ตลาดอสังหาฯ ปีนี้อยู่ในฝันร้าย จากการเริ่มส่อแววซบเซาจากมาตรการปล่อยสินเชื่อของรัฐที่เข้มงวดมากขึ้นในปีที่ผ่านมา และมาซ้ำเติมด้วยโควิด-19 ในปีนี้
สิ่งเหล่านี้บีบให้กราฟการเติบโตของธุรกิจอสังหาฯ ที่เคยสดใสดิ่งหัวลงถึงจุดต่ำสุด จนเกิดการชะลอตัวของโครงการต่าง ๆ พร้อมอัตราโอเวอร์ซัปพลายของตลาดที่ล้นตลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพราะคนซื้ออสังหาฯ 100 คน จะจ่ายเงินสดเพียง 20% และขอสินเชื่อ 80%
ซึ่งสัดส่วนการขอสินเชื่อจะโดนตีกลับประมาณ 40%
ส่วนปีนี้ตลาดอสังหาฯ จะเป็นอย่างไร
วสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร บอกกับเราในงาน Marketeer Live Forum ครั้งที่ 19 ตอนจับตลาดอสังหาฯ 64 โอกาสอยู่ตรงไหนว่า ปี 2564 ตลาดอสังหาฯ ยังคงไม่สดใส แต่ก็ถือว่าไม่หดหู่ ถ้ามองเห็นโอกาสและการปรับตัว เพราะอสังหาฯ ยังคงเป็นปัจจัยสี่ที่มนุษย์ยังมีความต้องการ
อะไรคือ 3 เช็กลิสต์สร้างโอกาสในธุรกิจอสังหาฯ ประกอบด้วย
1. Search for Under Supply Areas
การมองตลาดอสังหาฯ ไม่ควรมองภาพรวมเท่านั้น แต่ควรมองตลาดเป็นเซกเมนต์และพื้นที่ทำเล เพราะตลาดนี้ไม่ได้โอเวอร์ซัปพลายทุกพื้นที่ และบางพื้นที่ยังมีโอกาสที่เข้าสร้างยอดจำหน่ายใหม่ ๆ จากดีมานด์ของผู้บริโภคในพื้นที่นั้น ๆ ได้
สิ่งที่สำคัญที่สุดของผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาฯ คือทำเลที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีจำกัด และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ที่ดินแพงขึ้น ซึ่งการที่ที่ดินแพงขึ้นทำให้ราคาจำหน่ายอสังหาฯ เพิ่มขึ้นตามมา
จากนโยบายผังเมืองกรุงเทพฯ ใหม่ที่จะบังคับใช้ในปีหน้า ทำให้ที่ดินในหลายพื้นที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์พัฒนาเป็นพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยเพิ่มอีกเป็นจำนวนมาก และทำให้ผู้พัฒนาโครงการมีทำเลทางเลือกที่เพิ่มขึ้นเพื่อพัฒนาในการอยู่อาศัย
ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาฯ ต้องหาพื้นที่ที่อันเดอร์ซัปพลาย และความท้าทายคือต้องคาดการณ์ว่าอีก 2 ปีจะเป็นอย่างไร เพราะตลาดอสังหาฯ ต้องใช้เวลาประมาณปีครึ่งถึงสองปีในการพัฒนาโครงการกว่าจะสามารถนำออกมาเสนอขายได้
2. Small and Medium Size Projects
จากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่มีน้อยลง การปรับตัวของผู้ประกอบการอสังหาฯ สามารถทำได้คือการดีไซน์บ้านให้มีพื้นที่เล็กลง แต่สามารถนำพื้นที่มาใช้สอยได้เต็มประโยชน์ เพื่อทำให้ราคาจำหน่ายต่อหน่วยเข้าถึงผู้บริโภคได้เพิ่มขึ้น
3. Check Points and Exits
ธุรกิจอสังหาฯ ใช้เวลาปีครึ่งถึงสองปีในการพัฒนาโครงการ นักพัฒนาต้องมีการเช็กพอยต์ความต้องการของอสังหาฯ ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพราะความต้องการผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ
และถ้าตลาดเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ลบ ควรชะลอการลงทุนออกไปก่อน เพราะถ้าลุยไปข้างหน้าเกิดความเสียหายมากกว่า
นอกจากนี้ นายกสมาคมฯ ยังแนะนำว่าอสังหาฯ จะสามารถเติบโตไปได้ ถ้าประเทศไทยมีการปรับการขอสินเชื่อ อนุมัติวงเงินสินเชื่อจากธนาคารก่อนซื้อ ทำให้เกิดความสะดวกสบายและลดความเสี่ยงของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ