หากใครอายุ 30 ปีอัพ เชื่อว่าต้องรู้จักหรือเคยใช้บริการร้าน Tsutaya เช่าม้วนเทปหรือแผ่นหนัง CD ไปนอนดูที่บ้านแบบฟินๆ

โดยย้อนอดีตกลับไป Tsutaya เข้ามาในเมืองไทยในช่วงปี 2537 ด้วยการที่ตระกูลพละพงษ์พาณิช ได้ขอซื้อแฟรนไซส์จากบริษัท คัลเจอร์ คอนวีเนี่ยน คลับ จำกัด (มหาชน) โดย ณ เวลานั้นเป็นต้องบอกว่า “มาถูกทาง” เพราะธุรกิจร้านเช่า – ซื้อ วีดีโอ ณ เวลานั้นเป็นความบันเทิงราคาถูกแค่ 30 บาทก็สามารถดูหนังทั้งครอบครัว และตรงนี้เองที่ทำให้ทั้ง แมงป่อง,Tsutaya โกยเงินตุงกระเป๋า

ย้อนรอย โดมิโน่Tsutaya ในไทย

โดยเฉพาะ Tsutaya ที่ ณ เวลานั้นขยายสาขาอย่างรวดเร็วภายใน 3 -4 ปีมีถึง 120 สาขาทั่วประเทศและมีสมาชิกมากกว่า 770,000 คน แต่แล้วฝันร้ายก็มาถึง

“เมื่อความบันเทิงราคาถูก แพ้ทางของฟรีในโลกออนไลน์” ในยุคที่ผู้ชมทิ้งแผ่น DVD แล้วหันไปเสพ Content หนังและเพลงแบบฟรีๆ ทั้งในรูปแบบ load bittorrent ดูผ่านเว็บไซต์,และ Youtube ตรงนี้เองที่ทำให้แม้แต่ยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Blockbuster เองต้องล้มละลายปิดทั้ง 3,000 สาขาที่อยู่ในมือ พร้อมกับผันตัวเองไปสู่การขายในรูปแบบ Digital

ไม่ต่างกับ Tsutaya ในไทยที่ทยอยปิดสาขาทั้งหมดลงอย่างรวดเร็วเหมือน “โดมิโน่” ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยในยุค Digital life

3 เหตุผลที่คนญี่ปุ่นยอมจ่าย

คำถามคือแล้วทำไม Tsutaya ต้นตำรับอย่างในประเทศญี่ปุ่นกลับยังสามารถมีลมหายใจอยู่แม้จะไม่หวือหวาเหมือนอย่างในอดีต แต่ Tsutaya ก็ยังมีคนญี่ปุ่นเดินเข้าออกใช้บริการอย่างถี่ยิบ

จากโอกาสที่ Marketeer ได้เดินทางสำรวจ Tsutaya ในจังหวัด มิยาซากิ ในประเทศญี่ปุ่นจำนวน 3 สาขา ต้องบอกว่ายังเห็นคนญี่ปุ่นจำนวนมากที่ยังซื้อ-เช่า แผ่น DVD เพลงและภาพยนตร์ รวมถึงแมกาซีนแฟชั่น,และหนังสือการ์ตูน

ซึ่งสิ่งที่พูดมาเหล่านี้ล้วนกลายเป็นสินค้าที่รอนับวันถึงจุดจบหรือบางสินค้าก็หายสาบสูญไปแล้วจากในเมืองไทยอาทิ ร้านซื้อ – เช่าแผ่น DVD แทบจะไม่มีให้เห็น,สำนักพิมพ์ยิ่งใหญ่อย่าง วิบูลย์กิจ หยุดพิมพ์หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นที่ในอดีตเคยสร้างรายได้มหาศาล,ส่วนแมกาซีนแฟชั่นในบ้านเราก็ล้มหายตายจากไปหลายฉบับ

คำถามคือแล้วทำไมคนญี่ปุ่นไม่หันหลังให้ความบันเทิงดั้งเดิมแล้วมุ่งสู่การรับชมในโลกออนไลน์แบบเต็มตัว อันดับแรกสุดคือค่าครองชีพที่สูงเพราะรายได้สตาร์ทของเด็กจบปริญญาตรีที่ญี่ปุ่นคิดเป็นเงินไทยอยู่ที่ 80,000 บาท/เดือน (ไม่รวม OT ที่มีเกือบทุกบริษัท) เพราะนั้นการซื้อหรือเช่าแผ่นหนัง,แมกกาซีน,หนังสือการ์ตูน ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 80 – 1,000 บาท (250 – 2500 เยน ราคาเฉลี่ยทั้งในรูปแบบเช่าและซื้อขาด) เพราะฉะนั้นการซื้อ DVD หนังและเพลง ถือเป็นสินค้าความบันเทิงราคาถูกสำหรับคนญี่ปุ่น

ข้อต่อมาการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงและภาพยนตร์ในประเทศญี่ปุ่นมีโทษที่รุนแรง อีกทั้งทางผู้ผลิตจำหน่ายแผ่น DVD, Blu Ray มีการรวมตัวกันเป็นองค์กร Association of Copyright for Computer Software เป้าหมายก็เพื่อจัดการขบวนการแผ่นเถื่อนและพวกเว็บไซต์ดูฟรีและเว็บไซต์โหลดไฟล์ปล่อยบิท

สุดท้ายที่ถือเป็นความแข็งแกร่งที่สุดนั้นคือ ความเชื่อของคนญี่ปุ่นที่ว่าความบันเทิงทุกชนิดต่างมีต้นทุนทางความคิด เพราะนั้นหากอยากให้มี Content คุณภาพเสพไปเรื่อยๆ ในอนาคตก็ควรที่จะสนับสนุนสินค้าที่ถูกลิขสิทธิ์

ถึงจะอยู่ รอดแต่ก็ต้องปรับตัว

แม้พฤติกรรมคนญี่ปุ่นจะยอมจ่ายกับสินค้าที่ถูกลิขสิทธิ์ แต่ก็ใช่ว่า Tsutaya จะไม่ปรับตัวเองมาสู่โลกยุคดิจิตอล ด้วยการมีขายสินค้าออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ https://tsutaya.tsite.jp/ รวมไปถึงไม่ได้หยุดแค่ธุรกิจ เช่า – ซื้อ ภาพยนตร์, หนังสือการ์ตูน,แผ่นเพลง แต่ยังขยายไปสู่ธุรกิจขายแผ่นเกมทั้ง Playstation 4, Nintendo และเกมอื่นๆ,รวมไปถึงบางสาขาก็มี Smartphone วางขายอยู่ด้วย

รวมไปถึงการเปิดและปรับปรุงร้านให้ดูทันสมัยมากขึ้นเพราะฐานลูกค้าหลักของ Tsutaya คือกลุ่มคนอายุ 20 – 35 ปี ทำให้บางสาขามีโซน City Library ห้องสมุดสุดเริ่ด ขณะเดียวกันก็ยังมีแพลตฟอร์มร้านรูปแบบใหม่ๆในประเทศญี่ปุ่นที่มุ่งไปสู่ธุรกิจค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้า ภายใต้ชื่อ Tsutaya Electrics

แต่ที่ต้องตามดูกันต่อไปยาวๆ นั้นคือ Tsutaya ในญี่ปุ่นจะยืนหยัดรักษาความแข็งแกร่งของตัวเองที่ทำธุรกิจมานาน 32 ปี มีสาขาๆ 1,000 สาขาในประเทศญี่ปุ่นได้อีกนานแค่ไหน ?

ตัวชี้วัดความอยู่รอดนั้นอยู่ที่ไลฟ์สไตล์และความเชื่อของผู้บริโภคญี่ปุ่นว่าจะยอมก้าวไปสู่โลกความบันเทิงออนไลน์ ในยุคที่ภาพยนตร์และเพลงสามารถรับชมผ่านออนไลน์, การ์ตูนมังงะอ่านผ่านแอพพลิเคชั่น

ทั้งหมดที่กล่าวมาคือ สินค้าราคาถูกจนไปถึงของฟรี ที่กำลังถูกจริตของคนเกือบทั่วโลก

เรื่อง : ฉลองศักดิ์ สุขใจธรรม

 

 

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online