1 ปีผ่านไปก็อะไรๆก็สามารถเปลี่ยนได้ ด้วยเหตุนี้ “เอ็นไวโรเซล (ประเทศไทย)” ที่ปรึกษาด้านพฤติกรรมและจิตวิทยาผู้บริโภค ภายใต้เครือ “อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ” จึงได้ออกมาเปิดเผยถึงแนวโน้มผู้บริโภคปี 2016 ในยุค “ดราม่า” กำลังมา โดยชี้ว่าผู้บริโภคยุค 2016 มักตัดสินด้วยอารมณ์เหนือเหตุผล โดยใช้ตัวตนเป็นที่ตั้ง ด้วยเหตุเทคโนโลยี ความสะดวกสบาย รวมถึงสังคม โดยสามารถจำแนกออกเป็นค่านิยมหลักๆได้ดังนี้
การเติบโตของเทคโนโลยี สังคมดิจิตอลทั้งหลาย ทำให้คนเราไม่ต้องทนทุกข์ ทนลำบาก เหมือนคนในยุคก่อน โดยจากงานวิจัยพบว่า ผู้บริโภคที่ติดโซเชียลมีเดีย จะมีความสุขน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้เล่นถึง 39% นอกจากนี้งานวิจัยในหมู่วัยรุ่น พบว่า 1 ใน 2 ยอมรับว่าตนเองมีปัญหา mental illness หรือ อาการป่วยทางจิต โดย 95% ตอบว่าเป็นเพราะความเครียด โดยความเครียดเรื่องภาพลักษณ์ มาเป็นอันดับหนึ่ง ในขณะที่ความเครียดเรื่องความสามารถ และ สติปัญญาที่ด้อยกว่า กลับตามมาห่างๆ เป็นอันดับ 2 และ 3 จึงเห็นชัดว่าการที่คนเราติดสร้างภาพลักษณ์ ทำให้เกิดความเครียดง่ายเป็นพิเศษ เพราะกลัวเสียภาพลักษณ์ไปหมด และเมื่อไม่รู้จักความทุกข์ใหญ่มาเทียบ เรื่องเล็กน้อยก็ทุกข์ไปซะหมด มองหาความสุขไม่เจอ ผู้บริโภคยุคนี้เลย โหยหา ความสุข และใช้ความสุขเป็นตัวตั้งในการค้นหาความหมายของชีวิต ต่างจากคนสมัยก่อนที่ใช้ ความขยัน เป็นตัวตั้ง จึงตั้งหน้าตั้งตาทำงานเพื่อชีวิตที่ดี แต่ผู้บริโภคปี 2016 จะใช้ความสุขของตัวเองเป็นตัวตั้ง อะไรไม่มีความสุข ชั้นไม่ทำ เรื่องอื่นไม่สน และจะไม่มีวันทำงานหนัก ตั้งตาใช้ชีวิตเพื่อหาความสุขลูกเดียว ดังนั้นผู้บริโภค ในปี 2016 จึงจะใช้ความสุขเป็นที่ตั้ง การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ และบริการก็จะต้องมั่นใจว่าจะไม่สร้างความเจ็บปวดให้ และซื้อแล้วมันมีความหมายต่อชีวิตอย่างไร สร้างความสุขอย่างไรให้ชีวิต
ผู้บริโภคในปี 2016 จะพัฒนาความเป็นตัวตนไปถึงขั้น เลือกผลิตภัณที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง ยอมจ่ายแพง เพื่อสร้างเอกลักษณ์ สะท้อนตัวตน และคุณค่าให้ตัวเอง โดยที่ 56% ของผู้บริโภค ชอบผลิตภัณฑ์ที่สามารถออกแบบเองได้ ขณะที่ 48% หวังว่าแบรนด์จะสามารถเข้าใจผู้บริโภคในระดับปัจเจกจนสามารถที่จะออกแบบผลิตภัณฑ์และ บริการที่เฉพาะเจาะจงกับตัวตนของผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ยังต้องการเป็นเจ้านายตนเองและแสดงความเป็นตัวของตัวเองเต็มที่ จนทำให้อัตราการเติบโตของคนทำงานงานอิสระ หรือฟรีแลนซ์ (freelance) คาดการณ์ว่าจะโต 30% จากปี 2014 เป็น 40% ในปี 2020
ผู้บริโภคแห่งปี 2016 มองหาผลิตภัณฑ์ ไลฟ์สไตล์ ที่เป็นธรรมชาติ ดิบๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ของ ออร์แกนิค การเสพศิลปะ รวมไปถึงการท่องเที่ยว ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนท้องถิ่น และจะไม่ใช้ของทิ้งขว้าง แต่จะเลือกใช้ของน้อยชิ้นที่มีความหมายต่อตน ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคแห่งปี 2016 จะหันมาแบ่งชนชั้นด้วยไลฟ์สไตล์จากที่ปรกติจะมีการแบ่งชนชั้นด้วยรายได้
มนุษย์ยุค 2016 จะไม่ค่อยรู้สึกอะไรมากนักกับการไม่เจอเพื่อน แต่ 79% จะกังวล ถ้าไม่มีโทรศัพท์ติดตัว นอกจากนี้ การรับประทานอาหารคนเดียว (solo dinner) เติบโต 62% ในสหรัฐอเมริกา ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันปี 2015 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางคนเดียว 24% เติบโตขึ้น 10% (จาก 15% ในปี 2013) และมีการคาดการณ์ว่า ที่อยู่อาศัยแบบอยู่คนเดียว จะมีอัตราการเติบโตสูงที่สุด มนุษย์จะมีความเกี่ยวพันกันน้อยลงเรื่อยๆดังนั้น ผลิตภัณฑ์การบริการต่างๆ หันมาหาจุดขาย กับสังคมที่สันโดษ เพราะผู้บริโภค สามารถบริโภค อุปโภคคนเดียวได้ ด้วยความสามารถทางสังคมแบบดิจิตอล
ทุกวันนี้คนเราเวลามากขึ้นกว่าเดิม จนมีเวลามาใช้กับโซเชียลมีเดียถึง 4 ชั่วโมงโดยเฉลี่ย ต่อวัน (ทำงาน 8 ชั่วโมง ก็เรียกว่าหมดวัน) เหมือนดูละครชีวิตของคนอื่นตลอด จึงเป็นที่มาของการ เสพติดดราม่า และโดยเฉพาะโซเชียลเน็ตเวิร์คเป็นช่องทางที่เปิดโอกาสให้มนุษย์ได้พูด ได้แสดงออกอย่างเสรี เพราะฉะนั้น ผู้บริโภคไม่ได้เสพข้อมูลหรือคอนเท็นต์เพียงด้านเดียวอีกต่อไปแม้จะเป็นข่าวก็ตาม แต่จะเสพคอนเท็นต์ที่มี ดราม่าผสม หรือ emotional content และทุกผลิตภัณฑ์จะหันมาเน้นการขายคุณค่าด้านอารมณ์ เพราะผู้บริโภคในปี 2016 จะไม่เสพข่าว content หรือใช้ผลิตภัณฑ์ ที่ไม่ได้มีการสร้าง connection ด้านอารมณ์ร่วม
ด้วยเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและทุกอย่างเป็นอัตโนมัติไปซะหมด ชีวิตของคนรุ่นใหม่จะง่าย แบบไม่เคยง่ายขนาดนี้มาก่อน ทำให้ผู้บริโภคในปี 2016 จะพัฒนาความใจร้อน รอไม่ได้ ไปอีกถึงระดับขั้นทุกอย่างต้องได้ดังใจในทันที เรียกว่าแทบจะต้องทำงานกันแบบอัตโนมัติเลยทีเดียว ผู้บริโภคจะสรรหาผลิตภัณฑ์และบริการอะไรที่ทำให้ใช้ชีวิตแบบอัตโนมัติได้ แบบไม่ต้องคิด ไม่ต้องเสี่ยง ไม่ต้องจำ เข้าถึงง่ายโดยไม่จำกัดสถานที่ และไม่ต้องรอ
โดยสรุป ผู้บริโภคปี 2016 จะมีพัฒนาการเรื่องเอาแต่ใจตัวเองเพิ่มมากขึ้น นิยามชนชั้นด้วยไลฟสไตล์ ในรูปแบบ emotional ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ดั่งใจรวมทั้งความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและทันท่วงทีของผู้ให้บริการนั้น จะส่งผลมากเป็นหลายเท่าภายในใจผู้บริโภคที่มุ่งแต่จะหาความสุขในยุคนี้ ทั้งนี้ หากนักการตลาดและภาคธุรกิจทำความเข้าใจข้อมูลดังกล่าว ก็จะสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเตรียมพร้อมรับมือกับพฤติกรรม และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปได้ทันท่วงที พร้อมปรับปรุงสินค้าและบริการได้เหมาะสมตามยุคสมัยอีกด้วย
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ