ถ้าพูดถึงกลุ่มบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ที่คนทั่วไปรู้จักกันเป็นอย่างดี หนึ่งในนั้นคงมีชื่อของยูนิลีเวอร์อย่างแน่นอน

ทุกวันคนทั่วโลกใช้สินค้าของยูนิลีเวอร์กว่า 2,500 ล้านคน โดยมีจำหน่ายใน 190 ประเทศทั่วโลก ปี 2017 มียอดขายรวมทั้งสิ้น 53.7 พันล้านยูโร

ในจำนวนนี้มีทั้งหมด 13 แบรนด์ที่ทำรายได้เกิน 1 พันล้านยูโร ได้แก่ Axe ,Dove, Wall’s, Hellmann’s, Knorr, Lipton, Lux, Magnum, OMO, Rama, Rexona, Sunsilk และ Surf ปัจจุบันยูนิลีเวอร์มีพนักงานทั้งสิ้น 169,000 คน

สำหรับในเมืองไทยยูนิลีเวอร์ดำเนินธุรกิจมาแล้ว 85 ปี โดยเมื่อปีก่อนได้มีการประกาศเปลี่ยนตัวประธานกรรมการบริหารจาก สุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ มาเป็น โรเบิร์ต แคนเดลิโน (Robert Candelino)

เหตุผลที่ผมเพิ่งออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งมาแล้ว 1 ปี เป็นเพราะผมต้องการทำความเข้าใจกับตลาด และภาพรวมขององค์กรเสียก่อน

ยูนิลีเวอร์
โรเบิร์ต แคนเดลิโน ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ในประเทศไทย

โรเบิร์ตซึ่งกำลังจะทำงานกับยูนีลีเวอร์ครบ 21 ปี ในเดือนมิถุนายนที่กำลังจะถึงนี้ เป็นชาวแคนาดาที่พ่อแม่ได้อพยพมาจากอิตาลี โดยเริ่มแรกโรเบิร์ตทำงานที่สำนักงานในเมืองโตรอนโต ดูแลในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเส้นผมทั้งหมด 6 ปี ก่อนที่จะย้ายไปชิคาโกดูเรื่องผมอีก 2 ปี

จากนั้นจึงได้เข้าไปทำยังสำนักงานใหญ่ที่ลอนดอน เพื่อดูแลการทำตลาดสินค้ากลุ่มผิวและผม ประเทศกำลังพัฒนาอย่างเอเชียและแอฟริกา และย้ายไปทำตำแหน่งเดิมแต่อยู่ที่อเมริกาแล้วถึงได้มาประจำการที่ไทย

โรเบิร์ตบอกว่าสิ่งที่ต้องทำในเมืองไทย คือ การต้องทำให้แบรนด์ที่เป็นตำนาน สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไปอย่างมั่นคง

สำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเมืองไทยนั้นเขาบอกว่า จะล้อไปตามกลยุทธ์ระดับโลกนั้นคือการนำแผนการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2010 โดยแบรนด์ที่สร้างเพื่อวิถีชีวิตที่ยั่งยืน (Sustainable Living Brands) เติบโตเร็วกว่า 50% เมื่อเทียบกับส่วนธุรกิจอื่น ๆ และคิดเป็นสัดส่วน 60% ของการเติบโตโดยรวม

การนำแผนดังกล่าวมาใช้ มีเป้าหมายหลักๆด้วยกัน 3 ข้อได้แก่ 1.ต้องการช่วยคนหนึ่งพันล้านคนมีสุขภาพดีขึ้น, 2.ต้องการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมลง 50% และ 3.ทำให้คนมีชีวิตเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ยูนิลีเวอร์

ซึ่งในไทยนั้นได้นำแผนที่ว่ามาปรับใช้ตั้งแต่เมื่อ 7 ปีก่อน ซึ่งช่วยผลักดันให้ยูนิลีเวอร์เป็นผู้นำตลาดใน 7 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวกาย ผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างจาน ผลิตภัณฑ์โจ๊ก ผลิตภัณฑ์ไอศกรีม และผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกาย

ปัจจุบันยอดขายของยูนิลีเวอร์แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆได้แก่ Beauty and Personal Care 40%, Home Care 39% และ Foods and Ice Cream

จากผลสำรวจในเมืองไทย เราพบว่า 99% ของ 24.7 ล้านครัวเรือนในประเทศไทยใช้ผลิตภัณฑ์ยูนิลีเวอร์ โดยมีอัตราการซื้อซ้ำสูงถึง 99% และใช้ผลิตภัณฑ์ยูนิลีเวอร์ 3 ครั้งต่อวัน

แม้วันนี้คนส่วนใหญ่จะใช้สินค้าของยูนิลีเวอร์ แต่นั้นดูเหมือนจะไม่เพียงพอสำหรับโรเบิร์ต สิ่งที่เขาต้องการคือการเข้าไปหาผู้บริโภคอีก 1% ที่เหลือ

นี่จึงกลายเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้โรเบิร์ตได้ประกาศเป้าหมาย “Unilever Thailand 2022 Growing Together” โดยมุ่งขยายตลาดในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งยูนิลีเวอร์เป็นผู้นำตลาด และเพิ่มอัตราการบริโภค (Penetration Rate) ให้เติบโตมากขึ้น

ยูนิลีเวอร์

ด้วยแผนการพัฒนานวัตกรรมสินค้าที่ตอบสนองความต้องการใหม่ๆ พร้อมโครงการต่างๆที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค และลดกระทบต่อสิ่งแวดล้อมพร้อมสร้างการเติบโตทางธุรกิจ โดยนำกลยุทธ์ 3Ps มาใช้ ประกอบด้วย Purpose People และ Performance

1.Purpose การสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างมีเป้าหมาย ผ่านการทำโครงการต่าง ๆ ทั้ง โครงการ คนอร์โจ๊ก School Program ที่ตั้งเป้าสร้างพฤติกรรมให้เด็กไทยให้มากกว่า 4 ล้านคนรับประทานอาหารเช้า ทุกวันภายในสิ้นปี 2018 โดยมีนักเรียนเข้าร่วมโครงการแล้วทั้งสิ้นกว่า 3.4 ล้านคน ใช้งบประมาณแล้วกว่า 50 ล้านบาท  และในปีนี้จะเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 10, โครงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวความคิดขยะเป็นศูนย์คืนสู่ธรรมชาติ, โครงการร้านติดดาวและโครงการพี่ติมวอลล์หรือ I’m Wall’s เป็นต้น

2.People เติมคุณค่าให้บุคลากร โดยมุ่งหวังให้เกิดทั้งความสุขในการทำงานและความผูกพันกับองค์กรแบบยั่งยืน แก่พนักงาน

3.Performance ศักยภาพทางธุรกิจขององค์กร การพัฒนานวัตกรรมในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการใหม่ ๆ ของผู้บริโภคภายใต้แผนการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน

ปีนี้สิ่งที่ยูนิลีเวอร์จะลงทุนจะมีอยู่ 2 เรื่องหลักๆ เรื่องแรกคือพนักงาน 100% จะต้องผ่านการเทรนนิ่ง รวมไปถึงการส่งพนังงานให้ไปสัมผัสประสบการณ์ การทำงานในสำนักงานต่างประเทศ เรื่องที่ 2 จะเป็นการซัพพอร์ตแบรนด์ ในการทำให้มีสินค้าใหม่ๆออกมาอยู่เรื่อยๆ โดยสินค้าจะเน้นลักษณะที่เหมาะกับคนไทยมากขึ้น โดยจะใช้วัสถุดิบที่มาจากท้องถิ่น

ยูนิลีเวอร์

อย่างไรก็ตามถึงจะเป็นแบรนด์ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค แต่ยูนิลีเวอร์ก็ยังมีความท้าทายหลายเรื่องซึ่งเป็นโจทย์ให้โรเบิร์ตต้องขบคิด

โรเบิร์ตบอกว่าความท้าทายคือ การต้องก้าวให้ทันผู้บริโภคที่ต้องการอะไรใหม่ๆ และแตกต่างกว่าเดิมโดยมีสิ่งที่มากระทบกับพฤติกรรม ทั้งสื่อที่เปลี่ยน คนดูทีวีน้อยลง รีเทลเปลี่ยนไปมีช่องทางที่หลากหลาย ความต้องการความชอบที่ไม่เหมือนเดิม อีกทั้งยังมีสังคมและการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ที่สำคัญนอกเหนือจากพฤติกรรมผู้บริโภคแล้ว การเปลี่ยนแปลงของร้านค้าก็ต้องตามให้ทัน เพราะในอดีต 30-40 ปีร้านส่วนใหญ่เป็นโชห่วยที่อยู่ในชุมชนต่างๆ แต่ในปัจจุบันร้านสะดวกซื้อกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วเนื่องจากถูกจริตกับผู้บริโภคที่ไม่ได้ใช้ชีวิตแพทเทิร์นแบบเดิมๆแล้ว

แม้จะมีความท้าทายหลายข้อ แต่ด้วยความที่เราเป็นผู้นำตลาด สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือการทำให้เค้กก่อนนี้ใหญ่ขึ้น ซึ่งตลาดเมืองไทยเป็นตลาดที่หลายๆบริษัทอยากเข้ามา หากทั้งนี้ก็ไม่ง่ายด้วยหลายๆปัจจัย แต่ในมุมมองของยูนิลีเวอร์ก็เชื่อว่ายังมีโอกาสมหาศาล

ซึ่งถ้าจะถามว่าโอกาสมาจากไหน ทั้งๆที่สินค้าหลายกลุ่มมีอัตราการบริโภคที่เกือบเต็มแล้ว ซึ่งจริงๆยังสามารถไปต่อได้อีก ด้วยการทำสินค้าที่มีคุณประโยชน์ใหม่ๆ หรือแพลตฟอร์มใหม่ ซึ่งเหล่านี้เป็นการทำตลาดปรกติของเจ้าตลาดอยู่แล้ว

ซึ่งทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ โรเบิร์ตจะทำให้เกิดขึ้นในยูนิลีเวอร์และคงต้องร่วมกันติดตามต่อไปว่าสิ่งที่เค้าคาดหวังจะเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน

ยูนิลีเวอร์

อ่าน Marketing Content อ่าน Marketeer



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online