กรุงไทย จากรัฐวิสาหกิจ สู่การเป็น ‘ธนาคารพาณิชย์ของรัฐบาล’ ในยุคของ ‘ผยง ศรีวณิช’

ก่อนที่จะเห็นทิศทางธุรกิจของ “กรุงไทย” ในปี 2564 ว่าจะเดินไปอย่างไรในวันที่ธนาคารไม่ได้อยู่ในสถานะ “รัฐวิสาหกิจ” อีกต่อไป

“ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ย้ำชัดให้ฟังอีกครั้งว่า การพ้นสภาพรัฐวิสาหกิจของธนาคารกรุงไทยนั้น ไม่มีอะไรแตกต่างจากเดิม ‘กรุงไทย’ ยังคงวางตัวเป็น ‘ธนาคารพาณิชย์ของรัฐบาล’

ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รูปแบบไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นสาระสำคัญ

เพราะกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 55% แบบนี้มานานกว่า 30 ปีแล้ว

และยืนยันว่าหลังจากการพ้นสถานะรัฐวิสาหกิจ กรุงไทยจะไม่มีการปลดคนออก

ย้อนกลับไปในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ในยุคที่ ผยง เพิ่งขึ้นมารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ต่อจาก วรภัค ธันยาวงษ์ ที่หมดวาระไป

เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาสานต่อยุทธศาสตร์เดิมที่วรภัคเคยวางไว้ไม่ได้เปลี่ยนแปลง

แต่เพิ่มเติมคือการโฟกัสทิศทางให้ชัดเจน และปรับเปลี่ยนให้เร็วขึ้น

เขายังบอกว่า ยังมีความท้าทายในหลายมิติทั้งของอุตสาหกรรมการเงิน พฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงสิ่งที่ต้องเร่งทำคือการลงทุนด้านไอที

เพราะธุรกิจการเงินการธนาคารต่างต้องแข่งขันกัน ต้องปรับตัวไม่ให้โดนดิสรัปชั่น กรุงไทย เองที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจในเวลานั้น ก็วางตัวเองต้องแข่งขันกับแบงก์พาณิชย์ใหญ่ 4 เจ้ามาตลอด

ในวันนี้แม้เขาจะรู้ดีและยอมรับว่า เรื่องของเทคโนโลยีของกรุงไทย ตามหลังแบงก์อื่นอยู่ 5 ปี

เลยถึงเวลาที่กรุงไทยต้องสัดสินใจจะเดินต่อไปทิศทางไหน เพราะเชื่อว่าดิสรัปชั่นมาแน่ๆ และจะช้ากว่านี้ไม่ได้

กรุงไทยตัดสินใจเดินยุทธศาสตร์แบบคู่ขนานพัฒนาโมบายแบงก์กิ้งกับโอเพ่นแบงก์กิ้งไปพร้อมๆ กัน

กรุงไทย

แม้จะตามหลังแบงก์เจ้าอื่นอยู่หลายปี แต่การมาที่หลังก็ไม่ได้เสียเปรียบเสมอไป พยงมองว่า ข้อดีคือกรุงไทยซื้อเทคโนโลยีมาในราคาที่ถูกกว่า

แต่ข้อเสียก็คือ พนักงานในองค์กรไม่คุ้นชิน และกระบวนการในธนาคารที่ล้าหลัง

จากที่เคยให้บริการอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งในชื่อแอปฯ เคทีบี เน็ตแบงก์ กรุงไทยยกเครื่องใหม่ในปี 2561 ปรับโฉมเป็นอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งที่ทันสมัยมากกว่าเดิมในชื่อ “Krungthai NEXT”

เดือนที่ผ่านมาเปิดตัวอินฟินิธัส บาย กรุงไทย พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่สู้ศึกในสนามดิจิทัล

นอกจากต้องปรับตัวในเรื่องเทคโนโลยีให้ทันสมัย สิ่งที่กรุงไทยทำในช่วงที่ผ่านมาคือ การพาตัวเองเข้าไปแทรกอยู่ในชีวิตของผู้คนเชื่อมดิจิทัลแบบ Omni Channel

โฟกัสลูกค้าต่างจังหวัดเพราะฐานลูกค้าของกรุงไทยที่มีอยู่ในมือส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด

กรุงไทยยุคใหม่ เร่งสลัดภาพเก่า ทุ่มเรื่องไอทีเพื่อก้าวสู่สงคราม Mobile Banking อย่างเต็มตัว

จุดแข็งเดียวที่กรุงไทยใช้สู้กับแบงก์พาณิชย์เจ้าอื่นๆ ได้นั้นคือ การเป็นแบงก์ของรัฐ มีลูกหลักคือรัฐบาล

ที่กรุงไทยเดินไปพร้อมกับโครงการต่างๆ ของรัฐบาล ที่กรุงไทยได้ประโยชน์จากการมีดาต้า ต่อยอดไปสู่บริการใหม่ๆ และเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ให้กับธนาคาร

ส่วนทิศทางในปีหน้า กรรมการผู้จัดการใหญ่ในวัย 52 ปี ตั้งเป้าต้องพา “กรุงไทย” ฝ่าวิกฤตพายุเศรษฐกิจ และโควิด-19 ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด

ผยง ระบุว่า กรุงไทยจะยังคงขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แบบ “2 Banking Model” คือ กลยุทธ์แบบเรือบรรทุกเครื่องบิน พัฒนาธุรกิจเดิมของธนาคาร

และกลยุทธ์เรือเร็ว มุ่งเน้นการทำงานแบบเร็ว กระชับ ทำงานแบบ agile ให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกรูปแบบ

ภายใต้ 5 เสาหลักคือ

1.ประคองธุรกิจหลักให้ต่อเนื่องและมีคุณภาพ ดูแลหนี้ NPL ให้มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งประคองลูกค้าหนี้ที่มีอยู่ให้รอด

2.สร้างธุรกิจใหม่ บนรูปแบบของเรือสปีดโบ๊ท เปลี่ยนรูปแบบการให้บริการไปสู่การขายให้ได้ เช่น คอลเซ็นเตอร์ การทวงติดตามหนี้ ประเมินหลักทรัพย์ต่างๆ ด้วยการเปลี่ยนเซอร์วิสให้เป็นเซลล์ เพิ่มรายได้ให้มากขึ้น

3.ใช้กระดาษให้น้อยที่สุด ปรับตัวให้อยู่บน digitalization ปรับกระบวนการประเมินสินเชื่อด้วยการเอา AI มาใช้มากขึ้น

4.ยึดโยงการทำธุรกิจกับคู่ค้าของลูกค้าแบบดิจิทัล จากกลยุทธ์ X2G2X ยึดภาครัฐเป็นศูนย์กลาง ขยายต่อไปยังลูกค้ากลุ่มอื่น ด้วยการหาพันธมิตร สร้างนวัตกรรมต่างๆ ร่วมกัน

5.กรุงไทยเคียงข้างไทยสู่ความยั่งยืน ด้วยการปฏิรูปวัฒนธรรมองค์กร Reskill และ Upskill ปรับรูปแบบการทำงานเพื่อให้เข้าถึงชุมชน

สำหรับความท้าทายในอนาคต ผยง ระบุว่า โควิด-19 จะทำให้การฟื้นตัวในอุตสาหกรรมไม่เท่าเทียมกัน เศรษฐกิจปีหน้าการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐจะยังเป็นตัวขับเคลื่อน ที่ต้องเบิกจ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

เพราะฉะนั้นภาพรวมปีนี้และปีหน้า ผยง บอกว่า  ไม่ใช่ปีแห่งการทำกำไร

แต่เป็นปีที่ต้องรักษาเสถียรภาพ ตอนนี้ต้องประคองหนี้เอ็นพีแอล ดูแลลูกค้าเก่าให้รอด โดยกรุงไทยจะยังคงตั้งสำรองหนี้สูงไปยังปีหน้า เพราะยังมีความไม่แน่นอนสูง

 

– ปี 2564 กรุงไทยตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 3%

– สัดส่วนหนี้ NPL ปีนี้คาดว่าอยู่ที่ราวกว่า 4% 1.08 แสนล้านบาท และจะคุมไม่ให้เกิน 5%

– การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญของกรุงไทยจะอยู่ที่ 125-130% ใกล้เคียงกับปี’63

– กรุงไทยตั้งเป้าลดต้นทุนทางการเงินให้อยู่ที่ระดับ 32-35% เพื่อให้แข่งขันได้

 

 

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online