SME Think Tank/ดร. เกษม พิพัฒน์เสรีธรรม

เป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติและพยายามผลักดันรูปแบบจำลองเศรษฐกิจ BCG ซึ่งหากทำได้สำเร็จก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตยั่งยืนต่อไป

เรามาทำความรู้จักโมเดลเศรษฐกิจ BCG กันก่อนว่ามันหมายถึงอะไร

หลายคนเห็นตัวย่อ BCG แรก ๆ อาจจะนึกไปถึง BCG Matrix ที่เป็นเครื่องมือในการวางกลยุทธ์บริหารธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ในเครือข่าย ตามที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Portfolio Management เครื่องมือนี้คิดค้นและเผยแพร่ในปี ค.ศ. 1970 โดย Bruce D. Henderson ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก Boston Consulting Group ที่ตัวย่อว่า BCG เหมือนกัน ผมคงไม่ให้รายละเอียดในทฤษฎีหรือเครื่องมือตัวนี้เพราะเคยเขียนมาหลายครั้งและเข้าใจว่าท่านผู้อ่านหลายท่านคงรู้จักกันดีแล้ว

BCG (Bio-Circular-Green) เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ที่ต่อยอดมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลในการพาประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 โดยตั้งเป้าหมายว่าภายใน 5 ปี GDP ของประเทศจะเป็น 4.3 ล้านล้านบาท รวมทั้งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG) ขององค์การสหประชาชาติด้วย

B (Bio) เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เป็นการนำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาพัฒนาต่อยอดจากฐานความเข้มแข็งเดิม เช่น ทรัพยากรชีวภาพหรือผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ประเทศไทยมีทรัพยากรชีวภาพสูงเป็นอันดับ 6 ของโลกหรือประมาณ 40 ล้านตันต่อปี สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การพัฒนาน้ำตาลให้เป็นผลิตภัณฑ์อื่นที่มีมูลค่าสูงขึ้น เป็นต้น

C (Circular) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าที่สุด ที่สำคัญคือการไม่มีของเสียหรือการลดปริมาณของเสียให้น้อยลงหรือเท่ากับศูนย์ในกระบวนการผลิต ด้วยการปรับกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การนำของเสียจากการผลิตกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น

G (Green) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้เอนไซม์จากจุลินทรีย์เพื่อการฟอกกระดาษ การใช้สารชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืชทดแทนการใช้สารเคมี เป็นต้น

เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งก่อนที่จะเกิดโรคระบาด Covid-19 และจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขึ้นหลังการระบาดของโรคร้ายนี้ ทั้งเทคโนโลยี การค้าระหว่างประเทศ และการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงกลุ่มแรงงานที่มีแนวโน้มจำนวนลดลง การเตรียมรับมือจึงเป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลได้พยายามผลักดันเศรษฐกิจแบบใหม่ที่ต้องเป็นระบบที่ใช้ความรู้ การจัดการ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือการมีระบบเศรษฐกิจที่ค่อนข้างส่งผลทางเศรษฐกิจ และปรับเปลี่ยนได้รวดเร็ว

ปัจจุบันรัฐบาลวางแผนให้โมเดลนี้ครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็น S-Curve ทั้งหมด 4 อุตสาหกรรม ได้แก่

1. อุตสาหกรรมอาหารและเกษตร (Food and Agriculture) ภาคเกษตรเป็นภาคเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่ผ่านมาแม้ว่าจะผลิตได้มากแต่สร้างมูลค่าได้น้อย เกษตรกรยังมีฐานะความเป็นอยู่ที่ไม่ดี รัฐบาลต้องพยายามผลักดันเกษตกรรุ่นใหม่ที่เรียกกันว่า Smart Farmer ใช้เทคโนโลยีและการตลาดนำการผลิต รู้จักใช้งานวิจัยจากสถาบันการศึกษาพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ รู้จักนำผลิตผลทางการเกษตรมาผลิตเป็นอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีตลาดกว้างและมูลค่าสูง เช่น อาหารเสริมหรืออาหารสำหรับคนเฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ เป็นต้น

2. อุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพ (Bioenergy, Biomaterial, Biochemical) รัฐบาลได้ผลักดันเรื่องนี้มาเป็นเวลาพอสมควรและตั้งเป้าหมายให้มีการผลิตและใช้พลังงานที่ทดแทนได้ 30% ในอีก 15 ปีข้างหน้า รัฐบาลต้องมุ่งพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีที่จะช่วยสร้างพลังงานทดแทน เช่น Biomass และ Biogas จากวัสดุในภาคการเกษตร และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น Bioplastic เป็นต้น

3. อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ (Medical and Wellness) ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในเรื่องความสามารถของบุคคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน หากได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังในการวิจัยพัฒนาสมุนไพรเป็นยาเพื่อการป้องกันมากกว่ายาเพื่อการักษาโรค รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน และยาต่าง ๆ รวมทั้งการพัฒนาเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น การท่องเที่ยวและโรงแรมสำหรับผู้สูงวัยหรือมีปัญหาทางสุขภาพ

4. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Tourism and Creative Economy) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมีชื่อเสียงในเรื่องความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยว วัฒนธรรม อาหารการกิน แหล่งชอปปิ้ง ทำเงินเข้าประเทศมหาศาล แต่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการให้สามารถสร้างประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน รวมทั้งพัฒนาต่อยอดเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อาหาร และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น

กลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ต้องพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถเพื่อเป็นพลังผลักดันตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้แก่

  1. กลุ่มผู้ประกอบการใหม่ (Startups)
  2. กลุ่มผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprises)
  3. กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ (Smart Farmers)
  4. กลุ่มผู้ประกอบการที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยี (Technology Developers)
  5. กลุ่มผู้ประกอบการด้านสร้างสรรค์ (Creative Entrepreneurs)

สำหรับการกระจายงบประมาณเพื่อพัฒนาตามภาคต่าง ๆ ได้มีแนวทางในการพัฒนาดังนี้

  1. ภาคเหนือ (Northern Economic Corridor-NEC) เป้าหมายหลักคือการพัฒนาการเกษตรและอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยเน้นสร้างเอกลักษณ์ล้านนา (Lanna Culture) ในผลิตภัณฑ์และบริการทุกด้าน
  2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (North-Eastern Economic Corrido-NEEC) เป้าหมายหลักคือพัฒนาด้านโภชนาการและการสาธารณสุขเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชากร เช่น การพัฒนาอาหารโปรตีนจากแมลง เป็นต้น รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อขยายตลาดและเชื่อมโยงกับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง
  3. ภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor-EEC) เป้าหมายหลักคือการพัฒนาเพิ่มมูลค่าให้ผลไม้เพื่อการส่งออก และอุตสาหกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น อุตสาหกรรมการบิน ปิโตรเคมี ฯลฯ
  4. ภาคใต้ (Southern Economic Corridor-SEC) เป้าหมายหลักคือการพัฒนาอาหารฮาลาล และเกษตรกรรม รวมทั้งการท่องเที่ยวเมืองรองและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้โมเดลนี้ดำเนินไปได้ คือเรื่องของคน ทั้งความพร้อม ความรู้เรื่องเทคโนโลยี เงินทุนสำหรับการพัฒนา กฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ภาษี โครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ บุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา โรงงานต้นแบบ สถาบันหรือหน่วยงานที่ควบคุมและติดตามคุณภาพ รวมทั้งเครือข่ายต่างประเทศในด้านการวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี

สำหรับผู้ประกอบการ SME อย่ามองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว หรือติดยึดกับความคิดเดิม ๆ ว่าหากเปลี่ยน รัฐมนตรีหรือรัฐบาลเรื่องเหล่านี้อาจจะเปลี่ยนไปหรือไม่ได้ทำ เพราะไม่ว่าการเมืองบ้านเราจะไปอย่างไร (มีคุณภาพอย่างไร) การพัฒนาตามแนวทางนี้ เดินต่อแน่นอน หากไม่ทำก็แน่นอนว่าตามไม่ทันประเทศอื่น ๆ ผู้ประกอบการรายใหญ่ ๆ เขาทำกันมาหลายปีแล้วครับ เช่น กลุ่มซีพี เอสซีจี เป็นต้น

มาดูตัวอย่างการพัฒนาสินค้าผ้าไทยสู่ตลาดโลกตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของสำนักส่งเสริมการค้าสินค้าไลฟ์สไตล์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นที่ปรึกษาและดำเนินการอบรมเชิงลึกให้กับผู้ประกอบการเป้าหมายจำนวน 13 บริษัท ในเรื่องวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การออกแบบผลิตภัณฑ์ การตลาด เพื่อมุ่งขายให้กับตลาดเป้าหมายใน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นระบบเศรษฐกิจแบบปิด มุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรให้มีการหมุนเวียนในระบบ ลดของเสีย นำกลับมาใช้ใหม่ พัฒนาวัตถุดิบใหม่ การออกแบบสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าและขยายตลาด

ผลสำเร็จของโครงการ เกิดการพัฒนาวัตถุดิบใหม่ เช่น ใช้ใบตองตึงมาเคลือบยางพาราให้มีลักษณะคล้ายแผ่นหนัง การใช้เส้นใยสับปะรดที่เป็นของเสียจากภาคเกษตรมาแปรรูปเป็นผืนผ้า การใช้เส้นใยกัญชงที่ปราศจากยาฆ่าแมลงมาทอผ้า

การลดของเสีย เช่น การนำเศษผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บมาทอแทรกให้เกิดผ้าผืนใหม่ที่มีลวดลายและผิวสัมผัสที่แตกต่างจากเดิม การใช้เส้นใยรีไซเคิลจากขวดพลาสติก PET เป็นต้น

การเพิ่มมูลค่า เช่น การนำเสื้อผ้าเก่าสภาพดี (เสื้อผ้ามือสอง) หรือเสื้อผ้าค้างสินค้าคงคลัง มาเพิ่มลวดลายกราฟิกด้วยการพิมพ์

แม้แต่ผู้ประกอบการ OTOP อย่างกลุ่มฮักคราม ก็ได้พัฒนาเปลี่ยนของเสียจากการผลิตมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นการผลิตใหม่ โดยนำเศษผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บเสื้อผ้า และเศษผ้าจากหัวม้วนผ้าผืนที่เหลือจากการทอ นำมาแยก เรียงสี แล้วนำไปทอใหม่ เกิดเป็นผ้าใหม่ที่มีผิวสัมผัสและลวดลายต่างจากเดิม ทั้งยังไม่ต้องผ่านกระบวนการฟอกย้อมสีอีก ทำให้ลดการใช้ทรัพยากร ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผ้าที่ได้สามารถนำไปออกแบบสร้างสรรค์เป็นเสื้อผ้า กระเป๋า และของใช้อื่น ๆ เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์เป็นอย่างมาก

ความสำเร็จไม่ได้มาเพราะโชคหรือรัฐบาลช่วยอย่างเดียว พื้นฐานของความสำเร็จคือตัวผู้ประกอบการที่รู้จักปรับตัว ยอมรับและเรียนรู้เทคโนโลยี แนวทางใหม่ ๆ รวมทั้งการมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน

I-



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online