ซอสพริกศรีราชาตราไก่ ทำความรู้จักซอสขายดีที่กำลังขาดแคลนในอเมริกา

Huy Fong Foods (ฮุ่ยก่งฟู้ด) ผู้ผลิตซอสพริกศรีราชา ซึ่งเป็นหนึ่งในซอสพริกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา ประกาศเตือนขาดแคลนในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากขาดแคลนพริกอย่างรุนแรง จึงทำให้ไม่สามารถผลิตซอสได้ตามความต้องการได้เพียงพอ

Huy Fong Foods ได้เผยว่า บริษัทพยายามแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งมีสาเหตุจากสภาพอากาศที่ส่งผลต่อคุณภาพของพริก รวมถึงความล้มเหลวในการเพาะปลูกที่ไม่คาดคิดจากการเก็บเกี่ยวพริกในฤดูใบไม้ผลิ แต่ยังคงไม่สามารถผลิตออกมาได้เพียงพอต่อความต้องการในตลาด

บริษัทจึงหวังว่าฤดูใบไม้ร่วงที่จะถึงนี้จะได้ผลผลิตออกมาตรงตามเป้าหมาย และขอขอบคุณลูกค้าที่อดทนรอและให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้

มารู้จักกับจุดเริ่มต้นของ Huy Fong Foods ผู้ผลิตซอสพริกศรีราชายอดนิยมกันสักหน่อย

Huy Fong Foods เป็นหนึ่งในผู้ผลิตซอสพริกศรีราชารายใหญ่ที่ตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ก่อตั้งในปี 1980 โดย David Tran (เดวิด ทราน) นักธุรกิจชาวจีน-เวียดนาม ผู้อพยพไปยังสหรัฐอเมริกาในปี 1978 ด้วยเรือสินค้าหลายลำ

หลังจากมาถึงสหรัฐอเมริกา David Tran ได้ก่อตั้ง Huy Fong Foods, Inc. บริษัทผลิตซอสพริกศรีราชาของตัวเอง ซึ่งตั้งชื่อตามเรือขนส่งสินค้า Huy Fong ที่เขาใช้โดยสาร โดยใช้สัญลักษณ์เป็นรูปไก่หนึ่งตัวตามปีนักษัตรจีนของเขา

เมื่อ David Tran อาศัยอยู่ในอเมริกาสักพัก เขาพบว่าเขาไม่สามารถหาซอสพริกที่อร่อยได้ และเมื่อรู้ว่าเพื่อนชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็กำลังประสบปัญหาเดียวกันนี้เช่นเดียวกัน เขาจึงริเริ่มทำธุรกิจซอสพริกศรีราชาในแบบของเขาเอง ซึ่งก่อนหน้านี้เขาเคยทำซอสพริกศรีราชาขณะทำงานเป็นพ่อครัวในกองทัพเวียดนามใต้

ปัจจุบัน Huy Fong Foods มีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 10% ของตลาดซอสพริก และสร้างรายได้กว่า 150 ล้านดอลลาร์ในปี 2022

ต้นกำเนิดของซอสพริกศรีราชา

แม้ว่า Huy Fong Foods จะเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลกที่ใช้ชื่อซอสศรีราชา แต่ต้นกำเนิดของซอสศรีราชานั้นมีพื้นเพมาจากเมืองศรีราชาในประเทศไทย บ้างก็เชื่อกันว่า กิมซัว ทิมกระจ่าง เป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นซอสศรีราชาขึ้นมาเป็นคนแรก

ตามคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมา กิมซัว ทิมกระจ่าง ได้เดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านและได้นำซอสที่ผสมผสานรสชาติต่าง ๆ ที่เขาพบในแต่ละประเทศมารวมกันเป็นซอสศรีราชาที่รวมทั้งรสหวาน เค็ม และเปรี้ยว

และบ้างก็เชื่อว่า ซอสพริกศรีราชาถูกประดิษฐ์คิดค้นโดยผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ ถนอม จักกะพาก เรื่องนี้เล่าว่าเธอปรุงซอสให้เพื่อนและครอบครัวในศรีราชา โดยใช้พริกและกระเทียมในท้องถิ่น จึงตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ของเธอตามชื่อเมือง

ในขณะที่ Huy Fong Foods อ้างว่าชื่อซอสพริกศรีราชาของ David Tran มาจากชื่อเรือ Shiracha อีกลำหนึ่งที่เขาใช้โดยสาร

อ่าน: “ซอสพริกศรีราชา” เป็นที่นิยมในอเมริกาและทั่วโลกได้อย่างไร?

การขาดแคลนซอสพริกศรีราชาในอเมริกา

Huy Fong Foods แถลงอย่างเป็นทางการว่า โชคไม่ดีที่สามารถยืนยันได้ว่าผลิตภัณฑ์ซอสพริกศรีราชากำลังขาดแคลนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เนื่องจากขาดแคลนพริกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในช่วงแรก ๆ ของการระบาดใหญ่ของโควิด จนมาถึงปัจจุบันการขาดแคลนพริกได้รุนแรงยิ่งขึ้น ด้วยสาเหตุที่อยู่เหนือการควบคุมจึงส่งผลเสียต่อการผลิตและจำหน่าย Huy Fong Foods ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่าจะไม่รับคำสั่งซื้อใหม่ใด ๆ ก่อนเดือนกันยายน

ปัญหาการขาดแคลนซอสพริกศรีราชาของ Huy Fong Foods นี้ส่งผลให้กลุ่มผู้คนที่ชื่นชอบในรสชาติซอสพริกได้เริ่มต้นกักตุนซอสพริกศรีราชาเผื่อไว้ในอนาคต และได้มีบางคนแสดงความคิดเห็นผ่าน Twitter ว่า การขาดแคลนซอสพริกศรีราชานั้นเป็นสัญญาณของวันสิ้นโลก

รวมทั้งบรรดาร้านอาหารเอเชียอย่างร้าน Brady’s Sushi and Hibachi (แบรนดี้ซูซิแอนด์ฮิบาชิ) ร้านอาหารแห่งหนึ่งในรัฐเคนทักกีได้เผยว่า ทางร้านไม่มีบริการซอสพริกศรีราชาฟรีอีกต่อไป เนื่องจากการขาดแคลน

……………

“ซอสพริกศรีราชา” เป็นที่นิยมในอเมริกาและทั่วโลกได้อย่างไร?

หากใครได้เดินเข้าร้านอาหารเอเชียในต่างประเทศ โดยเฉพาะร้านอาหารเวียดนาม น่าจะได้พบกับซอสชื่อคุ้นหูคนไทยอย่างซอสศรีราชาวางอยู่บนโต๊ะเป็นแน่ แต่พอหยิบขวดมาอ่านดูรายละเอียดใกล้ ๆ กลับพบว่าเป็นภาษาเวียดนามซะอย่างนั้น

ซอสพริกศรีราชาเกี่ยวอะไรกับประเทศเวียดนาม? ใช่ซอสเดียวกันกับของคนไทยไหม? แล้วทำไมไปดังไกลถึงอเมริกาและทั่วโลกได้? มาหาคำตอบเพื่อไขข้อข้องใจทั้งหมดนี้ได้ในบทความนี้

ศรีราชาพานิช ซอสพริกศรีราชาของไทย

ซอสพริกศรีราชา ฟังแล้วยังไงก็เป็นชื่อซอสของไทยใช่ไหมล่ะ เพราะซอสพริกศรีราชาถูกผลิตขึ้นครั้งแรกโดยคุณถนอม จักกะพาก แล้วเรียกชื่อตามอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นสูตรน้ำพริกของครอบครัวที่ถูกส่งต่อมารุ่นต่อรุ่นไว้รับประทานคู่กับอาหารทะเล พอเพื่อนบ้านได้ลองก็ติดใจในรสชาติ

จนต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับวางขายทั่วอำเภอศรีราชาในนาม “ศรีราชาพานิช” และกลายเป็นของฝากสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านอำเภอศรีราชาด้วย จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2527 บริษัท ไทยเทพรสได้เข้าซื้อกิจการ พร้อมจัดจำหน่ายทั่วทั้งประเทศไทยและส่งออกไปยังต่างประเทศจนถึงปัจจุบัน

ซอสพริกศรีราชาที่ได้รับความนิยมในอเมริกามีต้นกำเนิดมาจากประเทศเวียดนาม

ส่วนซอสพริกศรีราชาที่ได้รับความนิยมสูงสุดในสหรัฐอเมริกา คือ ซอสพริกจาก Huy Fong Foods Sriracha ที่ผลิตโดย David Tran ในประเทศเวียดนามเมื่อปี ค.ศ. 1975 ซอสชนิดแรกที่เขาคิดค้นคือซอสสาเต๊ะพริกไท พร้อมตั้งชื่อให้ว่า “Pepper Sa-te” บรรจุใส่ขวดรีไซเคิลจากขวดใส่อาหารสำหรับเด็กทารก แล้วสมาชิกครอบครัวของเขาจะเป็นคนขี่จักรยานมารับแล้วนำไปขาย

จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1979 เขาได้เดินทางออกจากเวียดนามมาที่อเมริกาในฐานะผู้อพยพจากสงครามเวียดนาม ด้วยเรือสินค้าจากไต้หวันที่ชื่อว่า Huey Fong ซึ่งกลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการนำเป็นชื่อบริษัทของเขาในภายหลัง จากการเริ่มทำซอสขายอีกครั้งในหนึ่งปีต่อมา

แต่ในครั้งนี้ทำบนแผ่นดินของอเมริกา โดยเริ่มต้นทำในอาคารขนาด 5,000 ตารางฟุตใกล้กับย่านไชน่าทาวน์ที่เมืองลอสแองเจลิส เขาได้คิดค้นและผลิตซอสหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ซอสสาเต๊ะพริกไทย ซอสซัมบัล โอเล็ค ซอสพริกกระเทียม ซอสซัมบัล บาจาค และซอสพริกศรีราชา หนึ่งในซอสที่ได้รับความนิยมสูงสุด

ซอสทั้งหมดเกิดจากการทดลองนำส่วนผสมในท้องถิ่นมาปรับใช้ และซอสพริกศรีราชาของ Huy Fong Foods คือสูตรซอสที่ดัดแปลงมาจากซอสพริกของไทยที่เขาชอบ ซึ่งประกอบไปด้วย พริกจาลาปิโน น้ำส้มสายชู น้ำตาล เกลือ และกระเทียม และตั้งชื่อว่า “Sriracha” ซึ่งเป็นชื่ออำเภอของประเทศไทย ที่มาของซอสที่เขานำมาปรับสูตร

ความอร่อยมาพร้อมกับความสนใจจากคนดังในแวดวงอุตสาหกรรมอาหาร

ในปัจจุบันซอสของ Huy Fong Foods ได้รับความนิยมอย่างมาก มีการวางขายแทบจะทุกตลาด และทุกคนก็รู้จักซอสพริกศรีราชาด้วยกันทั้งนั้น เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เริ่มต้นในอเมริกา ตอบรับกับความต้องการของคนเอเชียในอเมริกาได้เป็นอย่างดี จนถูกนำเข้ามาขายในตลาดใหญ่ ๆ ในปี ค.ศ. 2003 และถูกนำมาใช้ในร้านอาหารหลายร้าน หนึ่งในนั้นก็คือเครือร้านอาหารขนาดใหญ่ Momofuku ของ David Chang

ด้วยความที่ซอสศรีราชาได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็มีการร่วมมือกับบริษัทและคนดังในแวดวงอาหารมากมาย อย่างเช่นในปี ค.ศ. 2012 ได้มีการผลิตหนังสือสอนทำอาหารจากซอสพริกศรีราชาร่วมกับ Pei Wei จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2013 Huy fong มีรายได้สูงสุดเกือบ 60 ล้านดอลลาร์ และเติบโตต่อเนื่อง 20% ในแต่ละปี

เป็นมากกว่าซอสพริกศรีราชา แต่เป็นแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักทั่วทั้งอเมริกาและทั่วโลก

มาถึงปัจจุบัน Huy fong ยังคงร่วมมือกับบริษัทด้านอาหารอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Jack Links หรือ Burger King เพื่อสร้างสรรค์เมนูที่มีซอสพริกศรีราชาเป็นส่วนผสม ทำให้ซอสพริกราชาเป็นมากกว่าซอส แต่เป็นแบรนด์ที่แทรกซึมอยู่ในอุตสาหกรรมอาหารอย่างแยกไม่ออก คำว่า “ศรีราชา” จึงได้กลายมาเป็นชื่อแบรนด์ และตัวแทนของความเผ็ดร้อน แล้วต่อยอดออกมาเป็นซอส Sriracha almond และซอสมะเขือเทศศรีราชา หรือกระทั่งถูกขอซื้อโลโก้ไปผลิตเป็นเสื้อยืดขายก็มี!

David Tran เคยกล่าวไว้ว่า “ฉันเริ่มทำธุรกิจโดยไม่ได้คาดหวังอะไรมากมาย ความฝันแบบอเมริกันดรีมของฉันไม่ใช่การได้เป็นมหาเศรษฐี เราทำธุรกิจนี้เพราะเราชอบซอสพริกรสชาติเผ็ดร้อนแบบสด ๆ ใหม่ ๆ เท่านั้น” เชื่อเหลือเกินว่า ไม่ใช่แค่ความอร่อยเท่านั้นที่ทำให้ซอสพริกศรีราชาของ Huy fong มาไกลถึงขนาดนี้

แต่ยังมีทั้งเรื่องราวที่น่าประทับใจอยู่เบื้องหลัง ซอสพริกศรีราชาตราไก่

เรื่องราวของชายที่ต้องอพยพหนีสงครามจากบ้านเกิดมาไกล เพื่อมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในต่างแทน ลงมือทำในสิ่งที่ชอบ และทำมันได้ดี จากที่แทบจะไม่มีต้นทุนอะไรเลยก็ตาม ความอร่อยและความมุมาะของเขานี่เองที่ทำให้ Huy fong เดินทางมาได้ไกลจนถึงทุกวันนี้ และด้วยความนิยมอย่างมากของซอสศรีราชา ปัจจุบันไม่ได้มีแค่แบรนด์ของ Huy fong เท่านั้นที่ถูกส่งออกไปทั่วโลก แต่ยังมีแบรนด์อื่น ๆ อีกมากมาย รวมทั้งแบรนด์ศรีราชาพานิชของไทยด้วย

 

 

ที่มา:

sriracha2go.com

mashed.com

scmp.com

npr.org

washingtonpost.com

theguardian.com

edition.cnn.com

bloomberg.com

cnbc.com

 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online