สิงห์ เอสเตท และพันธมิตรด้านความยั่งยืน สยามคูโบต้า ไทยคม พร้อมชุมชนในพื้นที่บริเวณสิงห์ปาร์ค จ. เชียงราย Kick off โครงการ “ปลูกป่าด้วยปลายนิ้ว” ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกรวน ตามแผนการพัฒนาอย่างยืน SDG13 Climate Change ขององค์การสหประชาชาติ มุ่งสู่การเป็นองค์กร Carbon Neutrality ของสิงห์ เอสเตท ในปี 2030 โดยตั้งเป้าปลูกป่าให้ได้พื้นที่อย่างน้อย 1 ล้านตารางเมตร หรือกว่า 625 ไร่ ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อรักษาความสมดุลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างจิตสำนึกกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนเมืองสู่สังคม low carbon พร้อมเป็นตัวแทนในการต่อยอดกิจกรรมปลูกป่าร่วมกับชุมชนท้องถิ่น ด้วยมาตราฐาน AGI (Asian Green Initiative)
นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากแผนการเดินหน้าสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำของสิงห์ เอสเตท ภายในปี 2030 หนึ่งในดัชนีชี้วัดความยั่งยืนด้านการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ ภารกิจการกำหนดให้มีพื้นที่การสร้างพื้นที่สีเขียว ให้เท่ากับพื้นที่ก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ ตั้งเป้าไว้ที่ 1 ล้าน ตร.ม. ภายใน 10 ปี
“สิงห์ เอสเตท ตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนำมาซึ่งปัญหาภาวะโลกร้อน ภัยภิบัติ และส่งผลกระทบด้านสังคม และชุมชน และเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก บริษัทเล็งเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจในอนาคต จึงได้มีการเก็บข้อมูลคาร์บอนองค์กรในระยะเวลาที่ผ่านมา และตั้งเป้าสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ รวมทั้งการเพิ่มพื้นที่ดูดซับคาร์บอน หรือการปลูกป่าให้ได้มากที่สุด รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ และส่งต่อความรู้ในการช่วยกันลดคาร์บอนให้กับคนในเมืองผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม จึงเป็นที่มาของ ‘โครงการปลูกป่าด้วยปลายนิ้ว’ โดยได้รับการสนับสนุนด้านพื้นที่ปลูกป่าจากสิงห์ปาร์ค เชียงราย จำนวน 625 ไร่ เป็นเขตพื้นที่เชิงเขา และเขตป่ารอยต่อ ที่มีความสำคัญในการสร้างป่าในระยะยาว นอกจากนี้ ยังได้เทคโนโลยีในการสำรวจติดตามการเจริญเติบโตของต้นไม้ และปริมาณการดูดซับคาร์บอน จากไทยคมมาช่วยตลอดระยะเวลาโครงการ สยามคูโบต้า ที่ให้นวัตกรรมเข้ามาช่วยให้การปลูกป่าจำนวนมากได้เร็วขึ้น รวมถึงหน่วยงานราชการจากจังหวัดเชียงราย และชุมชนในพื้นที่ โดยตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากที่สุด อย่างน้อยคือต้องเพิ่มให้ได้เท่ากับพื้นที่ก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท หรือไม่น้อยกว่า 1 ล้าน ตร.ม. ในระยะเวลา 10 ปี นอกจากนี้ ยังมุ่งหวังในการสร้างความตระหนักรู้ให้คนเมืองที่ไม่ได้มีเวลาหรือพื้นที่ในการไปปลูกป่า แต่ก็สามารถช่วยลดคาร์บอนได้ง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน” CEO สิงห์ เอสเตท กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน นายพงษ์รัตน์ เหลืองธำรงเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงห์ปาร์ค เชียงราย กล่าวว่า “สิงห์ปาร์ค คือ Social enterprise ของสิงห์ คอร์เปอเรชั่น และบริษัทในเครือ โดยมุ่งหวังในการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการปลูกป่าด้วยปลายนิ้วนี้ ถือเป็นหนึ่งในโครงการของบริษัทในเครือ สิงห์ปาร์คจึงยินดีอย่างยิ่งในความร่วมมือครั้งนี้ โดยได้จัดพื้นที่ประมาณ 625 ไร่ไว้ให้เป็นพื้นปลูกป่า และพื้นที่ดูแลป่า ซึ่งบริเวณนี้เป็นเขตป่ารอยต่อที่มีความสำคัญ และเป็นแนวป้องกันภัยทางธรรมชาติ ซึ่งถ้ามีการเพิ่มพื้นที่ป่าบริเวณนี้ก็จะยิ่งทำให้เกิดความสมบูรณ์ของป่ามากยิ่งขึ้น และเกิดประโยชน์มากที่สุด”
“โครงการนี้เปรียบเสมือนการต่อยอดการดูแลป่าของสิงห์ปาร์ค ซึ่งจากมาตรฐานการดูแลและตรวจวัดการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วม จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะบริเวณรอบ ๆ สิงห์ปาร์คมีทั้งชุมชนและกลุ่มชาติพันธุ์อยู่หลากหลาย ถือเป็นโครงการที่ดีที่จะส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนระยะยาว อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ดูดซับคาร์บอน ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลกอีกด้วย” นายพงษ์รัตน์ กล่าว
โครงการปลูกป่าด้วยปลายนิ้วยังได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากองค์กรอื่นอีกด้วย โดย บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้ให้บริการธุรกิจดาวเทียม โดย นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ไทยคม กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาในการดำเนินธุรกิจของไทยคม เราไม่เพียงมุ่งขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตได้อย่างมั่นคงเท่านั้น แต่ยังมีเจตนารมณ์ในการสร้างความยั่งยืนให้กับสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีอวกาศ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์และต่อยอดบริการ พร้อมสร้างโซลูชันที่สนับสนุนการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจอวกาศใหม่ หรือ New Space Economy เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศในทุกมิติ โดยเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อมและภาคเกษตรที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเราได้มีส่วนช่วยสนับสนุนการสร้างความมั่นคงด้านอาหารและสิ่งแวดล้อม รวมถึงระบบนิเวศต่าง ๆ ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ด้วยเทคโนโลยีของดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลก หรือ Earth Observation ที่มาบูรณาการร่วมกับความเชี่ยวชาญด้านแบบจำลอง AI/ML ของไทยคมเอง ดังเช่นความร่วมมือกับสิงห์ เอสเตท, สิงห์ปาร์ค และสยามคูโบต้าในครั้งนี้ ที่ไทยคมนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้เป็นนวัตกรรมสำหรับการติดตามและตรวจสอบการเติบโต รวมถึงสุขภาพของต้นไม้ โดยเฉพาะในพื้นที่แปลงปลูกป่าขนาดใหญ่ที่ยากต่อการเข้าไปดูแลรักษา เพื่อสนับสนุนการรักษาสมดุลระหว่างการดูดซับก๊าซคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศ มุ่งสู่ความเป็นกลางของคาร์บอนในอนาคต”
นายพิษณุ มิลินทานุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวด้วยว่า “สยามคูโบต้า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสยามคูโบต้าที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้น “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ SDGs โดยมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาด้านความมั่นคงทางอาหาร การศึกษาของเยาวชน ความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม และรักษาสิ่งแวดล้อม ในฐานะธุรกิจที่อยู่ในภาคการเกษตร จึงได้ผลักดันให้เกิดการทำเกษตรปลอดการเผา หรือ Zero Burn ด้วยการส่งเสริมองค์ความรู้และนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ช่วยลดการเผาในพื้นที่การเกษตร ตลอดจนสร้างรายได้จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ และยังมีแผนขยายผลสู่โครงการเกษตรลดโลกร้อน รองรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรให้เป็นศูนย์ Net Zero Emission ภายในปี 2050”
“กิจกรรมครั้งนี้ สยามคูโบต้าได้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร ได้แก่ รถขุดคูโบต้า ขนาด 3 ตัน รุ่น U35 และ รุ่น KX91-3S2 รวมถึงแทรกเตอร์คูโบต้า 50 แรงม้า รุ่น L5018 SP พร้อมเครื่องเจาะหลุม DR550 สำหรับเตรียมหลุมให้เหมาะสมต่อการปลูกต้นกล้า นอกจากนี้ยังมีโดรนการเกษตร ขนาด 20 ลิตร รุ่น AGRAS T20 สำหรับพ่นปุ๋ยบำรุงหลังการปลูกป่า เพื่อร่วมสนับสนุน “โครงการปลูกป่าด้วยปลายนิ้ว” บนพื้นที่ 124 ไร่ อีกทั้งความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของการทำ Co-Branding ในการผนึกกำลังสร้างสรรค์ “สังคมแห่งความยั่งยืน” พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อน Net Zero Emission ในประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายไปพร้อมกัน” นายพิษณุ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้โครงการปลูกป่าด้วยปลายนิ้ว โดยสิงห์ เอสเตท ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวและปลูกป่าให้ได้อย่างน้อย 1 ล้าน ตร.ม. โดยเริ่มที่ป่าต้นน้ำในบริเวณไร่สิงห์ปาร์ค จ. เชียงราย จำนวน 625 ไร่ และจะขยายต่อสู่ป่ากลางน้ำหรือป่าในเมือง โดยคาดว่าจะเป็นพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ต่อด้วยพื้นที่ป่าปลายน้ำ หรือป่าโกงกาง ที่เกาะพีพี ตั้งเป้าโครงการระยะยาว 10 ปี ที่จะมีการติดตาม ตรวจวัด และประเมินผล เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด รวมถึงการจัดแคมเปญต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และปลูกจิตสำนึกควบคู่กันไป
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ