สยามสแควร์ (Siam Square) ศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ (CBD) ในย่านปทุมวัน กลับมาเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับเราอีกครั้ง หลังพลิกโฉมครั้งใหญ่ ภายใต้การดำเนินงานของ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU)

ให้กลายเป็นพื้นที่ที่มีการส่งเสริมกันทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยวันนี้ Marketeer รวบรวมข้อมูลมาให้แบบครบ ๆ ผ่าน 5 ประเด็นน่าสนใจของสยามสแควร์โฉมใหม่ ชนิดอ่านจบก็พร้อมไปตะลอนเที่ยวได้เลย

1.จุดเริ่มต้นสยามสแควร์โฉมใหม่

รองศาสตราจารย์ ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านการจัดการทรัพย์สินและกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์คณะสถาปัตย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนหนึ่งในกำลังหลักของการปรับปรุงสยามสแควร์ อธิบายให้เห็นภาพรวมของโครงการว่า

การปรับปรุงสยามสแควร์ เราเริ่มวางแผนกันมาตั้งแต่ 6 ปีที่แล้ว ว่าจะทำอย่างไรให้ถนนเส้นหลักของสยามสแควร์ (ถนนซอย 7) มีการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพ ให้เดินง่าย เดินดี ก็เกิดเป็น ถนนคนเดิน (Walking Street)

โดยมีการคุยกับผู้ประกอบการในพื้นที่ล่วงหน้านาน ๆ และขอความร่วมมือให้ตกแต่งหน้าร้านให้เข้ากับบรรยากาศของ ถนนคนเดิน ที่ยังคงคาแรคเตอร์ของสยามสแควร์ไว้เหมือนเดิม ซึ่งเราเรียกว่า “LIVING LEGEND – ตำนานที่ไม่เคยหยุดนิ่ง”

แต่จริง ๆ ในขั้นตอนการพัฒนาพื้นที่ เราก็ต้องรับฟังทุกกลุ่ม เพื่อให้รู้ว่าควรปรับปรุงอะไร โดยหลังจากนี้ก็ต้องรอดูฟีดแบ็กจากตัวถนนคนเดิน ว่าจะมีอะไรเพิ่มเติมไหม ผลตอบรับจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างไร

เพราะจริง ๆ ถนนคนเดิน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปรับปรุงพื้นที่สยามสแควร์ทั้งหมด โดยเราจะเดินหน้าพัฒนาพื้นที่ของสยามสแควร์ในโซนอื่น ๆ ต่อไป

 

2.Walking Street สยามสแควร์ ซอย 7

ถนนคนเดิน (Walking Street) สยามสแควร์ ซอย 7 จะเป็นพื้นที่ที่สร้างบรรยากาศเดินสยามให้สนุกกว่าเดิม ด้วยร้านค้าสองข้างทางที่เชื่อมต่อถึงกันทุกพื้นที่ เพิ่มจุดเช็กอินให้เราได้มาตระเวนถ่ายรูปกันอย่างสนุกสนาน

และมีไฮไลต์อย่างการปิดถนนซอย 7 ให้เป็นถนนคนเดินเต็มรูปแบบ (ปิดไม่ให้รถเข้า) ในทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในช่วงระยะทดลอง

3.เข้าถึงได้ด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่หลากหลาย แต่ไม่ทิ้งผู้ใช้รถยนต์

ส่วนหนึ่งของการยกเครื่องสยามสแควร์ครั้งใหญ่นี้ คือการเอื้อให้ผู้มาใช้งานสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบาย ด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุม อาทิ BTS สยาม และสนามกีฬาแห่งชาติ / MRT สามย่าน / รถตุ๊ก ๆ ไฟฟ้า “MuvMi” / Free Shuttle Bus / รถเมล์ ขสมก. อาทิสาย 73, 73ก และ 113

แต่ก็ยังคงอำนวยความสะดวกกับผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัว ด้วยการเพิ่มที่จอดรถใน Parking Node ทั้งในอาคารสยามสเคป สยามกิตติ์ ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน และวิทยกิตติ์ รวมกว่า 3,000 คัน

หากมาจาก MBK Center หรือที่คุ้นหูกันในชื่อ ห้างมาบุญครอง และมาจากทางเส้นพญาไทย ก็มีอาคารใหม่ที่เพิ่งสร้างเสร็จอย่างสยามสเคป เป็นจุดจอดรถสำคัญ

ถ้ามาจากถนนอังรีดูนังต์ ก็สามารถจอดรถยนต์ได้ที่สยามกิตติ์ หรือวิทยกิตติ์ หากมาทางพระราม 1 ก็จอดที่ ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน (Siam Square One)

ทั้ง PMCU ยังมีการสร้าง EV Charger รวม 3 Stations ประกอบด้วย บริเวณถนนใจกลางสยามสแควร์, สยามสแควร์ซอย 7, อาคารวิทยกิตติ์ และอาคารสยามสเคป

4.ปรับภูมิทัศน์ให้เป็นมิตรกับสายตาและสิ่งแวดล้อม

เริ่มจากสายสื่อสารที่ดูเยอะ ๆ รุงรัง เราก็ทยอยเอาลงใต้ดินได้เลย เพราะระยะมันตื้น แค่ 1-2 ฟุต ส่วนสายไฟฟ้า เราก็มีการเดินหน้าเจรจากับทาง การไฟฟ้านครหลวง (MEA) แล้วเขาก็เริ่มเอาลงใต้ดินให้เรา

มีการปรับปรุงทางเดินเท้าให้กว้างขึ้น เอื้อประโยชน์กับผู้ใช้งานทุกคน อย่างเช่น การจัดส่วนพิเศษของผู้ใช้วีลแชร์ เป็นต้น ทั้งออกแบบพื้นที่เชื่อมต่อเป็น Universal Design ที่พื้นถนนและฟุตพาทไร้รอยต่อ เชื่อมทุกการเดินทางบนถนนใจกลางสยามสแควร์

ส่วนพื้นที่สีเขียว มีการรื้อรั้วตรงสวนสาธารณะออก เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของสยามสแควร์จริง ๆ มี Green Area ที่ให้ร่มเย็นผ่อนคลาย ผ่านสวนสาธารณะใจกลางเมือง 2 สไตล์ ทั้งสวนพื้นราบ ที่ Park@Siam และสวนลอยฟ้า (Sky Scape) ที่ชั้น 10 อาคารสยามสเคป

 

5.Flagship Store ที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้มาเยือน และสร้างพื้นที่แห่งโอกาสของผู้ประกอบการ

ตลอดเวลาที่ผ่านมา สยามสแควร์ เป็นเหมือนผู้นำเทรนด์ด้านสินค้า หรือจะเป็นแหล่งกวดวิชา แต่เดี๋ยวนี้ก็มีการพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ เสริมเข้ามามากขึ้น

มีพื้นที่พบปะสังสรรค์ Flagship Store ใหม่ ๆ ที่เป็นมากกว่าร้านขายสินค้า แต่เน้นการมีส่วนร่วม โชว์สินค้าและนวัตกรรมใหม่ ๆ ทั้งแบรนด์ไทยและต่างประเทศ ที่มีความโดดเด่นและแตกต่าง เฉพาะที่สยามสแควร์เท่านั้น

อาทิ SHU ที่มาในคอนเซปท์ Fashion Runway & Hangout Cafe ออกแบบให้ลูกค้าได้สนุกกับสินค้าทั้ง รองเท้า เสื้อผ้าแฟชั่น ในบรรยากาศเหมือนเดินชอปสินค้าอยู่ในแกลเลอรี และคาเฟ่บรรยากาศสไตล์ “Glass House & Fashion Runway Cafe”

SOS & SENSE Multibrand Store ที่รวบรวมมัลติแบรนด์ไว้ถึง 500 แบรนด์ ทั้งชั้น1-3 กับ Big-Brand Zone ตกแต่งทันสมัยสวยงาม หรือจะเป็นโซนใหม่ “Cycle by SOS” บนชั้น 4 ใน Concept ศูนย์รวมสินค้าแฟชั่นมือสอง

Matchbox Multi Brand Store ตกแต่งด้วบรรยากาศที่สวยงาม สดใส ขนาดใหญ่ที่สุดให้เดินชอปทั้งหมด 3 ชั้น พร้อมยกทัพ Multi-Brand จัดเต็มกว่า 130 แบรนด์ รวบรวมแบรนด์ดังน่าชอปกว่า 3,000 รายการ เยอะที่สุดในทุกสาขา

Firster Beauty จาก King Power พบกับ ไอเทมบิวตี้และไลฟ์สไตล์จากแบรนด์สุด Unique ทั่วโลก

Top Charoen ในคอนเซปต์ “Simple Fashion X Smart Vision” ตอบโจทย์ทุกแฟชั่น แก้ปัญหาด้านสายตาอย่างชาญฉลาด และเป็นแหล่งรวมแว่นตากับเลนส์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

อีกทั้งพยายามทำให้สยามสแควร์มีพับลิคสเปซมากขึ้น มีอีเวนต์ กิจกรรมเอาต์ดอร์มากขึ้น อย่างพื้นที่ตรงหน้าลิโด้ (Lido Connect) ก็เปิดให้เยาวชนมาจัดแสดงความสามารถฟรี ไม่จำเป็นต้องดนตรีเท่านั้น แต่เป็นการแสดงสร้างสรรค์อะไรก็ได้

ทำให้มองอีกมุมหนึ่ง มันก็เลยกลายเป็นพื้นที่แห่งโอกาสของผู้ประกอบการรายย่อยไปในตัว อย่างบางคนก็มีร้านค้าในสยามสแควร์ที่ทำมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน