นกแอร์ล้มละลาย เปิด 10 เรื่องน่ารู้ก่อน สายการบินนกแอร์ ยื่นฟื้นฟูกิจการ (วิเคราะห์)
ในสถานการณ์ปกติธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ก็สาหัสแล้วจากการแข่งขันกันของตลาดที่รุนแรง แต่ละสายการบินต้องแข่งกันสาดโปรโมชั่นดึงลูกค้าให้มาใช้บริการ
มาตอนนี้ สถานการณ์แบบนี้ สาหัสยิ่งกว่า “นกแอร์” สายการบินของไทยที่เพิ่งก้าวเข้าสู่ปีที่ 16 ได้ไม่นาน ถึงกับต้องยื่นต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการแล้วเมื่อวานนี้ (30 ก.ค. 63)
และนี่คือ 10 เรื่องของ “นกแอร์” ที่ Marketeer หยิบมาให้รู้แบบเข้าใจง่าย
1. “นกแอร์” สายการบินราคาประหยัดก่อตั้งขึ้นเมื่อ ก.พ. 2547 ในชื่อบริษัท สกาย เอเชีย จํากัด ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท สายการบินนกแอร์ จํากัด” เมื่อปี 2549
2. “พาที สารสิน” คือผู้ก่อตั้ง และเป็นผู้บุกเบิกในยุคแรกเริ่ม และเป็นซีอีโอคนแรกตั้งแต่ปี 2547 ก่อนที่จะลงจากตำแหน่งในปี 2560
3. หลังจากที่ ‘พาที สารสิน’ ลงจากตำแหน่งซีอีโอ ในช่วงเกือบ 3 ปีหลังจากนั้นก็เปลี่ยนผู้บริหารมาทุกปี ไล่ตั้งแต่ “ปิยะ ยอดมณี” เป็นซีอีโอได้ไม่ถึงปีก็ลาออก และแต่งตั้ง “ประเวช องอาจสิทธิกุล” รักษาการแทน และซีอีโอคนปัจจุบันคือ “วุฒิภูมิ จุฬางกูร”
การเปลี่ยนแปลงหัวเรือใหญ่ถี่ขนาดนี้สะท้อนให้เห็นอีกหนึ่งปัญหาที่นกแอร์กำลังเผชิญคือ ปัญหาภายในองค์กร
4. ก่อนที่นกแอร์จะยื่นฟื้นฟูกิจการ ก่อนหน้านี้ “นกสกู๊ต” ที่เป็นสายการบินร่วมทุนระหว่างนกแอร์ และสายการบินสกู๊ตของสิงคโปร์ ก็ได้ประกาศเลิกกิจการเช่นกัน
โดยให้เหตุผลว่า มาจากความยากลำบากในการขยายเส้นทาง และสภาวะแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูง รวมถึงความท้าทายจากวิกฤตการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง
และในครั้งนั้น นกแอร์ ระบุว่า การเลิกกิจการของนกสกู๊ตนั้นไม่มีผลต่อการดำเนินงานของนกแอร์แต่อย่างใด
อ่าน: “นกสกู๊ต” พ่ายพิษโควิด-19 ประกาศเลิกกิจการ
5. แม้นกแอร์จะมีการเพิ่มทุนอยู่บ่อยครั้ง แต่ทว่ายังลดการขาดทุนไม่ได้ และจำนวนผู้ใช้บริการ รวมทั้งเที่ยวบินก็ยังลดลง
ปี 2560
จำนวนผู้โดยสาร 8.78 ล้านคน
จำนวนเที่ยวบิน 67,811 เที่ยวบิน
ปี 2561
จำนวนผู้โดยสาร 8.86 ล้านคน
จำนวนเที่ยวบิน 67,228 เที่ยวบิน
ปี 2562
จำนวนผู้โดยสาร 8.25 ล้านคน
จำนวนเที่ยวบิน 61,881 เที่ยวบิน
6. ส่วนรายได้นกแอร์ 4 ปีย้อนหลังพบว่าขาดทุนอย่างต่อเนื่อง
ปี 2559
รายได้รวม: 16,938.32 ล้านบาท
ขาดทุน: 2,795.09 ล้านบาท
ปี 2560
รายได้รวม: 20,376.71 ล้านบาท
ขาดทุน: 1,854.30 ล้านบาท
ปี 2561
รายได้รวม: 19,740.23 ล้านบาท
ขาดทุน: 2,786.76 ล้านบาท
ปี 2562
รายได้รวม: 19,969.12 ล้านบาท
ขาดทุน: 2,051.39 ล้านบาท
7. 30 ก.ค. 63 คืออีกวันประวัติศาสตร์ของสายการบินนกแอร์ ที่ตัดสินใจยื่นฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง โดยศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ เป็นคดีดำ ฟฟ 21/2563 ส่งผลให้สายการบิน นกแอร์ อยู่ในสภาวะพักการชําระหนี้ (Automatic Stay) ตามมาตรา 90/12
ทั้งนี้ศาลนัดไต่สวนคดีในเดือน ต.ค. นี้
และ ณ 31 มี.ค. 63 นกแอร์มีหนี้สินต่อเจ้าหนี้หลายรายรวมกันถึง 26,522,203,418 บาท
อ่าน: Really Really Cool สตาร์ทอัพเล็ก ๆ ในยุคโควิด-19 ของพาที สารสิน
8. เหตุผลในการฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ นกแอร์ ระบุว่า ไม่ได้มีจุดหมายที่จะเลิกกิจการ แต่ต้องการดำเนินกิจการต่อไป
เพราะปัญหาในปัจจุบันของบริษัทฯ ไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจ แต่เกิดจากปัจจัยหลายประการรวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจทั้งในประเทศและทั่วโลก
9. แนวทางเบื้องต้นของการฟื้นฟูกิจการของนกแอร์คือ
– การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อแก้ไขหนี้สินที่มีอยู่ให้สร็จ
– การบริหารจัดการกิจการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและสามารถชำระหนี้ได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ เช่น ปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบินและปรับฝูงบิน การปรับปรุงกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์และความสามารถในการหารายได้ การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร ปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
10. นกแอร์ นับเป็นสายการบินของไทยรายที่ 2 ที่ยื่นขอฟื้นฟูกิจการตามหลังสายการบินแห่งชาติ “การบินไทย” ที่ยื่นขอฟื้นฟูกิจการไปเมื่อ พ.ค. ที่ผ่านมา
การที่ นกแอร์ล้มละลาย อาจหมายถึงการล่มสลายของสายการบินต้นทุนต่ำก็เป็นได้
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของนกแอร์ 4 อันดับแรกคือ
1. หทัยรัตน์ จุฬางกูร
2. ณัฐพล จุฬางกูร
3. ทวีฉัตร จุฬางกูร
4. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



