หลังจากได้ร่วมงาน Media Briefing เจาะลึกรายงานความยั่งยืนประจำปี 2563 ของ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด ที่บอกเล่าการทำงานที่ครอบคลุมถึงห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด ภายใต้หัวข้อ ‘การสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริงได้’ (อ่านได้ที่ Link)

Marketeer ให้ความสนใจกับ โครงการ BECARE ‘กล่องยูเอชที รีไซเคิลได้’ ที่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่ประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ผู้ประกอบการรีไซเคิล ผู้รณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชน และหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น (ทั้งเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล) โดยมี เต็ดตรา แพ้ค เป็นหนึ่งในแกนหลัก

โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของผู้ผลิตกล่องเครื่องดื่ม อย่าง บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด ผู้ประกอบการรีไซเคิล คือ บริษัท ไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด และผู้สนับสนุนภาครัฐ อย่างกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”

ปฏิญญา ศิลสุภดล ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของหนึ่งในโครงการที่มีความสำคัญมากที่สุดในการสร้างความตระหนักรู้ถึงทางเลือกในการจัดการทิ้งขยะ และเกิดเป็นความร่วมมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและกิจกรรมเพื่อสังคม พร้อมให้ข้อมูลตลอดการดำเนินงาน 4 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการขับเคลื่อนขยายเข้าสู่เฟสที่ 5 และทิศทางการดำเนินการต่าง ๆ ในเชิงลึกของโครงการ

สร้างความตระหนักรู้ พร้อมจับมือพันธมิตร
สานต่อสู่ความร่วมมือทุกภาคส่วน

โครงการ BECARE ดำเนินการโดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่นและภาคเอกชน เริ่มจากการลงนามข้อตกลงในการจัดกิจกรรม เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดกลไกการจัดเก็บกล่องยูเอชทีอย่างยั่งยืนในแต่ละพื้นที่

นอกจากความร่วมมือกันของผู้ผลิตกล่องเครื่องดื่ม ผู้รีไซเคิล ภาครัฐแล้วนั้น ยังมีกลุ่มกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมกล่องวิเศษ ลงพื้นที่ทำกิจกรรมกับหน่วยงานท้องถิ่น สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกล่องเครื่องดื่มยูเอชที กระบวนการจัดเก็บและการรีไซเคิลอย่างเหมาะสม เพื่อลดขยะและเพิ่มอัตราการรีไซเคิล โดยร่วมกับหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น อาทิ เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัดและตำบล ที่มีแนวนโยบายการจัดการขยะสอดคล้องกับแนวทางการรีไซเคิลของเต็ดตรา แพ้ค ในการสร้างการรับรู้และผลักดันให้มีการจัดตั้งจุดรับกล่องเครื่องดื่มในชุมชนของหน่วยงานพันธมิตร เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระยะยาวในการจัดเก็บรวบรวมกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วอย่างยั่งยืน”

คุณปฏิญญา กล่าวเสริมถึงการดำเนินการและกิจกรรมต่าง ๆ โดยโครงการ BECARE ได้จัดทีมให้ความรู้ รณรงค์ และประสานงานกับเจ้าหน้าที่ ผู้นำชุมชน หรือกลุ่มตัวแทนพื้นที่ ให้สร้างกระบวนการจัดเก็บ คัดแยกกล่องกลับเข้าสู่โรงงานรีไซเคิล

พร้อมทั้งยังมีการมอบรางวัลเกียรติบัตรให้แก่ภาคีเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานรณรงค์การจัดเก็บกล่องยูเอชทีเพื่อการรีไซเคิล สร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้ปฏิบัติงานที่ได้ทำกิจกรรมการดูแลสิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอีกด้วย

“การร่วมมือกันของพันธมิตรในแต่ละภาคส่วน ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญของโครงการ ทั้งจากหน่วยงานท้องถิ่น ภาครัฐและเอกชนที่ได้ประสานความร่วมมือกัน เพื่อผลักดันให้เกิดกลไกการจัดเก็บกล่องยูเอชทีอย่างยั่งยืนในแต่ละพื้นที่ สร้างความสำเร็จของงาน ส่งผลให้เกิดการลดปริมาณขยะ เปลี่ยนจาก ‘ขยะ’ ให้เป็น ‘วัสดุรีไซเคิล’

โดยมีผลเป็นตัวเลขจัดเก็บกล่องที่ชี้วัดได้ เมื่อเป้าหมายหลักของโครงการ คือลดขยะและเพิ่มการรีไซเคิล ดังนั้น ยิ่งมีความร่วมมือจากหลายองค์กร หลายพื้นที่ ก็จะยิ่งเห็นผลที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เกิดตัวอย่างความสำเร็จที่ช่วยผลักดันโครงการให้ขยายต่อยอดเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง” 

ความสำเร็จเกินคาดหมาย ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา

“บอกตามตรงว่าในช่วงแรกเราตั้งเป้าโครงการไว้แค่ 6 เดือน เป็นช่วงทดลอง แต่ปรากฏว่าสามารถเก็บกล่องที่ใช้แล้วได้ถึง 80 ตัน นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ยอดเยี่ยมให้เราสานต่อโครงการต่อไป”

ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน เต็ดตรา แพ้คฯ ย้อนถึงเฟสแรกของโครงการเมื่อปี 2559 ที่เป็นแรงผลักดันให้ทีมดำเนินโครงการและขยายผลอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งตลอดระยะเวลา 4 ปี ของการดำเนินโครงการ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 จนถึงครึ่งปี 2563 ในพื้นที่เป้าหมายโครงการ 13 จังหวัด สามารถจัดเก็บกล่องยูเอชทีได้จำนวนกว่า 230 ล้านกล่อง หรือกว่า 2,302 ตัน เพื่อนำสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกต้อง

“โครงการนี้เริ่มได้รับความสนใจอย่างมากจากสาธารณชนในช่วงปี 2561 จากการเปิดตัวแคมเปญรับบริจาค BeCare Be Kind Book for the Blind พี่มีกล่อง น้องขอนะ’ เปลี่ยนกล่องยูเอชทีในมือเป็นกระดาษทำสื่ออักษรเบรลล์ อุปกรณ์ทางการศึกษาให้แก่นักเรียนผู้มีความบกพร่องทางสายตา โดยเมื่อสิ้นสุดโครงการในปีที่ผ่านมา สามารถรวบรวมกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วได้มากกว่า 975 ตัน หรือประมาณ 97,500,000 กล่อง และนำไปผลิตเป็นแผ่นกระดาษสำหรับพิมพ์ตัวอักษรเบรลล์มากกว่า 1,000,000 แผ่น (2,000 รีม) เพื่อส่งมอบให้แก่โรงเรียนผู้พิการทางสายตา 13 แห่งทั่วประเทศ”

ก้าวต่อไปสู่ BECARE เฟสที่ 5
หนึ่งกล่องยูเอชที สร้างสิ่งดีดีได้มากมาย’

ปัจจุบัน ‘โครงการกล่องยูเอชที รีไซเคิลได้’ ได้ขยายเข้าสู่เฟสที่ 5 มีระยะเวลาตั้งแต่เดือน สิงหาคม 2563 ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2564 โดยตั้งเป้าขยายโครงการไปสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ในพื้นที่เดิม ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่กิจกรรมใหม่ (ขยายพื้นที่จากจังหวัดเดิม) และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคีความร่วมมือของโครงการ ผ่านแนวคิด ‘หนึ่งกล่องยูเอชที สร้างสิ่งดีดีได้มากมาย’ เพื่อเป็นกลยุทธ์ในการกระตุ้นความมีส่วนร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขยายการรับรู้เกี่ยวกับการรีไซเคิลกล่องยูเอชที

“ด้วยความร่วมมือที่แข็งแรงขึ้น และมีความตระหนักรับรู้ในสังคมมากขึ้น เราเลยตั้งเป้าไว้ว่าปีหน้าเราจะเก็บให้ได้มากที่สุด โดยตั้งเป้าในการรวบรวมกล่องยูเอชทีให้ได้อย่างน้อย 1,100 ตัน หรือประมาณ 110,000,000 กล่อง และสามารถผลิตกระดาษที่รีไซเคิลจากกล่องยูเอชทีในโครงการได้จำนวนประมาณ 2,500 รีม เพื่อส่งมอบให้แก่ 13 โรงเรียนสอนคนตาบอดทั่วประเทศได้ต่อไป”

สานต่อคำมั่นสัญญาปกป้อง ทุกคุณค่า™’

ผู้ก่อตั้งได้ใส่ความยั่งยืนมาใน DNA ของเราตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท เราได้ดำเนินการด้านความยั่งยืนมาโดยตลอดและต่อเนื่อง และทุกอย่างที่ทำในบริษัทหลายสิบปีมาแล้ว จนถึงอีก 20 ปีข้างหน้าเราก็ยังมุ่งมั่นในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่วัตถุดิบ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การออกแบบระบบในการผลิตบรรจุภัณฑ์และผลิตเครื่องดื่ม ไปจนถึงการรณรงค์คัดแยกบรรจุภัณฑ์เพื่อรีไซเคิลได้”

ที่ผ่านมา เต็ดตรา แพ้ค ยึดมั่นในความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมที่มีความรับผิดชอบและแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน สอดคล้องกับคำมั่นสัญญาของบริษัทที่ว่า ‘ปกป้อง ทุกคุณค่า™’ (PROTECTS WHAT’S GOOD™) ซึ่ง คุณปฏิญญาบอกว่า นี่คือปรัชญาสำคัญที่ใช้เป็นกำลังใจและแรงผลักดันสำคัญในการประสานงานและผลักดันโครงการนี้ต่อไป

เต็ดตรา แพ้ค มีวัตถุประสงค์ในการ ‘ปกป้อง ทุกคุณค่า™’ เริ่มตั้งแต่การปกป้องการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใส่ในกล่องของเรา ไปจนถึงการปกป้องผู้คนและปกป้องโลก

โครงการ BECARE เป็นส่วนหนึ่งของการปกป้องโลกที่เราพยายามผลักดันอยู่ ในส่วนนี้เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด และลดผลกระทบต่อความสมดุลของระบบชีวภาพทั้งหมด รวมถึงในเรื่องของการหมุนเวียนนำทรัพยากรมาใช้ใหม่ ซึ่งทั้งหมด เป็นองค์ประกอบสำคัญของการปกป้องโลกนั่นเอง”

ผอ.ฝ่ายความยั่งยืน เต็ดตรา แพ้ค ยังเผยถึงความคาดหวังในอนาคตว่า อยากเห็นความร่วมมือในวงกว้างขึ้น เพื่อให้คนไทยมีคนที่พร้อมจะสร้างและปรารถนาดีที่จะให้การจัดการขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้นในหลายหน่วยงาน หลายเครือข่าย และอยากให้แต่ละเครือข่ายมีการร่วมแรงร่วมใจกัน เพื่อขยายผลจนกระทั้งสามารถทำได้ทั่วประเทศ

เรามุ่งหวังอยากให้บรรจุภัณฑ์ประเภทกล่องเครื่องดื่มยูเอชที สามารถนำกลับมารีไซเคิลและใช้ประโยชน์ได้เยอะที่สุด และมั่นใจว่าวันหนึ่งประเทศไทยเราจะเป็นศูนย์กลางของ AEC ในด้านนี้ได้อย่างแน่นอน หากได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน ซึ่ง เต็ดตรา แพ้ค ยินดีจะเป็นแกนหลักในการประสานงานและผลักดันในทุกภาคส่วน

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online