ในอดีตช่อง 3 เคยมีรายได้ต่อปีอยู่ที่ 16,000-18,000 ล้านบาท กำไรอยู่ที่ 4,500-6,000 ล้านบาท

เพิ่งรู้จักกับคำว่า “ขาดทุน” เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2561 จากผลพวงของสงครามทีวีดิจิทัล

เป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 22 ปีนับตั้งแต่ช่อง 3 เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2539

จนกระทั่งปีที่ผ่านมาช่อง 3 กลับมามีกำไรอีกครั้งที่ 761 ล้านบาท

ในขณะที่ทีวีอีกหลายช่องยังคงขาดทุน และอาจจะมีบางช่องยอมแพ้ไปอีก

ความจริงก็คือคนดูทีวีน้อยลง แต่คนดูคอนเทนต์มากขึ้น

ดังนั้นจะบริหารจัดการคอนเทนต์ในมืออย่างไรเพื่อให้เข้าถึงคนดูในทุกช่องทาง คือโจทย์ที่สำคัญของเจ้าของสื่อทุกช่อง

เมื่อคิดการใหญ่ แต่ “พลาด” 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2557 เมื่อช่อง 3 ประมูลทีวีดิจิทัลถึง 3 ช่องทั้ง 3 HD, 3SD และ 3 Family ที่รวมกันต้องใช้เงินสูงถึง 6,471 ล้านบาท

จากความคิดที่ว่า การมีต้นทุนเดิมที่แข็งแกร่งทั้งผู้จัดละคร, ผู้ผลิตรายการเกมโชว์, และคนข่าวจำนวนมากที่จะคอยสร้างคอนเทนต์ได้อย่างมากมายต่อเนื่อง

ดังนั้นการมีช่องทีวีในมือ 3 ช่องหมายถึงเวลาขายโฆษณาที่จะเพิ่มมากขึ้นเป็น 3 เท่าตัวเช่นกัน

แต่เมื่อเม็ดเงินโฆษณาในสื่อทีวีไม่ได้มาตามนัด เมื่อช่องทีวีที่มากเกินไปทำให้เม็ดเงินโฆษณาก้อนเดิมถูกตัดแบ่ง รวมทั้งพฤติกรรรมของผู้บริโภคที่ดูทีวีน้อยลงแต่หันไปดูในช่องทางอื่น ๆ ผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น เม็ดเงินโฆษณาส่วนหนึ่งจึงไหลไปยังช่องทางออนไลน์แทน

สงครามทีวีดิจิทัลแค่เริ่มต้นหลายคนก็ขอปิดเกม ช่อง 3 เองก็เหลือเพียงช่องเดียวกับตัวเลขรายได้และกำไรลดลงต่อเนื่อง

และรู้จักกับคำว่า “ขาดทุน” เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2561 จำนวน 330 ล้านบาท

จนกระทั่งปีที่ผ่านมากลับมามองเห็นตัวกำไรอีกครั้งที่ 761 ล้านบาท จากการลีนองค์กร ด้วยการปรับลดคน ลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งมีรายได้จากการกลับมาของรายการข่าวที่มี สรยุทธ สุทัศนะจินดา

ได้เวลา สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กลับมาสร้างโอกาสใหม่ 

สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายธุรกิจโทรทัศน์ สำนักผู้บริหาร บมจ. บีอีซี เวิลด์ (BEC) คือคนที่เข้ามาบริหารจัดการในการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับช่อง 3

เขาเคยเข้ามาร่วมงานกับช่อง 3 ครั้งแรกเมื่อปี 2548 ในยุคที่สื่อทีวีเริ่มขับเคลื่อนด้วยพลังการตลาด และเป็นคนสำคัญคนหนึ่งที่ร่วมสร้างยุคทองของช่องนี้

ทำอยู่ 12 ปี ก่อนไปเป็นผู้บริหารช่อง PPTV เมื่อปี 2560 และหวนกลับมาบริหารช่อง 3 อีกครั้ง ในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายธุรกิจโทรทัศน์ เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 63 ในปีที่มีตัวเลขขาดทุนที่  214 ล้านบาท

ครั้งนี้เขากลับมาด้วยวิชั่นใหม่ของช่อง 3 ที่ไม่ใช่เป็นสถานีทีวีอย่างเดียวอีกต่อไป แต่คือผู้นำของบริษัทที่ผลิตคอนเทนต์ ภายใต้กลยุทธ์ Single Content  Multiple Platform ทำคอนเทนต์ครั้งเดียว มีต้นทุนครั้งเดียว แต่เผยแพร่ได้หลายช่องทางและสร้างรายได้หลายครั้ง

เขาได้กล่าวกับนักข่าวในวันพบสื่อมวลชนหลังจากห่างหายไปประมาณ 2 ปีกว่า

“วันนี้ผมมั่นใจว่าโอกาสในการทำเงินมันมี มีมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะรายได้สามารถมาได้จากหลายช่องทาง ต่างจากอดีตที่ทำออกมาแล้วสามารถดูได้ช่องทางเดียวคือทีวี”

ผลประกอบการช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ยังมาจากกลุ่มทีวี 85% ส่วนอีก 15% เป็นรายได้จากการขายสิทธิ์ละครไปต่างประเทศ และแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ

แต่อีก 5 ปีข้างหน้าช่อง 3 จะไม่พึ่งรายได้หลักจากช่องทีวีอย่างเดียว จะปรับสัดส่วนรายได้ทีวีเหลือ 50% อีก 50% มาจากรายได้อื่น ๆ

แล้วช่อง 3 จะไปถึงเป้าที่เปลี่ยนไปได้อย่างไร

1. การลงทุนสร้าง BEC Studios ที่หนองแขมเฟสแรก 400 ล้านบาท สตูดิโอแห่งนี้เปรียบเสมือนผู้จัดละครอีกรายของช่อง 3 ที่จะลุยงานผลิตละคร เตรียมบุคลากรทั้งในเรื่องเขียนบท และโปรดักชัน เพื่อยกระดับคุณภาพคอนเทนต์ให้เป็นสากลเพื่อเตรียมส่งออกต่างประเทศ

“ถ้าวันหนึ่งเราสามารถทำคอนเทนต์ได้ดีแค่ครึ่งหนึ่งของเกาหลี เราก็จะขายได้ในอีกราคา ทุกวันนี้เราขายในราคาที่ได้ประมาณ 10% ของเกาหลี แต่ในขณะเดียวกันเราก็ใช้ต้นทุนไม่ถึง 10% ของเกาหลี ถ้าเราสามารถขายได้ดีขึ้นต้นทุนก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะสามารถที่จะทำให้ต้นทุนละครของเราแพงขึ้นได้ เพราะรู้ว่ามีตลาดต่างประเทศมารองรับอยู่”

ปัจจุบันช่อง 3 ได้ขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ไปต่างประเทศกว่า 20 ประเทศ จากละครมากกว่า 10 เรื่อง ทั้งจากปี 2564 และปี 2565

เขาเชื่อว่าจุดแข็งของคอนเทนต์ไทยมีคุณภาพที่ดีระดับหนึ่งอาจจะสู้เกาหลีไม่ได้ แต่ถ้าจะเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเราในกลุ่มอาเซียน ไทยคือผู้นำในด้านละครที่หลายเรื่องออนแอร์อยู่ใน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ดังนั้น ทำอย่างไรที่จะทำให้ละครของเราไปในตลาดพวกนี้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศจีน ที่มีคนเป็นจำนวนมาก และละครไทย ดาราไทย ก็ได้เข้าไปเป็นที่รู้จักระดับหนึ่งแล้ว

2. Artist Management บริหารศิลปินในสังกัดที่มีอยู่มากกว่า 150 คน คนกลุ่มนี้เป็นทรัพย์สินที่มีค่าขององค์กรที่สามารถทำงานละคร อีเวนต์ โชว์ต่างประเทศ และเป็นพรีเซนเตอร์ โดยเฉพาะในเรื่องธุรกิจเพลงที่ปีหน้าจะมีคนรับผิดชอบที่ชัดเจน ต่อไปจะทำตลาดขายลิขสิทธิ์เพลงเพิ่มขึ้น จากเพลงละครที่ช่อง 3 ผลิตปีละ 30 เรื่อง

จุดต่างของธุรกิจนี้ คือไม่ได้ปั้นนักร้องใหม่ แต่ดาราในสังกัดอย่างเช่น แต้ว ณฐพร หรือ โบว์ – เมลดา รวมทั้งการสร้างรายได้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ “3Plus” ที่ปัจจุบันมีฐานคนดูกว่า 10 ล้านราย ที่จะเป็นฐานคนดูที่สำคัญในการต่อยอดทำกิจกรรมอื่น ๆ

“ปีหน้าไม่ใช่ปีที่เราจะทำอะไร แต่เป็นปีที่เราชัดเจนแล้วว่าจะเลือกทำกับใคร”

กลุ่มข่าวคือโอกาสสำคัญ เตรียมปรับราคาโฆษณาเพิ่ม

กลุ่มข่าวช่อง 3 ที่มีอยู่หลายช่วงเวลาตั้งแต่เช้ายันดึก เช่น เรื่องเล่าเช้านี้ ข่าวเที่ยง โหนกระแส เรื่องเด่นเย็นนี้ จนถึงข่าว 3มิติ โดยมีพิธีกรหลัก สรยุทธ สุทัศนะจินดา หนุ่ม กรรชัย และกิตติ สิงหาปัด เป็นแม่เหล็กตัวสำคัญ

เป็นช่วงทอปฟอร์มสุด ๆ เพราะสามารถสร้างทั้งเรตติ้งและเม็ดเงิน

“รายการข่าวคือพระเอกตัวจริงของช่อง 3 ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ที่มีการเติบโตที่ชัดเจนถ้าเทียบกับปีก่อน ถึงแม้รายการข่าวซัปพลายในตลาดจะมีมาก แต่ถ้ารายการใดได้รับความนิยมจะสร้างโอกาสที่จะขายโฆษณาได้แพงกว่า” 

เขาบอกว่าถ้ากระแสยังดีต่อเนื่องเชื่อว่าการปรับราคาในช่วงของข่าวจะเกิดขึ้นแน่นอนในปีหน้า

ปัจจุบันรายได้โฆษณาทีวีมาจากละคร 55% ข่าว 30% วาไรตี้และอื่น ๆ 15%

Cross-Platform Ratings โอกาสที่จะมากับการวัดเรตติ้งแบบใหม่

“คนเขาบอกว่า ระบบการวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์ม (Cross-Platform Ratings) ช่อง 3 จะได้ประโยชน์ที่สุด ซึ่งผมก็ไม่อยากปฏิเสธ (หัวเราะ)”

ในเมื่อฐานผู้ชมหลักของช่อง 3 คือกลุ่มคนเมือง, หัวเมืองใหญ่ ๆ และเป็นกลุ่มอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป รวมทั้งเป็นเพศหญิงอายุ 30-40+ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และเข้าถึงแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ทีวีมากที่สุด

ทำให้ช่วยให้เห็นถึงเรตติ้งที่แท้จริงมากยิ่งขึ้น ส่งผลต่อรายได้จากการขายโฆษณาที่จะขายต่อไปด้วย

ความเสี่ยง ความท้าทาย  ของธุรกิจบันเทิง 

โควิด-19 คือตัวอย่างที่ชัดเจนของปัญหาและอุปสรรคในการทำธุรกิจทางด้านบันเทิง รวมทั้งปัญหาเรื่องการเมือง และภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่เราคาดไม่ถึง 

“รายได้หลักของเรายังขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของคนที่จะใช้เงินโฆษณา ถ้าผู้บริโภคอยู่ในภาวะที่เขาไม่พร้อมเพราะปัจจัยต่าง ๆ เขาก็ไม่ใช้เงินโฆษณา” 

ในเรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์ วาไรตี้ อื่น ๆ ที่จะเป็นตัวที่ทำรายได้ให้ช่อง 3 แข็งแรงมากขึ้น แต่ความท้าทายยังอยู่ตรงที่ช่อง 3 จะทำเอง หรือจะร่วมงานกับใคร อย่างไร ถึงจะชนะช่องอื่นในรายการประเภทเดียวกันได้

ส่วนเรื่องละครที่ยังคงเป็นตัวที่ทำรายได้หลักจะสามารถผลิตออกมาถูกจริตคนไทยและมีความเป็นสากลพอที่จะได้ใจตลาดต่างประเทศ นอกจากจะเป็นบทบาทของบีอีซี สตูดิโอแล้ว ยังเป็นโจทย์ที่เขาจะต้องสื่อสารไปยังผู้จัดละครต่าง ๆ ต่อไป

สุดท้ายเขาบอกว่า

“ถามว่าโอกาสจะสามารถกลับไปมีกำไร 4 พัน-5 พันล้านเหมือนในอดีตจะได้หรือเปล่า  ถ้าทุกอย่างที่ทำอยู่เป็นไปตามแผน ต่อให้รายได้ทางทีวีลดลง แต่รายได้รวมก็จะดีขึ้น  แต่ถ้ารายได้ทีวีไม่ จะยิ่งเป็นตัวที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเรา ผมก็หวังว่ากำไรมันต้องเพิ่มขึ้นกว่านี้ ไม่กลับไปเท่าจุดเดิมก็ไม่เป็นไร”



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน