ธุรกิจสวนสัตว์ ธุรกิจที่เคยสร้างรอยยิ้มให้ผู้คน แต่วันนี้กำลังยิ้มไม่ออก กรณีศึกษา สวนเสือศรีราชา
ตอนนี้กำลังยิ้มไม่ออก เหมือนและหนักกว่าธุรกิจอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มากว่า 1 ปี
จากที่เคยมีรายได้จากการที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้กับคนในประเทศ
และสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยปีละกว่า 40 ล้านคน
ปีที่ผ่านมาจนกระทั่งตอนนี้รายได้แทบจะเป็นศูนย์ เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวไม่มา ก็เท่ากับว่ารายได้ไม่มี
แม้บางธุรกิจจะสามารถลดค่าใช้จ่าย คุมต้นทุนลงได้บ้าง แต่ “ธุรกิจสวนสัตว์” แทบจะไม่สามารถลดต้นทุนได้เลย
เพราะในวันที่ไม่มีนักท่องเที่ยว ไม่สามารถเปิดบริการได้
เจ้าของกิจการก็ยังต้องมีต้นทุนคงที่ ที่ไม่สามารถตัดทิ้งได้ในทุกวันคือ “ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงสัตว์”
ที่ยังต้องให้อาหารสัตว์ในสวนสัตว์ ต้องดูเรื่องของสุขภาพ ดูแลเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องดูแลดีเหมือนทุก ๆ วัน
รวมทั้งทรัพยากรในเรื่องของคน แม้จะดิ้นรนปรับตัวและอยากเอาตัวรอดแค่ไหน
แต่ในเมื่อ ‘ทุน’ และ ‘รายได้’ ที่จะมาหล่อเลี้ยงและทำให้ธุรกิจเดินต่อไปไม่มี ก็ต้องจำใจบอกลา เลิกกิจการกันไป
และ “สวนเสือศรีราชา” คือหนึ่งในนั้น
เพราะสัปดาห์ที่ผ่านมา “สวนเสือศรีราชา” ประกาศผ่านหน้าเฟซบุ๊กประกาศเลิกกิจการในขวบปีที่ 24 และตรงกับเดือนเมษายนที่เปิดให้บริการครั้งแรกพอดี
จากจุดเริ่มต้นของ ‘ไมตรี เต็มศิริพงศ์’ ประธานกรรมการและ ผู้ก่อตั้ง “สวนเสือศรีราชา” ที่มาจากธุรกิจเพาะเลี้ยงหมูและจระเข้ ก่อนจะก้าวสู่ธุรกิจท่องเที่ยวประเภทสวนสัตว์ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2540
รับนักท่องเที่ยวปีละไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านคน แต่เมื่อโควิด-19 เริ่มระบาดในช่วงต้นปี 2563 จวบจนตอนนี้ทำให้ไม่สามารถประครองธุรกิจต่อไปได้
ทิศทางต่อไปของสวนเสือศรีราชาจะกลับมาเปิดอีกหรือไม่นั้น บนหน้าเฟซบุ๊กของสวนเสือศรีราชาระบุว่า
ยินดีและพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอจากนักลงทุน…อาจจะเนรมิตให้เกิดแลนด์มาร์กแห่งใหม่และกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง
เพราะฉะนั้นไม่แน่ว่าในอนาคตเราก็อาจจะเห็นสวนเสือศรีราชากับแลนด์มาร์กใหม่ ๆ ก็เป็นได้
สำหรับรายได้ของสวนเสือศรีราชา (บริษัท สวนเสือ ศรีราชา จำกัด) นั้น ย้อนหลังสามปีมีดังนี้
2561
รายได้รวม 267.82 ล้านบาท
กำไร 27.28 ล้านบาท
2562
รายได้รวม 260.91 ล้านบาท
กำไร 18.74 ล้านบาท
2563
รายได้รวม 94.53 ล้านบาท
ขาดทุน 49.44 ล้านบาท
นอกจากสวนเสือศรีราชา Marketeer พาย้อนไปดูบางส่วนของสวนสัตว์ที่มีเจ้าของเป็นเอกชน วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ซาฟารีเวิลด์
ของ ‘ผิน คิ้วคชา’ ผู้บุกเบิกโครงการ “ซาฟารีเวิลด์” เมื่อปี 2531
ภายใต้ความฝันที่ยิ่งใหญ่ ว่าต้องเป็น The World of Happiness เป็นอาณาจักรแห่งความสุข ให้กับนักท่องเที่ยวทุก ๆ คนที่มาเยือน
ตลอดเส้นทาง 33 ปี บมจ. ซาฟารีเวิลด์ เต็มไปด้วยอุปสรรค เจอวิกฤตอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการเงิน โรคระบาด ภัยธรรมชาติ เหตุการณ์การเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวทั้งนั้น
ปี 2563 ยังเจอสถานการณ์โควิด-19 เข้าอย่างจังเรียกได้ว่าเป็นฝันร้ายของตระกูลคิ้วคชา
เพราะไม่ได้มีแค่สวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์ แต่ธุรกิจในมือของตระกูลคิ้วคชาล้วนแต่อาศัยรายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งนั้น
ซาฟารีเวิลด์ ของตระกูลคิ้วคชาต้องเปิด ๆ ปิด ๆ ตามมาตรการของภาครัฐ ปรับรูปแบบเปิดบริการแบบ New Normal ออกโปรโมชั่นกระตุ้นท่องเที่ยว
รวมแล้วปีที่ผ่านมาซาฟารีเวิลด์ปิดกิจการชั่วคราวรวม 105 วัน ในวิกฤตที่ต้องปิดกิจการชั่วคราว บริษัทใช้โอกาสนี้ปรับโฉมซาฟารีเวิลด์ครั้งใหญ่ไปด้วย
จากรายได้การดำเนินงานของซาฟารีเวิลด์ปี 2562 อยู่ที่ 1,095.01 ล้านบาท
ปีที่ผ่านมามีรายได้จากการดำเนินการเพียง 220.34 ล้านบาท และขาดทุน 220 ล้านบาท
สำหรับรายได้ของทั้งบริษัท ซาฟารีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) ปีที่ผ่านมามีรายได้รวม 512.22 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 655.61 ล้านบาท
สวนสัตว์พาต้า
สวนสัตว์เอกชนแห่งแรกของไทยที่อาการไม่ต่างกัน
ห้างพาต้า ปิ่นเกล้า เป็นธุรกิจของตระกูล เสริมศิริมงคล ปัจจุบันบริหารโดยทายาทรุ่นที่ 2
เปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2526 ในช่วงเวลา 10-15 ปีแรก ถือเป็นยุคฟื้นฟูที่สุดของพาต้าปิ่นเกล้า ในฐานะห้างแรกในย่านฝั่งธน
และเป็นห้างแรกที่มีลิฟต์แก้วและสวนสัตว์พาต้า ที่ถือเป็นสวนสัตว์เอกชนแห่งแรกในประเทศไทย
มีคิงคองและนกเพนกวิน พร้อมการแสดงโชว์ต่าง ๆ เป็นแม่เหล็กดึงดูดในเวลานั้น
แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป แถวปิ่นเกล้ามีห้างสรรพสินค้าเกิดใหม่ที่สามารถดึงดูดทราฟฟิกซึ่งกันและกันค่อนข้างดี
บวกกับการที่ตัวห้างพาต้าไม่ได้มีการปรับโฉมให้ทันสมัย ทำให้ทราฟฟิกของคนที่มาเดินพาต้าย่อมน้อยลง
และจำนวนสัตว์ที่มีไม่เยอะ และไม่ได้ปรับปรุงอะไร ก็ส่งผลกับสวนสัตว์พาต้าที่อยู่ชั้นบนคนย่อมมาน้อยลง
แม้จะเป็นสวนสัตว์ที่อยู่กลางเมืองก็ตาม
และยังต้องมาเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่รู้จะจบลงเมื่อไร ยิ่งสร้างฝันร้ายให้กับสวนสัตว์พาต้าเข้าไปอีก
ปีที่ผ่านมาแม้จะยังไม่เห็นข้อมูลตัวเลขรายได้ว่าเป็นเท่าไร แต่น่าจะสาหัสน่าดู
ส่วนปี 2562 สวนสัตว์พาต้า (บริษัท สวนสัตว์พาต้า จำกัด) มีรายได้ 637,444 บาท ขาดทุน 1,157,816 บาท
ธุรกิจสวนสัตว์ จะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปอย่างไร
ต้องเอาใจช่วยอย่างมาก
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ