พูดถึง Taobao เถาเป่า คนไทยอาจจะไม่คุ้นเคย แต่ถ้าพูดถึง Alibaba (อาลีบาบา) Ali Express หรือ Alipay เราก็จะ อ๋อ ทันที ว่านั่นคือธุรกิจของ มหาเศรษฐีชาวจีน Jack Ma

ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร เพราะแบรนด์ที่ขึ้นต้นด้วย Ali ทั้งหลายเข้ามาทำตลาดในไทย และเข้าหูคนไทยมากกว่า

แต่ถ้าคุณได้ไปลองใช้ชีวิตอยู่ที่จีน คุณจะพบว่า การเข้าไปซื้อสินค้าใน Taobao เถาเป่า ง่ายเหมือนเดินเข้าเซเว่น แบบนั้นเลย

Taobao เถาเป่า คืออะไร? ทำอะไรในจีน?

เปิดตัวปี 2003 Taobao.com เป็น Mobile Commerce ภายในประเทศจีน ที่ขายสินค้าของ SMEs และ คนทั่วไป ฉะนั้น International Brands ก็จะไม่ได้ขายในนี้

โดยจุดเด่นของ Taobao คือ คุณจะได้สินค้าราคาถูก เพราะซื้อจากผู้ผลิต หรือร้านค้าโดยตรง โดยปัจจุบัน Taobao ถือเป็น Mobile Commerce ที่ใหญ่ที่สุดในจีน

Taobao เริ่มให้บริการส่งของภายในวันเดียว ภายในเขตเมืองเซี่ยงไฮ้ ตั้งแต่ปี 2009 และขยายไปยังเมืองอื่นๆ

และ Taobao.com ไม่ได้ขายของเพียงอย่างเดียว แต่คอยอัพเดตเทรนด์ คอนเทนต์ ให้ผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา

สัดส่วนของ Taobao อยู่ในช่องสีฟ้า ร่วมกับ T Mall นั่นเอง

Taobao Village จุดเริ่มต้นความแข็งแกร่ง

ในปี 2009 กลุ่มคนจีนในชนบทรวมตัวกันเปิดร้านใน Taobao หรือ เรียกว่า หมู่บ้านเถาเป่า (Taobao Village) เพื่อแข่งขันใน Digital Economy ที่รัฐบาลจีนเริ่มผลักดัน

โดยหมู่บ้านแรกที่เริ่มเป็นหมู่บ้านเกษตรกรรม ชื่อว่า หมู่บ้าน Dongfeng ในเมือง Shaji จังหวัด Jiangsu โดยมีถึง 1,000 ครัวเรือน ที่ร่วมกันผลิตเฟอร์นิเจอร์ และขายในออนไลน์

ส่วนหมู่บ้านที่ 2 และ 3 อยู่ในจังหวัด Hebei และ Zhejiang ในปี 2009 … นี่คือ 3 หมู่บ้านที่รวมตัวกันขายของใน Taobao อย่างจริงจัง

หมู่บ้านเถาเป่า Taobao Village

ลักษณะของ Taobao Village
-อย่างน้อย ครัวเรือน 10% ของหมู่บ้าน ขายของบน e-commerce (Taobao) หรือ อย่างน้อยมี 100 ร้านค้าออนไลน์ ต่อหมู่บ้าน
-ยอดขายต่อปีในออนไลน์ ไม่น้อยกว่า 10 ล้านหยวน (50 ล้านบาท) ต่อ 1 หมู่บ้าน

 

ข้อดีของการรวมกัน

ลองคิดภาพตาม หากร้านค้าของคุณอยู่บน Taobao คนเดียวในหมู่บ้าน คุณอาจจะดีใจเพราะไม่มีคู่แข่ง แต่นั่นก็หมายความว่า ภาครัฐ องค์กร และคนอื่นๆ ก็จะไม่สนใจคุณเช่นกัน

ดังนั้นรัฐบาลจีน จึงสนับสนุน Digital Economy ให้ไปพร้อมกันทั้งประเทศ โดยร่วมกับภาคเอกชนอย่าง Alibaba และ JD.com ให้เข้ามาช่วยเหลือ และสอนชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้เทียบเท่าคนในเมือง

Taobao Village จึงเกิดขึ้นเพื่อให้คนในพื้นที่ก็ช่วยกัน ให้ความรู้กัน พัฒนาหมู่บ้านของตัวเอง และเติบโตไปพร้อมๆ กัน

เพราะการทำงานของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน.. ประเทศจีนถึงกลายเป็น Digital Economy ได้จริงๆ

หมู่บ้านเถาเป่า Taobao Village

 

จำนวน Taobao Villages เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในจีน

  • 2009 : 3 หมู่บ้าน ใน 3 จังหวัด
  • 2013 : 20 หมู่บ้าน
  • 2014 : 212 หมู่บ้าน
  • 2015 : 780 หมู่บ้าน
  • 2016 : 1,311 หมู่บ้าน
  • 2017 : 2,118 หมู่บ้าน ใน 24 จังหวัด

หมู่บ้านส่วนใหญ่จะอยู่ในแถบชายฝั่งทะเล โดย 69% ของเมือง อยู่ใน 3 มณฑลใหญ่ ได้แก่ เจ้อเจียง (Zhejiang), กวางตุ้ง (Guangdong) และ เจียงซู (Jiangsu)

โดยของที่ขายดี 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.เสื้อผ้า 2.เฟอร์นิเจอร์ 3.รองเท้า 4.ของตกแต่งรถยนต์ 5.กระเป๋า ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง

 

Alibaba แบ่งตลาดไว้ชัดเจน

Alibaba Group มีหลายธุรกิจมาก ทำให้พวกเขาต้องแบ่งธุรกิจให้ชัดเจน

  • Taobao เป็น e-commerce  สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก และรายย่อย ได้ขายของในจีน
  • Tmall เป็น e-commerce ที่ให้แบรนด์อินเตอร์ แบรนด์จีน เอาสินค้ามาขายในตลาดจีน
  • 1688.com เป็น e-commerce แบบค้าส่ง ในตลาดจีน
  • Aliexpress เป็น e-commerce ที่ให้คนทั่วโลก มาซื้อของจากร้านค้า และผู้ผลิตในจีน
  • Alibaba เป็น e-commerce  แบบค้าส่ง ที่ให้คนทั่วโลกได้ซื้อของ จากประเทศทั่วโลก

ธุรกิจของ Jack Ma

สำหรับผู้บริโภคในจีน หากคุณอยากซื้อของเล็กน้อย ราคาย่อมเยา ก็ไป Taobao อยากซื้อของแบรนด์เนม ก็ไป TMall เป็นธุรกิจก็เข้าไปซื้อส่งใน 1688.com

สำหรับคนต่างชาติ อยากซื้อปลีกสินค้าจีนก็ไป Aliexpress อยากซื้อส่งของจากทั่วโลกก็ไป Alibaba

การแบ่งแยกธุรกิจที่ชัดเจนทำให้ บริหารงานง่าย ทำการตลาดได้มีประสิทธิภาพ และ ไม่แย่งตลาดกันเอง

 

มอง Taobao Village แล้วมามอง OTOP ไทย

โครงการ OTOP หรือ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ เริ่มทำตั้งแต่ปี 2544 เพื่อพัฒนาสินค้าไทยในแต่ละท้องถิ่นให้แข็งแกร่ง และเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพื่อสร้างรายได้ และสร้างงานให้ชุมชน ผ่านมา 17 ปี ลองไปถามคำถามเหล่านี้ดู
-สินค้า OTOP แบรนด์ไหนขายดีที่สุด?
-เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ OTOP ชื่ออะไร?
-ครั้งล่าสุดที่คุณสั่งซื้อสินค้า OTOP ออนไลน์ คือ เมื่อไหร่?

สิ่งที่เกิดขึ้น คือ แบรนด์ใหญ่ๆ หรือผู้ประกอบการที่มีความรู้ในการทำธุรกิจ และทำการตลาด ก็สามารถขายสินค้าผ่านช่องทางต่างๆ ได้ ในขณะที่สินค้าเล็กๆ หรือชุมชนที่ห่างไกลก็ยังไม่เติบโต..

นอกจากนั้น ยังมีศูนย์ศิลปาชีพ หมู่บ้านหัตถกรรม และอื่นๆ อีกมาก ที่รวมตัวกันเพื่อความแข็งแกร่งของคนในชุมชน แต่สิ่งที่ประเทศไทยยังขาด ก็คือ เทคโนโลยี..

 

ล่าสุด รัฐบาลไทยเพิ่งจับมือกับ อาลีบาบา ในการนำสินค้าเกษตรไทย ไปขายในจีนและทั่วโลก ซึ่งมองในมุมหนึ่งก็คือเรื่องดี เพราะเป็นการเติมเต็มสิงที่คนไทยขาดมาโดยตลอด นั่นก็คือเทคโนโลยี

แต่ต้องไม่ลืมว่าเทคโนโลยีนี้ไม่ใช่ของเรา เราไม่สามารถควบคุมแพล็ตฟอร์มนี้ได้เลย ทั้งกฎการใช้งาน และข้อมูลที่ได้รับ ฉะนั้นในขณะที่คนไทยใช้เทคโนโลยีของจีนไป ก็ต้องไม่ลืม สร้างแพล็ตฟอร์ม และเครือข่ายที่เป็นของคนไทยทั้งระบบเช่นกัน

 

มิฉะนั้นเราก็จะกลายเป็นผู้ตามโดยตลอด

โซเชียลมีเดีย ก็ใช้ของสหรัฐอเมริกา
ยานยนต์ เครื่องจักร ก็ใช้ของญี่ปุ่น
ขายของออนไลน์ ก็ใช้ของจีน

 

ที่มา : Alizila



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online