มาตรการจัดระเบียบแวดวงบันเทิงที่เกี่ยวกับเยาวชนของรัฐบาลจีนอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่สร้างชื่อให้ประเทศเพื่อนบ้าน
Hi Investment บริษัทที่ปรึกษาการลงทุนในเกาหลีใต้คาดว่ามาตรการควบคุมธุรกิจบันเทิงของจีนที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องตามนโยบายจัดระเบียบทางเศรษฐกิจและสังคมอาจส่งผลต่อยอดขายเพลง K-pop ในจีนพอสมควร เพราะเป็นตลาดใหญ่ที่เหล่าแฟนเพลงมีกำลังซื้อมหาศาล
นับจากปลายปี 2020 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนที่นำโดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เริ่มใช้มาตรการจัดระเบียบ โดยช่วงแรกเน้นเฉพาะบริษัทใหญ่ ๆ ในธุรกิจต่าง ๆ เช่น Alibaba และ Tencent เพื่อลดความร้อนแรง จำกัดอิทธิพล และปรามพฤติกรรมของเหล่า CEO มหาเศรษฐี
ข้ามมาปีนี้มาตรการจัดระเบียบขยายวงไปสู่ประเด็นที่เกี่ยวกับเด็ก เยาวชนและวงการบันเทิง โดยช่วงมิถุนายนได้สั่งห้ามการจัดชาร์ตความนิยมเพื่อสกัดพฤติกรรมใช้เงินทุ่มโหวตและกล่าวโจมตีกันในสื่อออนไลน์
พอปลายสิงหาคมก็สั่งงดรายการทางโทรทัศน์ที่มีกลุ่มหนุ่มแต่งตัวจัด หน้าสวย และไม่ชัดเจนว่าเป็นหญิงหรือชาย ซึ่งเป็นกลุ่มที่วัยรุ่นจีนยุคนี้รวมถึงประเทศแถบเอเชียชอบกัน
รัฐบาลจีนอ้างว่า หนุ่มหน้าสวยเหล่านี้เป็นความงามที่ผิดเพี้ยน และอาจเป็นต้นแบบในทางที่ผิดต่อเยาวชน มาตรการดังกล่าวจะกระทบถึงแวดวง K-pop จากเกาหลีใต้ด้วย เพราะเป็นหนึ่งในต้นแบบของหนุ่ม ๆ วงการบันเทิงจีนในปัจจุบัน
และ QQ Music แพลตฟอร์มฟังและซื้อเพลงออนไลน์ของจีน ในเครือ Tencent รับลูก ด้วยการจำกัดให้ผู้ซื้อเพลงของไอดอลที่มีกลุ่ม K-pop อยู่ด้วยได้เพียงคนละชุดต่ออัลบัมเท่านั้น
ตามข้อมูลของสื่อในเกาหลีใต้ระบุว่ากรกฎาคมที่ผ่านมา ยอดขายในต่างประเทศเพลง K-pop อยู่ที่ 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 845 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 3.6 เท่าจากกรกฎาคมของปี 2020 ในจำนวนนี้ 8.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 268 ล้านบาท) หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 มาจากจีน
จากสภาพการณ์ดังกล่าว Hi Investment และบริษัทที่ปรึกษาการลงทุนแห่งอื่น ๆ ในเกาหลีใต้จึงเห็นว่า อีกไม่นานจากนี้สถานการณ์ในจีนจะฉุดยอดขายของเพลง K-pop ในต่างประเทศแน่นอน
อีกสัญญาณที่ชี้ว่ามาตรการจัดระเบียบไอดอลในจีนส่งผลต่อแวดวง K-pop แน่นอน คือราคาหุ้นของบรรดาค่ายเพลง K-pop ใหญ่ ๆ อย่าง YG SM และ JYP ที่ลดลง 2.54%, 1.94% และ 1.57% ตามลำดับในวันเดียวกับที่จีนประกาศใช้มาตรการดังกล่าว
ด้านนักวิชาการด้านจีนศึกษาในสหรัฐฯ มองว่าแม้อุตสาหกรรมบันเทิงจะทำเงินมหาศาล โดยจาก 35,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.16 ล้านล้านบาท) ในปีนี้ เพิ่มเป็น 43,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.41 ล้านล้านบาท) ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ
แต่พรรครัฐบาลจีน พรรคคอมมิวนิสต์ที่ปกครองจีนแบบเบ็ดเสร็จมายาวนาน ไม่ชอบให้ใครมาดังเกินหน้าเกินตาจนมีอิทธิพล หรือสามารถชี้นำ จึงนำมาสู่มาตรการควบคุมนั่นเอง
ในส่วนของการสั่งห้ามรายการโทรทัศน์ที่มีไอดอลหนุ่มหน้าสวยกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนใน Weido สื่อโซเชียลดังของจีน มียอดเข้าชมหลายร้อยล้านครั้ง
ฝ่ายที่เห็นด้วยกับมาตรการควบคุมมองว่าน่าจะควบคุมตั้งนานแล้ว เพราะไม่น่าปล่อยให้หนุ่มไม่รู้ว่าเป็นหญิงหรือชายโด่งดังและทำเงินมหาศาล
ด้านฝ่ายที่ต่อต้านมองว่าแต่ละคนมีมุมมองต่อความเป็นชายต่างกันไป และผู้ชมจะชื่นชมผู้ชายแบบไหนเป็นสิทธิส่วนบุคคล ภาครัฐก็ไม่ควรมากำหนดหรือผูกขาดความเป็นชาย จะให้ผู้ชายดูล่ำ ๆ แบบเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยรถไฟใต้ดินมณฑลซีอานแบบเดียวไม่ได้/korearntimes, theguardian
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ