ไทยเวียตเจ็ท ทำไมสายการบินนี้จึงไม่หยุดบินแม้เกิดวิกฤตโควิด (วิเคราะห์)
ธุรกิจสายการบินที่เวลานี้โดนกระทบไม่ต่างกัน มีทั้งต้องหยุดบิน ลดพนักงาน ลดเงินเดือน
แต่ “ไทยเวียตเจ็ท” ที่ทำตลาดในไทยมา 5 ปี แต่คนรู้จักเพิ่มขึ้นเพราะโควิด-19 เพราะช่วงที่เกิดหนัก ๆ ไทยเวียตเจ็ตไม่เคยหยุดบิน
แล้วปีที่ผ่านธุรกิจการบินเป็นอย่างไร
ข้อมูลจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ CAAT ระบุว่า
จำนวนผู้โดยสารของปี 2563 ไทยมีการขนส่งผู้โดยสารทั้งหมด 58.25 ล้านคน ลดลงจากปีที่
ผ่านมา 64.7% แบ่งเป็น
– ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 16.25 ล้านคน ลดลง 81.7%
– ผู้โดยสารภายในประเทศ 42 ล้านคน ลดลง 44.9%
ขณะที่ในไตรมาส 4 จำนวนผู้โดยสารภาพรวมลดลงเหลือ 14.30 ล้านคน
แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศเริ่มคลี่คลาย และเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยว รวมทั้งผลของมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศของรัฐทำให้มีจำนวนผู้โดยสารภายในประเทศเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา
แต่ช่วงปลายปีเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารภายในประเทศลดลงจากเดือน พ.ย. เล็กน้อย
ขณะที่ในปีนี้มุมมองของไทยเวียตเจ็ทมองว่า สถานการณ์เริ่มกลับมาดีขึ้น
ส่วนจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาแค่ไหนก็ขึ้นอยู่การเปิดประเทศที่เริ่มเห็นไทม์ไลน์จากรัฐบาลที่ประกาศให้ต่างชาติเข้ามาเป็นเฟส ๆ ไป
แล้วถ้าให้เทียบแค่เฉพาะไตรมาส 4/63 สายการบินไหนครองมาร์เก็ตแชร์ในแง่จำนวนผู้โดยสารมากที่สุด
ข้อมูลจาก CAAT ยังระบุสถิติอีกว่า สายการบินสัญชาติไทยที่มีการขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางบินภายในประเทศแบบประจำมีกำหนดมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
1. ไทยแอร์เอเชีย
ขนส่งผู้โดยสารจำนวน 4.97 ล้านคน คิดเป็น 35.7%
2. ไทยเวียตเจ็ท
ขนส่งผู้โดยสารจำนวน 2.41 ล้านคน คิดเป็นสัด 17.3%
3. นกแอร์
ขนส่งผู้โดยสารจำนวน 2.23 ล้านคน คิดเป็น 16.0%
ทั้งนี้ไตรมาส 4 สนามบินดอนเมือง คือสนามบินที่มีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการมากที่สุด 4.02 ล้านคน รองลงมาคือสนามบินสุวรรณภูมิ 2.85 ล้านคน
“ไทยเวียตเจ็ท” อีกหนึ่งสายการบินโลว์คอสของไทยที่ร่วมทุนกับเวียดนาม เข้ามาทำตลาดในไทยได้ 5 ปี
ตอนนี้มีแม่ทัพคนไทยอย่าง ‘วรเนติ หล้าพระบาง’ อดีตหัวเรือใหญ่ของไทยสมายล์ ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ 7-8 เดือน
วรเนติ เล่าให้ฟังว่า ไทยเวียตเจ็ททำตลาดในไทยมา 5 ปี แต่คนรู้จักมากขึ้นเพราะช่วงโควิด-19 ที่แม้สายการบินอื่นจะหยุดให้บริการชั่วคราวแค่ไหน
แต่ไทยเวียตเจ็ทตั้งแต่เกิดโควิด-19 ในช่วงแรกๆ จนถึงตอนนี้ยังไม่เคยหยุดบิน และไม่ลดพนักงานออก แต่มีการปรับลดเงินเดือนบ้าง
เขามองว่าโควิด-19 ช่วย set zero ที่เขาบอกว่ามีอยู่ 2 เหตุผลที่ยังไทยเวียตเจ็ทยังบินในช่วงโควิด-19 คือ
1. หน้าที่ ที่คอยให้บริการลูกค้าที่แม้จะมีดีมานด์น้อยก็ตาม
2. โอกาส ที่ทำให้ไทยเวียตเจ็ทมีส่วนแบ่งการตลาดขยับขึ้นจากอันดับ 5 มาอยู่อัน 2 ในแง่จำนวนผู้โดยสาร
จุดแข็งคือความคล่องตัว และเล็ก รวมทั้ง ‘กล้า’ ที่แม้เจอกับสถานการณ์โควิด-19 เราเจ็บแต่ก็ไม่เจ็บหนักมากเหมือนสายการบินอื่น
ทิศทางในปีนี้จะโฟกัสรูทในประเทศมากขึ้น จากที่แต่ก่อนให้ความสำคัญกับเส้นทางระหว่างประเทศ
ปัจจุบันมีเส้นทางบินในประเทศ 14 เส้นทาง และระหว่างประเทศ 17 เส้นทาง (เวียดนาม ไต้หวัน จีน)
มีไฟลต์บิน 140 ไฟลต์ต่อวัน
และจะเพิ่มรายได้จากช่องทาง non-flight มุ่งทำดิจิทัลเซอร์วิส มีขายตั๋วที่พัก ของที่ระลึก บริการต่าง ๆ ที่มากกว่าขายแค่ตั๋วโดยสาร
ที่เร็ว ๆ นี้ ไทยเวียตเจ็ท จะนำชานมไข่มุก “บราวน์” ที่มีกลุ่ม crg ถือหุ้น มาให้บริการบนเครื่องด้วย
จากที่มีฝูงบิน 11 ลำ ก่อนโควิด-19 ปีที่ผ่านมาเพิ่มฝูงบินอีก 4 ลำ ส่วนปีนี้เปิดปีมารับแล้ว 1 ลำ และจะเพิ่มอีก 9 ลำ ภายในปีนี้
สำหรับจำนวนผู้โดยสารปีที่ผ่านมีจำนวน 3 ล้านคน ปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่กว่า 7 ล้านคน
-ชาวไทย 5 ล้านคน
-ชาวต่างชาติ 2 ล้านคน
ที่ในวันนี้วรเนติบอกว่า แม้โลว์คอสแอร์ไลน์จะแข่งกันด้วย volume ที่ต้องทำราคาถูก แต่ตอนนี้ไม่ใช่การแข่งขันระหว่างสายการบินด้วยกันเองแล้ว
แต่แข่งขันกันด้วยประเทศ ที่ประเทศไหนจะเปิดรับนักท่องเที่ยวหรือมีมาตรการก่อนกัน
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ