Mykhailo Fedorov รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลของยูเครน เข้ารับตำแหน่งได้ 2 วัน รัสเซียก็บุกยูเครน เขาไม่รอช้าผุดโปรเจกต์รับบริจาคเพื่อสนับสนุนยูเครนในการสู้ศึกสงคราม แต่จะรับบริจาคเป็นสกุลเงินเฟียตก็อาจจะเจอกฎเกณฑ์ข้อจำกัดต่าง ๆ รวมถึงอาจจะทำให้ผู้บริจาคเกิดความไม่มั่นใจว่าเงินที่บริจาคไปถูกนำไปใช้ตรงวัตถุประสงค์หรือไม่

เขาแก้ปัญหาด้วยการสร้าง Digital Wallet ที่รับโอนเป็นเงินคริปโท ได้แก่ Bitcoin และ Ethereum รวมถึง USDT ซึ่งเป็นวอลเลตแบบออฟฟิเชียลของรัฐบาลยูเครนแล้วโพสต์ Public Address ผ่านทาง Twitter ของรัฐบาลยูเครน (https://twitter.com/Ukraine)

 

ผลปรากฏว่าได้รับกระแสตอบรับอย่างล้นหลามมีผู้บริจาคเข้ามามากมาย แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าเมื่อบริจาคเข้ามาแล้วเงินของพวกเขาไปอยู่ที่ไหน ใช้ทำอะไรบ้าง และทำไม ยูเครน จึงเป็นประเทศที่เปิดเสรีให้กับโลกคริปโทได้อย่างรวดเร็วเช่นนี้ บทความนี้มีคำตอบ

ในภาวะสงครามการใช้เงิน Fiat ไม่ใช่เรื่องที่เข้าท่าเท่าใดนัก

เหตุผลหนึ่งที่นาย Mykhailo Fedorov ต้องทำ Digital Wallet ที่รับชำระด้วยเงินสกุลคริปโท ก็เพราะว่า ปกติแล้วในภาวะสงคราม ประชาชนส่วนใหญ่มักจะมีการที่ต้องเตรียมตัวออกไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคมากักตุนเพื่อการบริโภคเผื่อในกรณีระบบซัปพลายสินค้าเกิดการขาดแคลน และคิวในการชำระเงินก็ยาวเหยียด การทำ Transaction ก็เกิดความล่าช้าและมีสิทธิ์ที่จะล่มเมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้นรัฐบาลต้องออกมาทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ประชาชนไม่เดือดร้อน

“ธนาคารของประเทศเราจำกัดการทำธุรกรรม เขาออกกฎข้อห้ามเกี่ยวกับการใช้เงินสกุล Hryvnia (อ่านว่า ฮริฟเนีย ซึ่งเป็นสกุลเงินประจำชาติของยูเครน) และปริมาณเงินสำรองของเราก็เริ่มหมดลงเรื่อย ๆ แม้ว่าคุณจะชำระค่าสินค้าเป็นเงินสกุลเฟียต การโอนเงินก็ต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะไปถึงผู้รับ แต่กับเงินสกุลคริปโท มันใช้เวลาแค่หลักนาทีเท่านั้น”

รัฐบาลบล็อกเชน

ในความเป็นจริงแล้วยูเครนเริ่มเปิดกว้างยอมรับการใช้จ่ายเงินสกุลคริปโทมาสักพักก่อนที่จะมีสงครามกับรัสเซียเสียอีก ซึ่งยูเครนนั้นรั้งอันดับ 4 ในการเป็นประเทศที่เปิดให้ประชาชนสามารถใช้จ่ายชำระราคาโดยใช้เงินสกุลคริปโทได้

ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องบกอว่าเป็นเพราะสงครามกับรัสเซียนั้นเป็นตัวเร่งชั้นดีให้กับนาย Zelensky ต้องการที่จะสร้างเศรษฐกิจและนวัตกรรมโดยใช้บล็อกเชนเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อน นำโดยคนรุ่นใหม่อย่าง รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล (Mykhailo Fedorov) ก็อายุเพียง 31 ปีเท่านั้น ส่วนประธานาธิบดี Volodymyr Zelensky ก็อายุเพียง 44 ปีเท่านั้น

รัฐบาลยูเครนสามารถระดมเงินบริจาคในสกุลเงินคริปโทคิดเป็นเงินดอลลาร์ได้มากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ แต่จำนวนนี้ก็ยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลของกลุ่มประเทศตะวันตกและ IMF รวมกัน นาย Alex Bornyakov ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลของยูเครน บอกว่า คริปโทได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการศึกสงครามไปแล้ว เพราะคริปโทมีคุณสมบัติทั้งรวดเร็วและยืดหยุ่น

“มันคือความสำเร็จของรัฐบาลที่มีกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมสร้างและขับเคลื่อนโปรเจกต์นี้ เรานั้นมีมากกว่าแค่ความกระตือรือร้นที่อยากจะเห็นโปรเจกต์นี้ประสบความสำเร็จ แต่พวกเราเต็มใจที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต”  เขาเชื่อว่าด้วยแอดติจูดแบบนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำนโยบายด้านการเงินที่มีคริปโทเคอร์เรนซีเป็นศูนย์กลางสามารถจะเกิดขึ้นได้จริง

ปัจจุบันการแลกเปลี่ยนเงินสกุลคริปโทในประเทศยูเครนนั้นได้รับการอนุญาตอย่างเป็นทางการ ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองจากการหลอกลวงให้โอนเงิน และ แบงก์ชาติของยูเครนรวมไปถึงคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของยูเครน ก็ได้รับการมอบหมายให้เข้ามาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ  แม้ว่าสุดท้ายแล้ววันหนึ่งแบงก์ชาติของยูเครนก็จะออกเงินสกุลดิจิทัลเป็นของตัวเอง (National Digital Currency)  ภายหลังจากการรับรองเรื่องนี้ให้ถูกกฎหมาย

ยูเครนใช้เงินที่ได้รับบริจาคไปกับอะไร

รัฐบาลยูเครนได้ใช้เงินคริปโทที่ได้รับการบริจาคมาในการซื้อเสื้อเกราะกันกระสุนไปแล้วกว่าหลายพันตัว อาหารสำหรับกองทัพ หมวกทหาร และยารักษาโรค โดยรัฐบาลยูเครนตั้งใจว่าจะไม่นำเงินดังกล่าวไปซื้ออุปกรณ์ที่ก่อให้เกิดอันตราย อย่างเช่นอาวุธ เพื่อไม่ให้ผิดวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค

ส่วนหนึ่งของเงินที่ได้รับการบริจาคมาถูกใช้ไปกับเป็นสิ่งที่ Bornyakov เรียกว่าเป็น “สงครามทางการทูตดิจิทัล” เพื่อสร้างมีเดียแคมเปญผ่านโซเชียลมีเดียเพื่อสื่อสารไปถึงคนที่ Bornyakov ใช้คำว่า “ถูกปิดหูปิดตาด้วยโฆษณาชวนเชื่อ” จากทางฝั่งรัสเซีย

ในขณะที่อีกฟากฝั่งของรัฐบาลก็ได้มีการทำข้อตกลงเจรจาในความร่วมมือกับซัปพลายเออร์ในการชำระค่าสินค้าทางการทหารในสกุลเงินดิจิทัลเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อีกด้วย

Michael Chobanian ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนเงินคริปโท “Kuna” และประธานสมาพันธ์บล็อกเชนในยูเครน ซึ่งทำงานร่วมกับรัฐบาลยูเครนในการขยายขอบเขตความร่วมมือไปยังแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนเงินคริปโทระดับโลกอย่าง FTX รวมไปถึงแพลตฟอร์มปล่อยกู้เงินสกุลคริปโทสัญชาติยูเครนอย่าง Everstake

Michael บอกว่า “พวกเราคือโลกคู่ขนานของระบบการเงินของประเทศ เราไม่สนใจว่าใครจะสนับสนุนเราหรือไม่ หรือจะมองว่าพวกเราเป็นแฮกเกอร์ เป็นอาชญากรคริปโท แต่ตราบเท่าที่พวกเขายังส่งเงินมาให้เราก็โอเค”

กลยุทธ์ของยูเครน

ในขณะที่สงครามยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงง่าย ๆ รัฐบาลยูเครนได้ปรับเปลี่ยนวิธีการในการรับบริจาคเงินคริปโท โดยได้จัดตั้งเว็บไซต์สำหรับการช่วยเหลือยูเครนอย่างเป็นทางการ ซึ่งรับบริจาคเงินคริปโททั้งหมด 9 สกุลเงิน ได้แก่ Bitcoin, Ether, Tether, Solana และ Dogecoin โดยก่อนหน้านี้ยูเครนประชาสัมพันธ์การรับบริจาคผ่านทาง Twitter เท่านั้น ด้วยการบอกเพียง Crypto Wallet Address เท่านั้น

แต่พอรัฐบาลยูเครนโพสต์แค่แอดเดรสของวอลเลตและกระแสการบริจาคได้รับการตอบรับที่ดีมีเงินหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก ก็เป็นที่มาของกลุ่มสแกม (หลอกลวงเอาเงิน) ที่อ้างตัวว่าเป็นหน่วยงานรับบริจาคของยูเครนมากเป็นเงาตามตัวเช่นเดียวกัน

Brittany Allen สถาปนิกผู้ออกแบบระบบป้องกันการฉ้อโกงของ Sift ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบระบบดูแลเรื่องความปลอดภัยและป้องกันการกระทำผิดทางธุรกรรมการเงิน บอกว่า “เราจะเห็นบัญชีรับบริจาคเพื่อช่วยยูเครนมากมายตั้งแต่มีสงคราม โดยเฉพาะทาง Telegram” ซึ่งผู้บริหารของ Telegram ก็ไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าว

Telegram เป็นแอปพลิเคชันส่งข้อความที่ก่อตั้งโดยสองพี่น้องชาวรัสเซีย ชื่อ Pavel Durov และ Nikolai Durov ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม Facebook แห่งรัสเซีย อย่าง “VK”

Lisa Cameron สมาชิกสภาผู้แทนของอังกฤษ และเป็นประธานสภาคริปโทและสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งสหราชอาณาจักร บอกว่า “สงคราม แสดงให้เราเห็นว่า อย่างน้อยคริปโทก็ยังเป็นพลังของเรื่องที่ดีท่ามกลางเรื่องแย่ ๆ ที่เกิดขึ้นได้”

“แต่ก็มีข้อกังวลอยู่บ้างว่าถ้าเรื่องนี้ (การใช้จ่ายแลกเปลี่ยนเงินคริปโท) ไม่ได้กำกับดูแลให้ดี รัสเซียเองก็จะใช้วิธีเดียวกันนี้ในการหาทางหลบเลี่ยงการคว่ำบาตรทางการเงิน”

แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโทระดับโลกอย่าง Binance และ FTX ได้ออกมาวิจารณ์ถึงกรณีที่มีคำสั่งให้ 2 แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ห้ามผู้ใช้ชาวรัสเซียใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าว โดยทั้งสองบริษัทได้ออกมาตอบโต้การแบนผู้ใช้ที่ไม่เป็นธรรมว่าชาวรัสเซียที่ไม่เกี่ยวข้องกับสงครามทำไมต้องมารับเคราะห์กรรมนี้ไปด้วย

NFTs กับสงคราม

มีบางเรื่องที่รัฐบาลยูเครนทำพลาดในการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในภาวการณ์สงครามเช่นนี้ โดยในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมารัฐบาลยูเครนต้องการแสดงความขอบคุณผู้บริจาคด้วยการ “airdrop” NFTs ให้กับผู้บริจาค ซึ่งนั่นเท่ากับว่าเหมือนเป็นการเชิญชวนให้คนมาบริจาคโดยหวังผลประโยชน์ต่างตอบแทน แทนที่จะเป็นการช่วยเหลือยูเครนด้วยใจบริสุทธิ์

อย่างไรก็ตาม เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการใคร่ครวญพิจารณาอย่างถี่ถ้วน นาย Fedorov ก็ตัดสินใจยกเลิกแผนการที่สื่ออย่าง financial time ให้นิยามว่าเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดดิจิทัลที่บ้าคลั่งอย่างที่สุด ไปในที่สุด

บนโลกโซเชียลมีเดีย กลุ่มสังคมผู้สนับสนุนคริปโท ล้อเลียนเรื่องนี้ว่าเป็น “The best rug ever” ซึ่งเป็นคำเปรียบเปรยถึง เมื่อใครคนหนึ่งยกเลิก NFT โปรเจกต์ไปหลังจากที่มีคนลงขันสนับสนุนเป็นเงินจำนวนมาก ซึ่งเจ้าของโปรเจกต์ก็เชิดเงินหนีไปดื้อ ๆ เสียอย่างนั้น

ก้าวต่อไปของรัฐบาลยูเครนในการเป็นประเทศพัฒนาแล้วประเทศแรกที่ออกคอลเลกชัน NFTS ซึ่งพวกเขามีแพลนที่จะเปิดตัว NFTs ภายใต้ชื่อ Meta History : Museum of War ซึ่งคอลเลกชันนี้จะรวบรวบโทเคนซึ่งบันทึกเหตุการณ์ในแต่ละวันของความขัดแย้งลงไป  ด้วยงานศิลป์ที่ล้อไปกับข่าวและเรื่องราวในแต่ละวัน

Bornyakov บอกว่า โทเคนจะบรรจุบันทึกที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้บนบล็อกเชน เพื่อบันทึกและสะท้อนเรื่องราวความขัดแย้ง เพื่อระดมทุนในการช่วยเหลือประเทศ

Sergey Vasylchuk ผู้ก่อตั้ง Everstake บอกว่า”นี่เป็นครั้งแรกที่พลังของคริปโทจะถูกใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ และต่อไปโลกจะต้องเข้าสู่การปรับตัว โดยจะมีการใช้คริปโทเคอเรนซีในการแลกเปลี่ยนมากขึ้นอย่างแน่นอนไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้”


ที่มา

economist.com

ft.com

apnews.com

wikipedia.org



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน