กูลิโกะ ทำความรู้จักแบรนด์ที่จากสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟื้นกลับมาโดยเริ่มจากศูนย์

ซูชิ ราม็ง โอนิกิริ อาหารที่คนมักจะคิดถึงเมื่อพูดถึงประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นศูนย์รวมอาหารเลิศรสนานาชนิด แต่สิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คือเมนูของรับประทานเล่น ที่หลายคนต้องยอมซูฮก ทั้งเค้ก ไอศกรีม รวมถึงบิสกิต แน่นอนว่าชื่อบริษัทที่เรามักนึกถึงตอนเอ่ยถึงขนมญี่ปุ่น หนีไม่พ้น “กูลิโกะ”

จุดเริ่มต้นของกูลิโกะ ผู้เป็นเจ้าของขนมญี่ปุ่นที่โด่งดังทั่วโลก

ในปี 1919 นายริอิจิ เอซากิ (Ri-ichi Ezaki) ผู้ก่อตั้งบริษัท ค้นพบสารไกลโคเจนในน้ำต้มหอยนางรม จึงได้เริ่มไอเดียผลิตภัณฑ์อาหารที่นำสารไกลโคเจนมาใช้ เนื่องจากมีประสบการณ์กับสารดังกล่าว ที่เคยช่วยชีวิตลูกชายของเขาที่ป่วยเป็นโรคไข้รากสาดใหญ่

จนในที่สุด ปี 1921 ได้สร้างขนมเสริมสุขภาพ “Glico Caramel” โดยมีหีบห่อเป็นรูปนักวิ่งยกสองมือเข้าเส้นชัย กับคาราเมลรูปหัวใจ ชื่อของ Pocky ได้รับแรงบันดาลใจจากคำภาษาญี่ปุ่น pokin ซึ่งเป็น “คำเลียนเสียงธรรมชาติสำหรับเสียงแหลมที่เกิดขึ้นขณะกินป๊อกกี้แท่ง”

ในตอนนั้นบริษัทไม่ได้วาง Position ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มแมส แต่ไปเจรจาวางขอจำหน่ายในห้างสรรพสินค้ามิทสึโคชิ ซึ่งเป็นห้างเก่าแก่ชื่อดังในโอซากา เพื่อให้สินค้าดูมีระดับไปอีกขั้นกว่าขนมตามท้องตลาดทั่วไป แม้จะต้องปรับปรุงรสชาติอยู่หลายครั้ง แต่ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ จนสามารถขยายตลาดได้กว้างขึ้น

ระเบิดเผาโรงงานได้ แต่ไม่เผาไหม้ความหวัง

ในปี 1925 เอซากิได้เปิดโรงงานเขตคิตะในโอซากา ต่อมาได้ขยายไปยังโตเกียวในปี 1936 รวมทั้งโรงงานต้าเหลียนในประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม โรงงานทั้งสามแห่งถูกทำลายเนื่องมาจากการโจมตีทางอากาศในสงครามโลกครั้งที่ 2 จนหมดสิ้น ทำให้บริษัท Glico หายไปจนถึงปี 1951 แต่ความนิยมของแบรนด์ไม่ได้ลดลงไปเลย

โดยมีคำอธิบายของกูลิโกะว่า เรายังมีทรัพย์สินที่ไม่ได้มอดไหม้ไปในไฟสงคราม ซึ่งก็คือชื่อของ Glico นั่นเอง

หลังจากสงครามสิ้นสุด ในปี 1951 จึงกลับมาเดินหน้าสร้างโรงงานโอซากาและโรงงานโตเกียวขึ้นใหม่อีกครั้ง หลังจากนั้น 5 ปี ได้ก่อตั้งบริษัท Ezaki Glico Foods Co., Ltd. และ Glico Dairy Co., Ltd. เพื่อเริ่มผลิตแป้งสาลี ก่อนจะมีการควบรวมกิจการบริษัท Glico Dairy Co., Ltd. 7 แห่ง

กูลิโกะเริ่มต้นใหม่ด้วยการรับจ้างผลิตบิสกิต และกลับมาผลิต “Bisco” อีกครั้ง ต่อด้วยการฟื้น “Glico Caramel” ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากนั้นก็ผลิตสินค้าที่ติดตลาดออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น อัลมอนด์, ช็อกโกแลต, เพรทซ์,  ไจแอนท์โคน  และ “ป๊อกกี้”

ปี 1970 ก่อตั้งบริษัท ไทยกูลิโกะ ภายในสี่ปีหลังจากเปิดตัว ป๊อกกี้ก็ได้รับความนิยมไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากนั้นได้ขยายไปยังแคนาดา ฝรั่งเศส และจีน และท้ายที่สุดในปี 2003 การขยายตัวไปยังอเมริกาก็ได้ทำให้สถานะขนมจากญี่ปุ่นของกูลิโกะโด่งดังยิ่งขึ้น

ป้ายโฆษณาที่กลายเป็นแลนด์มาร์กญี่ปุ่น

1998 บริษัทได้เปิดตัวป้ายรูปนักวิ่งที่กำลังวิ่งอยู่ในเมืองโอซากา โดยมีฉากหลังเป็นอาคารและสิ่งก่อสร้างเด่น ๆ ประจำโอซากา เช่น ปราสาทโอซากา พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำไคยูคัง โอซากาโดม (ปัจจุบัน คือ เคียวเซราโดม โอซากา) หอคอยซึเทนคาคุ เป็นต้น และปี 2014 ก็ได้เปิดตัวป้ายนีออนกูลิโกะรุ่นที่ 6

ไขความลับ ทำไมป๊อกกี๊ถึงเคลือบช็อกโกแลตไม่เต็มแท่ง

ป๊อกกี้เปิดตัวในปี 1966 เดิมทีได้วางให้เป็นขนมขบเคี้ยว สำหรับผู้หญิงงานยุ่ง เพื่อรับประทานระหว่างเดินทาง ในตอนแรกป๊อกกี๊เคลือบช็อกโกแลตแบบเต็มแท่ง ทำให้เวลารับประทานเลอะเทอะ  จึงเปลี่ยนไปเคลือบบิสกิตแท่ง โดยเว้นส่วนท้ายไว้ให้จับได้สะดวกไม่เลอะมือ บริษัทได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจาก kushikatsu หมูทอดที่เป็นที่นิยมในญี่ปุ่น เสิร์ฟแบบเสียบไม้ซึ่งเว้นช่วงปลายไว้ให้จับง่าย

ทำยอดขายหลักพันล้านกล่อง

ปัจจุบันป๊อกกี้เป็นขนมที่คนทั่วโลกชื่นชอบ โดยรวมมีรสชาติไม่ต่ำกว่า 50 รส นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์ยังมีความพิเศษ เช่น Brazilian Orange Pocky ในบราซิล เป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกในช่วงแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ริโอ หาซื้อได้ในบราซิล หรือ Royal Milk Tea Pocky ที่หาซื้อได้ในสหราชอาณาจักรเท่านั้น รวมถึงกล้วยช็อกโกแลตในออสเตรเลีย

นอกจากนี้ ยังมีรสชาติพิเศษที่มีเฉพาะในบางภูมิภาคของญี่ปุ่นเท่านั้น เช่น ไวน์โกเบ, เมลอนฮอกไกโดยูบาริ และองุ่นชินชูเคียวโฮ

ความนิยมของขนมขบเคี้ยวชนิดนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของ กูลิโกะ รายงานว่าตั้งแต่ปี 1966 กูลิโกะแบบกล่องมีการจำหน่ายไปแล้ว 19 พันล้านกล่องทั่วโลก ประมาณ 500 ล้านกล่องต่อปี

วันชาติประจำป๊อกกี๊ 

ปี 1999 กูลิโกะได้ก่อตั้ง วันที่ 11 พฤศจิกายน ให้เป็นวันป๊อกกี้และเพรทซ์ หรือในชื่อภาษาญี่ปุ่น “pokki no hi ポッキーの日” เป็นแคมเปญการตลาดที่ประสบความสำเร็จได้รับการยอมรับจากคนญี่ปุ่นจำนวนมาก

ในปี 2019 Pocky ได้สร้างสถิติในฐานะแบรนด์บิสกิตช็อกโกแลตที่ใหญ่ที่สุดในโลก หลังทำยอดขายได้ 589 ล้านดอลลาร์

สำหรับรายได้ปีล่าสุด 2021 กูลิโกะทำไปได้ 338,571 ล้านเยน หรือประมาณ 88,867 ล้านบาท

 

อ้างอิง: glicoglobal , glicoTH, Tokyotreat, Mentalfloss  , Gaijinpot

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน