตและพร้อมรองรับทุกสถานการณ์อันไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้อีกทุกเมื่อ

ทั้งหมดคือแนวทางในการฝ่าวิกฤตนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคม ธุรกิจ พฤติกรรมของผู้บริโภค สู่บริบทใหม่หรือ New Normal ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายอย่างยิ่งของประเทศไทย รวมถึง กลุ่ม ปตท. ด้วย

และเขาคาดหวังว่า พนักงานจะเข้าใจการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เช่นกัน   

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online