“ประมาณ 5-6 ปีก่อนผมไปเห็นกล้วยหอมทองวางขายเป็นลูก ๆ ในเซเว่นอีเลฟเว่น เฮ้ย! ลูกเดียวราคาตั้ง 9 บาท ถ้าหวีหนึ่งประมาณ 15 ลูก ไม่ปาไปประมาณ 135 บาทหรือ

ในเมื่อผมขายอยู่ที่หวีละประมาณ 30 กว่าบาท ราคาลูกละ 2-3 บาทเท่านั้น

เมื่อผมถามน้องพนักงาน เขาก็บอกว่าขายดีหมดเกือบทุกวัน”

ผมก็มาคิดว่าคงเป็นเพราะความสะดวก  รับประทานง่าย ไม่ต้องเดินเข้าไปหาซื้อในตลาด หิ้วไปหิ้วมา แล้วก็ทานไม่หมด ต้องทิ้งอยู่ดี

เป็นความคิดของลูกค้าที่เปลี่ยนไป 

ต้องเอากล้วยหอมทองมาวางขายในเซเว่นฯ ให้ได้ นั่นคือสิ่งที่ ภักดี เดชจินดา เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทองไร่ภักดี   คิดในช่วงเวลานั้น

เขาเป็นลูกชาวสวนในอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม  เมื่อประมาณปี 2538 ย้ายขึ้นไปปลูกดอกกุหลาบขายบนดอยที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก หลังจากนั้นก็ทดลองปลูกชมพู่ มะนาว และกล้วยหอมทอง ซึ่งพบว่ากล้วยเป็นพืชเกษตรที่ต้นทุนต่ำ และด้วยอากาศ ดิน และน้ำของที่นั่นทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดี

ตอนนั้นกล้วยหอมของไร่เขาส่งขายที่ตลาดในจังหวัดเชียงใหม่บ้าง ลงมาขายที่ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมืองบ้าง ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือความต้องการของตลาด และราคาไม่แน่นอน ทั้ง ๆ ที่มีของพร้อมส่งอยู่ในมือ แต่ถ้าวันนั้นกล้วยราคาไม่ดี มีผลไม้อื่นในตลาดมากมาย หรือกล้วยมีล้นตลาด พ่อค้าคนกลางก็สามารถปฏิเสธไม่ซื้อ เขาก็ต้องรีบไปหาตลาดระบายให้ทันก่อนที่จะเน่าเสีย

เป็นความเจ็บปวดที่เขาต้องเจออยู่หลายครั้ง

การพยายามติดต่อเซเว่นฯ เพื่อขอเอาเอากล้วยหอมทองมาขายเลยเกิดขึ้น

ผ่านไปนานหลายเดือนกว่าทีมงานซีพีออลล์ จะมาที่ไร่ของเขา ในช่วงเวลานั้นเซเว่นฯ กำลังหาไร่กล้วยที่มีคุณภาพดีในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อส่งขายในเซเว่นฯ พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง

เมื่อซีพีออลล์ มั่นใจในเรื่องคุณภาพของไร่ และภักดีสามารถสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องกำลังการผลิต สัญญาก็เลยเกิดขึ้น

ปี 2559 ภักดีรวบรวมผลผลิตของตัวเองและญาติ ๆ ในพื้นที่ปลูกประมาณ 40-50 ไร่ ส่งขายในเซเว่นฯ วันละประมาณ 2,500 ลูก ในเขต 2-3 จังหวัดของภาคเหนือตอนล่าง

ปัจจุบันพื้นที่รับผิดชอบของเขาขยายเป็น 9 จังหวัด คือ นครสวรรค์ ตาก กำแพงเพชร อุทัยธานี ชัยนาท พิจิตร เพชรบูรณ์ สุโขทัย และพิษณุโลก ประมาณ 600 สาขา

โดยประมาณแล้วส่งวันละ 1.5-2 หมื่นลูก จากไร่ของเขาและญาติ ๆ รวมทั้งวิสาหกิจชุมชนอีกประมาณ 10 คนรวมประมาณ 400-500 ไร่

ข้อดีของการที่ได้ขายในเซเว่นฯ คือ

ไร่ภักดีมีตลาดที่จะส่งสินค้าได้ทุกวันแน่นอน ไม่ต้องมากังวลในเรื่องการเงิน เพียงแต่ต้องรักษามาตรฐานของสินค้าไว้ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรสชาติ ขนาด และน้ำหนัก

อย่างไรก็ตาม ในช่วงโควิด-19 เขายอมรับว่ายอดการสั่งกล้วยจากสาขาต่าง ๆ ของเซเว่นฯ ลดลง โดยเฉพาะในช่วงนี้รวม ๆ แล้วประมาณ 30%

“ที่ยอดมันลดเพราะบางสาขาคนอาจจะเดินน้อยลงและกำลังซื้อหลัก ๆ หายไป เช่น ครู นักเรียน หรือคนทำงานที่บ้านมากขึ้น รวมทั้งช่วงนี้เป็นหน้าผลไม้ที่มีให้เลือกมากมายด้วย”

ยอดสั่งกล้วยแต่ละสาขาถูกรวบรวมเข้ามาในตอนเช้าของทุก ๆ วัน แต่กล้วยที่จะส่งวันนี้คือสิ่งที่เขาต้องเตรียมไว้ล่วงหน้า 3 วัน เพื่อให้สุกพอดี

ดังนั้น ถ้ายอดสั่งกล้วยของวันนี้น้อย ส่วนที่เหลือต้องหาทางบริหารจัดการ เช่น เอาไปขายในตลาดนัด ส่งให้พ่อค้าออนไลน์ หรือโรงงานแปรรูป

แต่อย่างไรก็ตาม ทางไร่ยังมีสาขาของเซเว่นฯ เป็นที่ส่งขายหลัก ๆ อยู่แล้ว

วันนี้ ความฝันที่จะได้เอากล้วยหอมทองไปขายในเซเว่นฯ เขาทำได้แล้ว

แต่ความท้าทายต่อไปเป็นเรื่องที่ยากกว่า คือการทำอย่างไรให้อยู่รอด  ถึงแม้จะเชื่อมั่นว่ากล้วยหอมยังเป็นสินค้าที่ขายดีไปอีกนาน จากเทรนด์การเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ รับประทานง่าย อิ่มเร็ว

แต่การแข่งขันมีสูงมาก เกษตรกรรายอื่นมีการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ทำให้เขาประมาทไม่ได้เหมือนกัน

ถ้าไม่อยากถูกเทเพราะสัญญาเพียงปีต่อปี เขาต้องไม่หยุดพัฒนา

เขาย้ำว่า

ทำอย่างไรให้กล้วยมีคุณภาพ มีมาตรฐาน ก็ต้องพร้อมที่จะทำ พร้อมที่จะเรียนรู้ เพื่อให้ผลผลิตเป็นที่ถูกปาก ถูกใจ ผู้บริโภคมากที่สุด

และแน่นอนเป็นที่พอใจของเซเว่นฯ ด้วย    

 



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน