วัตสัน ครบรอบ 25 ปี แม้จะนาน แต่เหมือนการเดินทางของแบรนด์จะเพิ่งเริ่มต้น (วิเคราะห์)

คาดการณ์ ตลาดสุขภาพและความงาม ปีนี้เติบโต 1.5 เท่า ข้อมูลนี้วัตสันอ้างอิงจากสมาคมผู้ค้าปลีกไทย

การเติบโตของตลาดสุขภาพและความงามของปีนี้มาจากสินค้าดูแลสุขภาพ  และการป้องกันดูแลตัวเองที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว รวมถึงสินค้ากลุ่มเส้นผมที่มีการเติบโตจากคนทำสีผมที่บ้านมากขึ้น

แม้ตลาดสุขภาพและความงามปีนี้จะเติบโต แต่ถ้ามองไปที่รายได้ของร้านวัตสัน ผู้นำในตลาดร้านสุขภาพและความงามในปีที่ผ่านมา กลับเผชิญกับความท้าทายในเรื่องของรายได้และผลกำไรที่ลดลงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มากระทบด้านเศรษฐกิจทำให้การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคระมัดระวังและเลือกที่จะใช้จ่ายมากกว่าที่ผ่านมา

รวมถึงการแข่งขันกันสูงในทุกรีเทลชาแนล จากคู่แข่งขันที่เข้ามากระชับพื้นที่กินส่วนแบ่งตลาดจากวัตสันมากขึ้น จากการมองเห็นโอกาสและการเติบโตของตลาดสุขภาพและความงามในไทย

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า ในปีที่ผ่านมา วัตสันมีรายได้ 18,373.41 ล้านบาท กำไร 1,659.58 ล้านบาท

ลดลงจากปี 2562 ที่มีรายได้ 19,475.78 ล้านบาท กำไร 1,831.87 ล้านบาท

ถือเป็นการลดลงด้านรายได้ 5.66% ลดลงด้านกำไร 9.40%

 

รายได้วัตสัน

2561    รายได้รวม 17,063.01 ล้านบาท กำไร 1,892.13 ล้านบาท

2562    รายได้รวม 19,475.78 ล้านบาท กำไร 1,831.87 ล้านบาท

2563    รายได้รวม 18,373.41 ล้านบาท กำไร 1,659.58 ล้านบาท

 

สิ่งที่เรากล่าวมาคือหนึ่งในความท้าทายของวัตสันที่จะก้าวข้ามไปในขวบปีที่ 25 ในประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2539 ที่วัตสันเปิดสาขาแรกในประเทศไทยที่อาคารมณียาเซ็นเตอร์

 

กลยุทธ์ของวัตสันในการก้าวข้ามความท้าทายรอบด้านเพื่อเดินต่อไปที่เรามองว่าน่าสนใจ นอกเหนือจากกลยุทธ์โปรโมชั่นชิ้นที่ 2 ราคา 1 บาท ประกอบด้วย

1. ขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง

การขยายสาขาของวัตสันในแต่ละปีจะมีการขยายสาขาเฉลี่ยอยู่ที่ 50 สาขาเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคในทุกพื้นที่

ปัจจุบันอ้างอิงถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2564 วัตสันมีสาขา 619 สาขา  และคาดการณ์ว่าสิ้นปี 2564 จะมีสาขา 640 สาขา

การเปิดสาขาของวัตสันในปีนี้จะเน้นไปยังสาขาที่เข้าถึงลูกค้าคนไทยเป็นหลัก โดยเฉพาะสาขาตามแหล่งชุมชนที่อยู่ในพื้นที่นอกเมือง และลดการขยายสาขาในพื้นที่ที่เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยว

ส่วนปี 2565 ยังคงขยายสาขาเพิ่มอีก 50 สาขา

พร้อมกับการปรับปรุงรูปแบบสาขามากกว่า 100 สาขาในแต่ละปี เพื่อให้ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา ผ่านโมเดลร้านใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง

โดยโมเดลร้านวัตสันล่าสุดที่จะเปิดในเซ็นทรัลอยุธยา เป็นโมเดล Generation ที่ 9 ที่วัตสันจะใช้ในการขยายสาขาในปี 2565 แต่รูปแบบโมเดลเป็นอย่างไร ในวันนี้วัตสันยังคงไม่เปิดเผย จนกว่าจะมีการเปิดตัวสาขาในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564

 

 

2. ให้ความสำคัญกับ O+O

นอกเหนือจากการขยายสาขาวัตสัน ให้ความสำคัญกับช่องทางการขายในรูปแบบ O+O (Offline Plus Online) เปิดช่องทางออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าจากวัตสันได้หลากหลายช่องทาง

เช่น การขายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ อีมาร์เก็ตเพลส แชตแอนด์ช้อปผ่านไลน์ของร้านวัตสันใกล้บ้าน เพื่อสั่งสินค้ารับที่สาขา หรือชำระเงินผ่านออนไลน์เพื่อให้ส่งสินค้าถึงบ้าน และอื่น ๆ

ซึ่งการขยายสู่ช่องทาง O+O วัตสันให้ข้อมูลว่าเป็นการปรับเปลี่ยนตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการซื้อสินค้า และคุ้นชินกับการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

การที่วัตสันปรับสู่ O+O พบว่าลูกค้าที่ซื้อสินค้าผ่านช่องทาง O+O ที่นับจากลูกค้าเฉพาะที่ซื้อสินค้าที่ผ่านช่องทางหน้าร้านและออนไลน์มียอดการซื้อเฉลี่ยสูงกว่าหน้าร้านอย่างเดียว 2.5 เท่า

ซึ่งยอดการซื้อที่สูงกว่าลูกค้ากลุ่มที่ซื้อเฉพาะสินค้าผ่านหน้าร้านมาจากความง่ายและสะดวกในการซื้อสินค้าที่มากกว่า

 

แม้ในปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากช่องทาง O+O ยังคงสัดส่วนที่เล็กเมื่อเทียบกับช่องทางหน้าร้านที่มีสาขากว่า 619 สาขา แต่พสิษฐ์ มั่นคงขันติวงศ์ Managing Director คาดการณ์ว่าใน 1-2 ปี สัดส่วนการขายสินค้าผ่านช่องทาง O+O จะทำรายได้มากถึง 20% ของรายได้รวมทั้งหมด

 

สำหรับ 5 กลุ่มสินค้าที่ขายดีในช่องทางหน้าร้านและออนไลน์ของ วัตสัน ประกอบด้วย

Skin Care

Derma Skin Care

Health and Fitness

Personal Care โดยเฉพาะกลุ่มเส้นผม

Cosmetic

 

3. จำหน่ายสินค้าเพื่อความยั่งยืน

ในปีที่ผ่านมาวัตสันมีการให้ความสำคัญกับการนำสินค้าเพื่อความยั่งยืน ในรูปแบบของ Clean Beauty, Refill Reduce, Better Ingredient และ Better Packaging เข้ามาจำหน่ายมากขึ้น

การที่วัตสันให้ความสำคัญกับสินค้าเพื่อความยั่งยืนนอกเหนือจากเดินทางวิสัยทัศน์ของ เอ.เอส. วัตสัน กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ที่วางเป้าหมายทางสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในปี 2573 แล้ว

ยังเป็นการสร้างการเติบโตด้านรายได้ที่มากขึ้น เนื่องจากผลสำรวจพบว่า 70% ของผู้บริโภคมีความสนใจสินค้าเพื่อความยั่งยืน แม้จะมีราคาเท่ากับหรือแพงกว่าสินค้าประเภทเดียวกันที่ไม่ได้อยู่ในหมวดสินค้าเพื่อความยั่งยืนก็ตาม

 

นอกจากนี้ วัตสันยังสื่อสารผ่านกับฐานลูกค้าสมาชิกที่มีอยู่ 6 ล้านราย ผ่านโซเชียลมีเดีย ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าผ่านวัตสันอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

 

และก้าวที่มากกว่า 25 ปี ของวัตสันจะเป็นอย่างไร ดูกันต่อไป

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online