กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ ทำความรู้จักเจ้าของ After You ที่ใช้ชีวิตแบบครบรส

เมไม่ได้แต่งหน้ามานานมาแล้วค่ะ “เมหรือตังเม” กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ พูดกับ Marketeer หลังจากที่ทักทายกันเรียบร้อย

ความหมายหนึ่งของเธอคือไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมานานมาก ตลอดระยะเวลาที่ต้องเจอกับวิกฤตโควิด-19

เพราะในช่วง1-2 ปีที่ผ่านมานั้นเธอได้เปลี่ยนจากโหมดของผู้หญิงที่ทำอะไรชิล ๆ สบาย ๆ  มาเป็นโหมด “องค์ลง”  

ต้องคิดทำโน่น นี่ นั่น ตลอดเวลา เพื่อให้ร้านอยู่รอด พนักงานกระทบน้อยที่สุด

วันนี้เมมั่นใจว่าร้านขนมหวาน After You “อยู่รอด” ถึงพายุจะมาอีกกี่รอบก็จะพยุงผ่านไปได้

เธอยังคุยเก่ง น่ารัก และรูปร่างยังคงแบบบางเล็ก ๆ เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือด้วยวัยที่เพิ่มขึ้นทำให้วิธีคิดหลายเรื่องของเธอเปลี่ยนไป

ตามไปนั่งคุยกับเธอที่ร้าน “ลูกก๊อ” มาร์เก็ตเพลส นางลิ้นจี่ แบรนด์ใหม่ที่เพิ่งเปิดกันได้เลย

Past 1  เมื่อความฝันเป็นความจริง

ความฝันของ “เม หรือตังเม” กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ ตั้งแต่วัยเด็กคือต้องการเป็นเจ้าของร้านขนมหวาน

ไม่เพียงแค่ฝันหวาน ๆ แต่เธอมุ่งมั่นฝึกฝนเรียนรู้เรื่องการทำขนมด้วยตัวเองอย่างจริงจังต่อเนื่อง

 ปี 2550 ในวัย 25 ปี ความฝันของเธอก็เป็นจริง After You สาขาแรกได้เปิดตัวขึ้นที่ เจ อเวนิว ทองหล่อ และหลังจากนั้นก็ได้ขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ After You มีทั้งหมด 42 สาขา ทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด มีร้านกาแฟ “มิกก้า” 100 สาขา (เป็นแฟรนไชส์ 90 สาขา) และมีแบรนด์ใหม่ขายผลไม้สด น้ำผลไม้ และยำผลไม้ “ลูกก๊อ” 1 สาขา

 

Part 2  สวยงามในตลาดหลักทรัพย์

After You เข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2559 จากรายได้ 608 ล้านบาท กำไร 98 ล้านบาทในปีแรก เพิ่มเป็น 1,205 ล้านบาท กำไร 237 ล้านบาท เมื่อปี 2562 และ Bloomberg ได้จัดอันดับให้ After You เป็นหุ้นอาหารที่ดีที่สุดในโลกในปีนั้น

เธอจึงกลายเป็น Role Model ของคนรุ่นใหม่วัยหนุ่มสาวที่มีความฝัน และต้องการเป็นเจ้าของกิจการด้วยตัวเอง

ร้านขายขนมหวานสไตล์ After You เกิดขึ้นมากมายในช่วงเวลานั้น

Part 3  โควิด-19 บทเรียนครั้งสำคัญในชีวิต

มรสุมของโควิด-19 กระหน่ำซัดลูกแรกในวันที่อาฟเตอร์ ยู มีทั้งหมด 38 สาขา และสาขาส่วนใหญ่อยู่ในห้างสรรพสินค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ 

พายุลูกแรกยังไม่พอ ต่อด้วยลูกที่ 2 ที่ 3 

ปี 2564 รายได้ของอาฟเตอร์ยูลดเหลือเพียง 628 ล้านบาท กำไร เหลือเพียง 4 ล้านบาท

และนั่นคือที่มาที่ทำให้เธอบอกว่า “เมไม่ได้แต่งหน้า ไม่ได้ให้สัมภาษณ์มานานมาแล้วค่ะ”

โควิด-19 ยังไม่จางหาย แต่ไตรมาสแรกปี 2565 อาฟเตอร์ยูทำรายได้ไป 200 ล้านบาท เริ่มมีกำไรเพิ่มเป็น 14 ล้านบาท 

พร้อม ๆ กับที่เธอสามารถทำความฝันที่ 2 ให้เป็นจริง ด้วยการไปเปิดสาขาแรกในต่างประเทศเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังจากต้องเลื่อนเพราะโควิดหลายครั้ง

เธอบอกกับ Marketeer ด้วยน้ำเสียงมั่นใจว่า “เมว่า เมรอดแล้ว”

“ที่เมมืดจริง ๆ คือ Season แรก เพราะนึกไม่ออกเลยค่ะว่าจะออกไปทางไหน พฤติกรรมคนจะเป็นยังไง จากที่พอจะชี้ได้ว่าคนชอบอันนี้ คนต้องการอย่างนี้ เรากลับไม่รู้ เดาไม่ถูกเลยว่าสุดท้ายแล้วพฤติกรรมผู้บริโภคจะกลายเป็นยังไง ส่วน Season 2, Season 3 เอาจริง ๆ สำหรับเมมันไม่ได้หนักเท่าครั้งแรก เพราะเห็นแล้วว่ามีวันที่ดีขึ้น มีวันที่ลง ก็จะต้องอยู่ไปอย่างนี้ แต่อาจจะเบาขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเราพยุงให้ได้นานที่สุด ก็จะมีวันที่ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม”

เธอบอกว่าโควิด-19 ไม่ได้ทำให้เครียดมากขนาดนอนไม่หลับ เพราะทุกคนโดนกันหมด แต่กลับมองว่า โชคดีกว่าหลาย ๆ คนด้วยซ้ำไป เพราะยังมีบุญเก่า สายป่านยาว แค่หันมองซ้ายมองขวาหาว่าอะไรคือสิ่งที่จะทำออกมาขายได้

“เมน่ะพอมีปัญหากลับรู้สึกว่าตัวเองมี Efficiency ที่สูงกว่าในโหมดเดิมที่แบบชิล ๆ อีก คือเหมือนแบบยอมไม่ได้  ต้องมีทางออก ทำยังไงก็ได้ให้ร้านไปต่อได้ รู้สึกขยันขึ้นมามากมาย”

ใน Season แรก เมื่อตั้งสติได้เธอก็เริ่มลุยแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่โชคดีที่ได้สร้างไว้ก่อนแล้วลูกค้ารู้อยู่แล้วว่า ถ้าสมมุติอยากรับประทานแล้วสั่งได้ Order ได้หลาย ๆ ช่องทาง

มีแค่น้ำแข็งไส “คาคิโกริ” ที่เธอบอกว่าตอนแรกดื้อไม่ยอมให้สั่งเดลิเวอรี่

“คือเรารู้สึกว่ามันไม่ 100% เหมือนกับที่เสิร์ฟหน้าร้าน กังวลว่าเวลา Texture เปลี่ยน การประกอบที่ไม่ได้อยู่ในที่ของมันจะทำให้คนรู้สึกว่ามันไม่อร่อย เราก็ไม่อยากขายกลับบ้าน แต่พอ Covid มา โจทย์ก็เปลี่ยน ไม่มีทางเลือก ต้องทำ แต่ก็จะเขียนบอกกับลูกค้าว่าอาจจะได้แค่ 95% ไม่สามารถได้ 100% เท่าหน้าร้าน ก็สอนวิธีประกอบกันไป”

น้ำแข็งไสที่ว่ายากแล้วไม่น่าเดลิเวอรี่ได้ เมื่อทำได้ เมนูที่หน้าร้านทุกอย่างก็ไม่มีปัญหาสามารถเสิร์ฟเดลิเวอรี่ได้หมด

หลังจากนั้นเธอก็เริ่มมีสินค้าใหม่ ๆ ที่ไม่เคยคิดว่าต้องทำมาก่อน หรืออาจจะคิด แต่ไม่คิดว่าต้องทำเร็วขึ้น

ในช่วงที่คน Panic มาก ๆ ทุกคนแห่ไปซื้อตุน ของหมด ของบางอย่างก็ขาดตลาด เราก็ดูว่ามีของอะไรที่มีอายุยาว ๆ บ้าง มีแค่ Pancake Mix ตัวเดียวก็ต้องขาย เพราะไม่มีทางเลือก เลยตัดสินใจเอา Pancake Mix มาเพิ่มปริมาณที่จะขายหน้าร้าน และก็ทำคลิปทำเป็นวิดีโอ เพื่อที่จะสอนให้คนเห็นว่า Pancake Mix เอาไปทำขนมโตเกียวก็ได้ เอาไปทำเป็นโอโคโนมิยากิ ทาโกะยากิ ได้หมด

ลูกค้าก็เลยได้ซื้อไปลองทำ พร้อม ๆ กับคิดต่อว่า จะมีสินค้าตัวไหนที่สามารถเข้าไปอยู่ในครัวลูกค้าได้อีก เช่น บราวนี่ลาวา ฟิกกี้พุดดิ้ง ที่ทำเป็น Frozen ให้ลูกค้าสามารถเวฟที่บ้านได้ หรือการทำ Collaboration กับ Bar B Q Plaza ทำ “โอโคโนมิยากิ แพนเค้ก มิกซ์” ซึ่งเป็นการรวมกันของแป้งแพนเค้กของ After You และน้ำจิ้มบาร์บีคิวขวัญใจมหาชน

เป็นความโชคดีที่ว่า After You เป็นแบรนด์ที่อยู่มานาน และแข็งแรงพอที่จะเอามาทำแบบนี้ได้ และได้รับการตอบรับที่ดี  

พอ Season 2 ปิดอีก กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ ก็เริ่มทำ After You Marketplace เป็นมุมเล็ก ๆ ในร้าน ขายทั้งสินค้าของที่ร้านเองและรับขายให้กับเพื่อน ๆ หรือคนที่ส่งสินค้าอร่อย ๆ มาให้รีวิว 

รวมทั้งเปิดร้านกาแฟ Mikka เมื่อปลายปี 2562 ก็คือต้นปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่เริ่ม Covid พอดี ตอน After You โดนปิด กลับไม่ต้องปิด Mikka เพราะมันเป็น Grab and Go กลายเป็นสินค้าหนึ่งที่มี Potential มาก ก็เลยมุ่งไปดูแล Mikka ด้วยระหว่างนั้น

“คือช่วงนั้นจากที่เมเป็นคนชิล ๆ กลายเป็นคนแบบองค์ลงเลยค่ะ (หัวเราะ) รู้สึกแบบว่าเราต้องทำให้บริษัทเราอยู่รอด ลูกน้องเราจะต้องเดือดร้อนน้อยที่สุด นั่นคือความตั้งใจ ซึ่งไม่รู้ช่วยได้มากแค่ไหน แต่สำหรับเราในฐานะคนที่ทำได้ เราต้อง Lead เราต้องพยายามทุกทาง”

ตอน Season 3 พอรู้ว่าต้องปิดแน่ สิ่งที่ทำคือ

“เมสร้างกรุ๊ปหนึ่งขึ้นมาเลย ชื่อ “แกะต้องรอด” แกะคือโลโก้ After You โดยเอาหัวหน้าทุกทีมมารวมอยู่ในกรุ๊ปนี้ เพื่อที่ว่าวันจันทร์จะได้ปรึกษากันว่าเราจะไปต่ออย่างไร ในเมื่อ 95% ของร้านอยู่ในห้าง แปลว่า เราจะต้องหยุดเลย Freeze เลย ต้องช่วยกันหาวิธี เมได้ทีมที่ดีจริง ๆ อันนี้ขอให้เครดิตทั้งทีมแกะต้องรอดทุกคนช่วยกันแบบภายใน 48 ชั่วโมง เราเสก Cloud kitchen ได้ 7 สาขา อีก 2 วันถัดมาเพิ่มเป็น 15 สาขา ตอนนั้นเราก็มีโอกาสแล้ว เราก็ต้องทำ Cloud kitchen ให้ได้เยอะที่สุด”

Key success ของ After You ไม่ใช่เพราะขนมอร่อยที่หลายคนคิด

เมบอกว่า Key success ของ After You คือ “คน”

เมใช้คำว่าโชคดี เพราะเกิดมาในครอบครัวที่อบอุ่น พ่อกับแม่ทำธุรกิจมาก่อน ก็จะคุยกันเรื่องธุรกิจ เธอก็คงซึมซับโดยที่ไม่รู้ตัว  

“พ่อแม่ให้กำลังทรัพย์เรามาเปิดร้านได้โดยที่เราไม่ต้องกู้ ไม่ต้องไปลำบากเหมือนคนอื่น จากนั้นก็มาเจอคู่พาร์ตเนอร์ที่ดีมาก ก็คือพี่หมิง (แม่ทัพ ต.สุวรรณ) แม้กระทั่งกับสามีที่เป็นคู่คิด มีเพื่อน ๆ ที่ดี พร้อมช่วยเหลือ และมีลูกค้าที่ดี ๆ แบบปากต่อปาก ทุกวันนี้ก็ยังช่วยลงสตอรี่ ลง Social Media เรายังโชคดีในเรื่องบริวาร ลูกน้องทุกคน ถ้าเมไม่มีทีม ไม่มีคนอย่างที่บอก ไม่มีทางมาได้ไกลอย่างนี้แน่นอน” 

เธอเปรียบเทียบเรื่องสูตรในการทำขนมกับสูตรในการสร้างคนว่า

“สำหรับสูตรทำขนมให้อร่อยสำหรับเม คือมันง่ายมาก มีไอเดียใหม่ ๆ เข้ามามาตลอดเวลา อาจจะเป็นเพราะเราเห็นมามาก มีประสบการณ์ชีวิตค่อนข้างเยอะ รู้จักคนเยอะ แล้วรู้ว่าความต้องการของคนคืออะไร ทำให้เรามีข้อมูลในสมองเต็มไปหมด แล้วก็สามารถหยิบออกมาใช้ได้  ดังนั้นการคิดสูตรหรือคิดไอเดียในการทำขนมไม่ยาก แต่สำหรับเรื่องคน เมไม่ค่อยมีความเชื่อใน Love at First Sight เท่าไร อันนี้เมคิดว่าคนต้องใช้เวลา เวลารับใครทำงาน เมจะไม่ค่อยมีความคาดหวังตั้งแต่วันแรก จะค่อย ๆ อยู่กับเขาไป แล้วก็ดูไป แล้วเมว่าอันนั้นคือสิ่งที่ยาก เพราะมันต้องใช้เวลา”

 เรื่องคนไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เป็นเรื่องที่ต้องคิดเองปรุงเองทำใหม่หมด แล้วเอาไปใช้ซ้ำ ๆ กันก็ไม่ได้ด้วย

“เรื่องเคมีต้องเข้ากันสำคัญเป็นอันดับแรก พูดเข้าหูกัน วิธีทำงาน ศีลธรรมเท่ากัน การไปฟาดฟันคนอื่นไม่สามารถอยู่กับเมได้ เราไม่ไปเทคจากเขาเยอะ เขาก็ทำงานสบายใจ เขาก็ไม่เทคจากเราเยอะ เราก็ทำงานสบายใจ”

การไปเปิดสาขาในต่างประเทศคืออีกหนึ่งความฝันที่กลายเป็นจริง

วันที่ 25 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา After You สาขาแรกในฮ่องกงก็เกิดขึ้น เป็นอีกหนึ่งความฝันของเธอที่เป็นจริง

และยังไปสร้างปรากฏการณ์การรอคิวยาวเหยียดในวันแรกของการเปิดตัว และยังมีคิวต่อเนื่องในวันต่อ ๆ มาด้วย

“คือมันฟินมาก เมคิดว่าคิวต้องมีอยู่แล้ว เพราะเรามีที่นั่งในร้านน้อย  แต่ไม่คิดว่าจะเยอะขนาดนี้ จะคุยกับทีมฮ่องกงเสมอว่า ทำให้คนมาเข้าคิวเรื่องง่ายนะ You อย่าตื่นเต้น แล้วลืมมองในระยะยาว เพราะฉะนั้นเวลาทำอะไรต้องเป๊ะมาก คือต่อให้ทำช้า เมโอเคกว่าถ้าทำออกไปแล้วไม่ได้มาตรฐานอย่างที่เราตั้งไว้ เพราะฉะนั้นเราต้องโฟกัสว่า You ต้องทำยังไงให้เขามาแล้ว มาอีก มาแล้วมาอีก อันนั้นคือ Goal ที่เราคุยกัน”

ที่ฮ่องกงก็มีเดลิเวอรี่ แต่จะเป็นเฉพาะตัวที่สามารถไปได้จริง ๆ อันไหนที่ลูกค้าใหม่ยังไม่เคยลองจริง ๆ ก็ยังไม่อนุญาตให้ส่งกลับบ้าน เพราะถ้าลูกค้าที่ยังไม่เคยรับประทานของออริจินอลที่ร้าน แล้วเอาไปที่บ้านแล้วทำไม่เป็น จะเสียความรู้สึกเปล่า ๆ 

ฝันต่ออยากเอา After You ติดปีกบินไปทั่วโลก

“เวลาจะไปไหนก็ตาม ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม เมจะเอาเรื่องคนเป็นหลัก ไม่ได้มองว่าถ้าต้องการไปประเทศนี้ ฉันต้องไปให้ได้ จะต้องคุยกับคนก่อน คุยกับพาร์ตเนอร์ก่อน ถ้าเราเจอพาร์ตเนอร์ที่เคมีเรารู้สึกว่าได้ ค่อยไป ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนก็ตาม เพราะฉะนั้นจริง ๆ ไปได้หมดทั้งโลก อย่างฮ่องกง ที่เราตัดสินใจไปก่อน ไม่ใช่ว่าเป็นประเทศที่ลูกค้าเราเยอะที่สุด แต่เป็นทีมที่เราคุยแล้วรู้สึกว่าเราน่าจะทำงานร่วมกันได้ดีที่สุด”

ปฐมบทของแบรนด์ใหม่ “ลูกก๊อ”

19 เมษายนที่ผ่านมา ในวันครบรอบวันเกิดของเธอ After You ได้เปิดตัวแบรนด์ใหม่ “ลูกก๊อ” (LUGGAW) ร้านผลไม้ที่มีทั้งผลไม้สด ยำผลไม้ และเครื่องดื่มน้ำผลไม้ 

เธอบอกว่า ลูกก๊อ ยังอยู่ใน Category ของหวาน เกิดขึ้นมาได้เพราะ After You ทำ Product ที่เป็นผลไม้ไทย หลายอย่างมาก เช่น มะยงชิด ที่เอามาทำน้ำปั่น น้ำแข็งไสก็มีกระท้อน มีมังคุด มีมะดัน มีแตงโม

“เมรู้สึกว่าผลไม้ไทยถูกให้ค่าเขาน้อยไปหน่อย คือเรารู้สึกว่าผลไม้ไทย ฝรั่งต้องอิจฉาเรา เพราะไม่สามารถหาได้ แล้วสิ่งที่เขาได้อาจจะเป็น Frozen หรือ Canned แต่เขาจะไม่สามารถได้รับประทานสด ๆ ปอกเปลือกอย่างเรา เมกลับมานั่งดู เมรู้สึกว่าผลไม้ไทยน่าเอามาทำเมนูต่าง ๆ ได้มากมาย แต่ถ้าเราอยู่ใน After You จะไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง”

วันที่ตัดสินใจทำจริง เพราะนั่งคุยกันตอนรับประทานข้าวกับครอบครัว แล้วป๊าของเธอก็พูดขึ้นมา บอกว่า เมทำผลไม้สิ คือคงได้เวลาแล้วล่ะ เลยทำดีกว่า

เธอตั้งแบรนด์ใหม่นี้ว่า ลูกก๊อ “ก๊อ” คือชื่อของพ่อ ลูกของก๊อ ก็คือเธอ

จุดเด่นของน้ำผลไม้ลูกก๊อ เริ่มตั้งแต่การตั้งชื่อเมนู

“อันนี้คือส่วนที่สนุกที่สุดในการทำร้านของเม เมชอบคำในภาษาไทยมาก ๆ หลายคำอาจจะเป็นคำฟุ่มเฟือย  แต่ น่ารักดี เช่น เปรี้ยวเผ็ดเข็ดฟัน หรือว่าสวยสุดในซอย พ่อพันธ์ชันดี  เกิดมาหน้าเด็ก  คือตอนนี้เราอยู่ในโลกของคอนเทนต์ถ้าเป็นสมัยก่อนอาจจะไม่จำเป็น แต่ด้วยโลกปัจจุบัน เมจะพยายามเก็บทุกเม็ด”

ส่วนตัวรสชาติต้องบอกก่อนว่า ทุกคนต้องเปิดใจลองชิม เช่น ถ้าฝรั่งเขาจะใช้ Chocolate Fudge หรือว่าซอสคาราเมลเคลือบ ลูกก๊อก็มีเมนู ไทยแลนด์ only มะม่วงเปรี้ยวปั่นราดซอสกะปิหวาน เมนูรักษาแผลใจ คือฝรั่งปั่นใส่เป็นซอสน้ำตาลปี๊บพริกสด   ซึ่งเป็นกิมมิกที่ไม่เหมือนใคร แน่นอน

เป็นความต่างที่ต้องบอกว่า “เธอกล้ามาก” แต่ลูกค้าจะรับได้หรือเปล่า 

“ขายดีนะคะ อาจจะเป็นเพราะเมฝึกลูกค้ากับรสชาติใหม่ ๆ ของ After You ไว้พอสมควร ถ้าสมมุติว่าเปิดลูกก๊อเลยโดยที่ลูกค้าไม่เคยรับประทานอะไรแปลก ๆ แบบนี้ บางทีอาจจะงง แต่ After You เมทำตั้งแต่เอาพริกกับเกลือมาโรยน้ำแข็ง น้ำปลาหวานมาโรย คือเราทำแบบนี้มาระดับหนึ่งแล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่จะเริ่มชินกับรสที่เราทำ” 

สำหรับแพลนการขยายสาขาของ ลูกก๊อ เธอบอกว่า 

“ตอนแรกคิดว่าขยายได้เร็วกว่านี้ แต่ว่าพอลองกระโดดมาทำเอง ไม่ง่าย เมใช้คำนี้ พอเราไม่เคยทำกับของสดปริมาณเยอะขนาดนี้ ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ก็ต้องใช้เวลาในการจัดการ แต่สาขา 2 มีแน่นอน เพราะเราอยากทำ แต่จะนานแค่ไหน เดี๋ยวต้องพยายามค่อย ๆ ไป”

ลูกก๊อ เป็นแบรนด์ที่การขยายน่าจะง่ายกว่า After You ด้วยราคาที่สามารถรับประทานได้ทุกคน แล้วก็ด้วย Nature ของ product คือผลไม้ที่รับประทานได้บ่อย ๆ กว่าขนม แล้วก็เรามีเมนูที่ไม่มีน้ำตาลด้วย เพราะฉะนั้นก็สามารถอยู่ในที่ที่คนอาจจะต้องการรักษาสุขภาพ Healthy ได้ด้วย

เมื่อโปรดักต์ของ After You ถูกก๊อบปี้

 เมื่อครั้งทำร้านใหม่ ๆ เธอบอกว่าเรื่องก๊อบปี้อาจจะเป็นเรื่องเดียวที่ทำให้นอนไม่หลับ

แต่เมื่ออายุเยอะขึ้น มุมมองเลยเปลี่ยนไป 

“ไม่ใช่ทุกคนที่เกิดมาแล้วมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่ทุกคนที่เกิดมาแล้วจะสามารถคิดไอเดียออกได้ตลอดเวลา ไม่ใช่ทุกคนที่มีชีวิตสบาย หลายคนมีปัญหา ถ้าเขารู้ว่าอันนี้เขาขายได้ เขาก็แค่ทำ เม เลยคิดว่าเราทำให้คนมีอาชีพ คิดแบบนี้ก็ทำให้เราสบายใจมากเลย

สำหรับแบรนด์ลูกก๊อก็เช่นกัน หากเกิดน้ำผลไม้แบรนด์ใหม่ ๆ ตามมา โดยก๊อบปี้เมนูของร้านไป แล้วคนหันมาทำธุรกิจแบบนี้เยอะขึ้น สิ่งที่ตามมาคือได้ช่วยเกษตรกรไทยให้ดี กำไรมากขึ้น มีงานทำ สามารถค้าขายได้ เรื่องนี้สำหรับเมคือรางวัลที่ตัวเองได้รับ

คำถามสุดท้าย หลังจาก Marketeer ลองเมนู “จัดจ้านในย่านนี้” (มะม่วงเปรี้ยวปั่นราดซอสน้ำปลาหวาน แล้วต้องร้องว้าววว เฮ้ยย ของมันต้องลองจริง ๆ (ขอไม่สปอยต่อ)

เคย เบื่อไหม ท้อไหม รู้สึกว่าตัวเองหมด Passion บ้างหรือเปล่า จัดการกับอารมณ์นี้อย่างไร

 เม บอกว่าเธอโชคดีที่มี Passion ในการทำขนม และในขณะเดียวกันก็ชอบทำธุรกิจด้วย ทำให้ไปด้วยกันได้ดี ไม่เคยท้อ  

“เอาจริง ๆ ไม่ค่อยมีจังหวะที่รู้สึกว่าหมด Passion เท่าไร เกือบจะไม่มีเลยนะคะ แต่บางครั้งจะเกิดความทุกข์บ้าง ซึ่งความทุกข์ใจของเมมีไม่กี่อย่าง เช่น เวลาลูกน้องลาออกอะไรอย่างนี้ เราก็จะนอนไม่หลับ แต่ไม่เกี่ยวกับว่าท้อจนไม่อยากทำธุรกิจ คือทำใจได้ เลยยังไม่ได้คิดว่าวันหนึ่งจะหมด Passion”

เธอคงมีทั้ง Passion และมีทั้งไฟจริง ๆ เพราะก่อนจากกันวันนั้น เมยังแอบเล่าสั้น ๆ ถึงโปรเจกต์ใหม่ที่ไม่ธรรมดาอีกแล้ว 

โปรดติดตามตอนต่อไป  

 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online