Sanrio ส่ง Kitty ลุยทุกแพลตฟอร์ม มัดใจสายคิวต์ยุค Metaverse (วิเคราะห์)

สถานการณ์โควิดเมื่อปี 2020 บีบให้หลายธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดต่อไปได้ โดยในจำนวนนี้มีไม่น้อยที่ถึงกับล้มละลาย ส่วนที่รอดมาได้ก็สะบักสะบอม และต้องคิดใหม่ว่าจะไปทางไหนต่อและให้ใครมาเป็นหัวเรือกู้สถานการณ์ 

Sanrioเป็นอีกบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเมื่อ 2 ปีก่อน เพราะสวนสนุก Puroland ที่เป็นหนึ่งในรายได้หลักต้องปิดยาวเมื่อปี 2020 จนกำไรปีนั้นหายไปถึง 95% แต่ลึก ๆ แล้วสถานการณ์ของบริษัท ไม่ต่างจากคนที่ป่วยมาพักใหญ่ เพราะผลประกอบการไม่ดีมาหลายปีจากปัญหาสะสม


ทว่าSanrioกลับทำให้ทุกคนประหลาดใจและเป็นห่วง โดยกลางปี 2020 Shintaro Tsuji ผู้ก่อตั้งและ CEO ที่ขณะนั้นมีวัยถึง 94 ปี  ประกาศลงจากตำแหน่งแล้วดัน Tomokuni Tsuji หลานชายวัย 30 ต้น ๆ ขึ้นมาบริหารแทน ทำให้ฝ่ายหลังขึ้นเป็น CEO หนุ่มสุดของกลุ่มบริษัทใหญ่ที่มีหุ้นซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นทันที

Tomokuni Tsuji

ล่าสุดทายาทบริษัทผู้ให้กำเนิด Kitty เป็นหัวหอกส่งออกความน่ารักแบบญี่ปุ่น และเก็บเกี่ยวดอกผลทางธุรกิจจากความน่ารักดังกล่าวก็เผยแผนทิศทางใหม่ที่ทันยุคทันสมัย

Tomokuni Tsuji ประกาศว่ากลยุทธ์จากนี้คือSanrio hours ส่งคาแรกเตอร์ของบริษัทกระจายไปในทุกแพลตฟอร์ม ตั้งเป้าว่าปี 2031 คนทั่วโลกจะเห็น Kitty และผองเพื่อนต้องอยู่รอบตัว ตั้งแต่การได้เล่นกับตุ๊กตา ใช้สินค้า และดูการ์ตูน นอกจากนี้ ยังประกาศเตรียมจับมือกับบริษัทใหญ่ ๆ Amazon และ Sony ผลิตการ์ตูนซีรีส์และเกมออกมาอีกด้วย

Sanrioยุคใหม่ในมือผู้บริหารหนุ่มยังไม่หยุดแค่นั้น Tomokuni Tsuji ได้เริ่มทยอยส่งทัพคาแรกเตอร์ในเครือและนักร้อง-ดารา รวมไปถึง Net Idol ขวัญใจแฟน ๆ J-pop ลง Multiverse แล้วผ่าน Sanrio Metaverse Fes เมื่อธันวาคมที่ผ่านมา และมีแผนทำ NFT

Tomokuni Tsuji ยอมรับว่า ตอนนี้บริษัทในความดูแลที่เขารับช่วงต่อมาจากปู่ ยังตามหลังคู่แข่งในโลกดิจิทัล และยุคนี้การแค่เอาคาเเรกเตอร์แปะไปบนสินค้าเพียงอย่างเดียวก็ไม่พอที่จะมัดใจผู้บริโภคได้อีกต่อไป

ดังนั้นการรุก Metaverse จึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยเชื่อว่าอีก 10 ปีจากนี้ Sanrio จะทำเงินได้มหาศาลจากแนวทางนี้ และเมษายนที่จะถึงนี้จะเปิดตัวทีมดิจิทัลที่จะขึ้นมาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง

การเดินหมากทางธุรกิจเพื่อลดระยะห่างจากคู่แข่งและปลุกSanrioให้ฟื้นครั้งนี้ คงถูกจับตามองจากทั้งนักลงทุนและคนในอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างมาก เพราะตลอดเกือบ 10 ปีมานี้ Sanrioถูกคู่แข่งทิ้งห่างไปไกลจากหลายปัจจัย

Shintaro Tsuji

เริ่มจากการฮิตถล่มทลายของ Frozen แอนิเมชันเรื่องดังของ Disney เมื่อปี 2013 ซึ่งต่อยอดเป็นสินค้ามากมาย และปีนั้นลูกชายของ Shintaro Tsuji ผู้ก่อตั้งยังมาเสียชีวิตอีกด้วย 


ถัดจากนั้น Sanrioก็ถูกคู่แข่งทิ้งห่างมากยิ่งขึ้น โดย Disney เดินหน้าขยายอาณาจักรผ่านการซื้อกิจการ และคาแรกเตอร์จากหนังภาคต่อดัง ๆ เช่น Avengers และ Star Wars ก็ทำเงินให้อีกปีละนับไม่ถ้วน


ส่วนSanrioเองก็ไม่สามารถพึ่งแต่ Kitty ได้อีกต่อไป เพราะปัจจุบันคาแรกเตอร์จากการ์ตูนญี่ปุ่นก็มีออกมาไม่ขาดสาย ยืนยันได้จากปรากฏการณ์ Demon Slayer ช่วง 2-3 ปีมานี้ 


ปัญหาที่Sanrioเจอไม่ได้หยุดแค่นั้น เพราะแม้จะไม่มีใครไม่รู้จัก Kitty และผองเพื่อน แต่ก็ต้องยอมรับว่าแฟนๆ Kitty กลายเป็นผู้ใหญ่หรือผู้สูงวัยไปแล้ว จนดูเชยในสายตาเด็ก ๆ รุ่นใหม่

แน่นอนว่า Sanrio ไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยเหมือนคนนอนรอความตายได้ โดยได้มีการปั้นคาแรกเตอร์ใหม่ ๆ จนเริ่มเป็นที่รู้จัก หนึ่งในดาวเด่นคือ Aggretsuko การ์ตูนใน Netflix ที่มีออกมาแล้ว 4 ซีซั่น

Aggretsuko ยังเป็นตัวแทนของSanrioได้เป็นอย่างดี โดยแม้มีความน่ารัก แต่ก็แสดงความเกรี้ยวกราดให้เห็นจากความไม่พอใจสภาพการณ์ปัจจุบันให้เห็นอยู่เป็นระยะ และขณะเดียวกันยังมีใจสู้ พร้อมท้าชนกับปัญหาอีกด้วย/nikkei, theguardian, wikipedia, npr, cnn

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online