หมอปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ “ฝัน” อยากเป็นเจ้าของเครื่องบินตั้งแต่เด็กๆ
ในเวลาต่อมา ฝันก็เป็นจริง เขาไม่ได้เป็นแค่เจ้าของเครื่องบิน แต่เป็นเจ้าของฝูงบินของสายการบิน บางกอกแอร์เวย์ส ด้วย
หมอปราเสริฐ ยังเป็นเจ้าของความคิดในการเอาแดด และหาดทรายของเกาะสมุย ไปตั้งสำนักงานขายบนถนนชองป์เอลิเซ่ กลางกรุงปารีส ศูนย์รวมนักท่องเที่ยวเกรดเอจากทั่วโลก เมื่อปี 2532
เป็นสายการบินที่เริ่มต้นสร้างความแตกต่างของจุดขายด้วยการเปิดเส้นทางบินใหม่ๆ ในภูมิภาคเอเชียให้โลกรู้จัก เช่นการเข้าไปเปิดเส้นทางบินในกัมพูชา พม่า และบางมณฑลของจีน ที่ไม่เคยให้ต่างชาติรายใดเข้าไปมาก่อน
ถึงจะต้องใช้เงินในการโปรโมท และใช้ระยะเวลาในการคืนทุน แต่ก็ทำให้ บางกอกแอร์เวย์ส เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว
วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 น่าจะเป็นฝันร้ายครั้งใหญ่ครั้งแรก ในขณะที่ราคาเงินบาทดิ่งลงเหว บางกอกแอร์เวย์สจะทะยานขึ้นท้องฟ้าได้ ก็ต้องจ่ายค่าเช่าครื่องบิน ค่าน้ำมัน ค่าประกันภัย เป็นดอลลาร์ทั้งหมด
หนักจนแทบจะหยุดบิน
หลังจากนั้นก็เจอวิกฤตของวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 หรือ 9/11 ปัญหาโรคซาร์ส ไข้หวัดนก แต่ละเหตุการณ์คนแทบร้างสนามบิน
แต่ก็ฝ่าฟันมาได้
จนกระทั่งในปี 2546 เกิดสายการบินโลว์คอสหลายสาย เกิดสงครามราคารุนแรงต่อเนื่อง
คำว่า “บูทีคแอร์ไลน์” คือคอนเซ็ปต์ที่ถูกชูขึ้นมาเพื่ออัพเกรดตนเองฉีกออกมาจากสายการบินโลว์คอสทั่วไปในช่วงเวลานั้น
ปี 2550 ยังคงแกร่งบางกอกแอร์เวย์ส รายได้ทะลุ 10,000 ล้านบาทเป็นครั้งแรก พร้อมกับเร่งสปีดสุดกำลัง แผนสยายปีก “บางกอก แอร์เวย์ส” สู่การเป็นผู้นำสายการบินในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง
ปี 2562 บางกอกแอร์เวย์ส ทำรายได้ทะยานขึ้นไปถึง 29,417 ล้านบาท สูงที่สุดตั้งแต่ทำธุรกิจมา 51 ปี
แต่ถ้าย้อนกลับไปดูผลประกอบการของบริษัทใน 5 ปี ที่ผ่านมาจะพบว่าในขณะที่รายได้จากธุรกิจสายการบินแต่ละปีเฉลี่ยอยู่ที่ 27,000-29,000 ล้านบาท แต่กำไรลดลงทุกปี จาก 1,768 ล้านบาท เมื่อปี 2559 ลดลงเหลือ 350 ล้านบาท เมื่อปีที่แล้ว
อาการหนักขึ้นไปอีกเมื่อ 9 เดือนแรกของปีนี้ รายได้ดิ่งลดลงถึงเหลือเพียง 9,611 ล้านบาท ขาดทุนสูงถึง 4,882 ล้านบาท
ปัญหาหลักสำคัญที่สุดมาจากการแข่งขันกันอย่างหนัก ทำให้เกิดสงครามราคาอย่างรุนแรง ทั้งในเส้นทางการบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ การแข็งค่าของเงินบาท และล่าสุดวิกฤตโควิด-19 ที่มีการปิดประเทศ นักท่องเที่ยวไม่มีและสายการบินต้องหยุดบิน
ถึงแม้ตอนนี้หลายเส้นทางในประเทศกลับมาบินเหมือนเดิม แต่แน่นอนว่ายังไม่ถึงจุดคุ้มทุนได้ง่ายๆ จนกว่าจะสามารถเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศ ซึ่งไม่รู้เมื่อไหร่
วันนี้ ภายใต้การบริหารของลูกชายคนโต “กัปตันเต๋” พุฒิพงศ์ เลยเร่งหารายได้ใหม่ๆ ไว้รองรับ เช่นลงทุนในธุรกิจครัวการบิน ธุรกิจบริการภาคพื้น ธุรกิจคลังสินค้า
และที่สำคัญ คือการเป็นเจ้าของสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก อภิมหาโปรเจ็กต์ล่าสุดที่ร่วมทุนกับทาง “บีทีเอส” และ “ซิโน-ไทย” ซึ่งเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่กว่ากิจการของสายการบินอย่างมากและคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างเฟสแรกใด้ในเดือน ธ.ค.2564
ถ้าเป็นไปได้ตามแผนภายใน 5 ปี ก็น่าจะเริ่มมีรายได้เข้ามา
ก็ต้องรอลุ้นว่า บางกอกแอร์เวย์ส จะฝ่าวิกฤตครั้งนี้ต่อไปได้อย่างไร จึงจะทำให้ “ฝันร้าย” ของหมอปราเสริฐ กลายเป็นดี
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

