“ลองสำรวจสิ่งของต่างๆ รอบตัวคุณในตอนนี้ดูหน่อยครับ ผมเชื่อว่าอย่างน้อยต้องมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังเชื่อต่อกับอินเทอร์เน็ตอยู่ ไม่ต่ำกว่า 1 ชิ้นเป็นอย่างต่ำ อาจเป็นสมาร์ทโฟนของคุณ คอมพิวเตอร์ในออฟฟิศ สมาร์ททีวีจอยักษ์ที่ติดอยู่บนกำแพง  โน้ตบุ๊กที่เปิดรอให้คุณใช้งาน หรือไอแพดอุปกรณ์สำคัญเวลาเข้าห้องน้ำ โชคดีที่ตู้เย็นบ้านเรายังต่อเน็ตไม่ได้ แต่อนาคตมีแน่” เรียกได้ว่าตั้งแต่เราลืมตาตื่น จนก่อนหลับตาเข้านอนในทุกๆ วัน เราใช้เวลากับโลกออนไลน์มากกว่าเวลาที่กินข้าว อาบน้ำ ออกกำลังกาย ให้อาหารปลาทั้งหมดรวมกันอีกด้วยซ้ำ เราสนิทกับอุปกรณ์เหล่านี้พอกับของเล่นสมัยเด็กๆ ที่เราคิดว่ามันคือทุกอย่างของเราในตอนนั้นถ้าขาดไปจะต้องร้องไห้งอแงจนน้ำตาหมดตัวแน่นอน กรุณายอมรับกันเถอะครับ  “ว่าเราไม่สามารถแยกออกจากโลกคู่ขนานอีกใบได้อีกแล้ว”
อาจดูแปลกไปสักนิดที่ผู้เขียนเกริ่น “เรื่องธรรมดาๆ” ที่ทุกคนรู้สึกคุ้นชินไปแล้ว เพราะวันนี้ Marketeer กำลังนั่งคุยกับ  ศิวัตร เชาวรียวงษ์ ขาใหญ่แห่งวงการดิจิตอลเอเยนซี่และโลกออนไลน์ของไทย

ปัจจุบัน ศิวัตร เชาวรียวงษ์ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มอินเตอร์แอคชั่น จำกัด บริษัทดิจิตอลเอเยนซี่ที่ตนเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อนตั้ง เอ็มอินเตอร์แอคชั่นเป็นหนึ่งในเครือของบริษัท GroupM มีเดียเอเยนซี่ชั้นนำของไทย เปิดรับงานโฆษณาแบบครบวงจรในสายงานดิจิตอลทุกแขนง และเป็นบริษัทดิจิตอลเอเยนซี่ที่มีลูกค้าและผลงานออกสู่สาธารณะมากที่สุดบริษัทหนึ่งในประเทศไทย ณ เวลานี้

.Com พลุแตก

หากย้อนถึงความเป็นมาของศิวัตร ต้องย้อนกลับไปสมัยที่อินเทอร์เน็ตเข้ามาสู่ประเทศไทยยุคแรกๆ

“สมัยนั้นผมเป็นเพียงคนใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วไปเรียนจบและทำงานด้านวิศวกรคอมพิวเตอร์ ผมเป็นยูสเซอร์กลุ่มแรกๆ ของเว็บไซต์ Pantip.com ทำให้รู้จักสมาชิกก่อตั้งของเว็บหลายๆ คน ประจวบเหมาะกับธุรกิจ .Com ในต่างประเทศกำลังได้รับความนิยม ในเมืองไทยเอง ณ ตอนนั้นก็เริ่มตื่นตัวมีเว็บไซต์ดอทคอมเกิดขึ้นในบ้านเราอย่างมากมาย เช่น Sanook.com, Kapook.com”

จุดเปลี่ยนที่ทำให้วิศวกรคอมพิวเตอร์เปลี่ยนเป็นเจ้าพ่อแห่งดิจิตอลเอเยนซี่อยู่ที่ความกล้าที่จะเปลี่ยนงานจากงานทางด้านวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่มั่นคง หันมาจับงานทางด้านเว็บไซต์ ซึ่งในตอนนั้นกำลังเป็นกระแส แต่ไม่มีใครการันตีถึงความสำเร็จในอนาคตได้

“ผมเริ่มงานสายดิจิตอลที่ ชิน คอร์ปอเรชั่น อยู่ 1ปี (เป็นการเปลี่ยนสายงานจากการเป็นวิศวกรด้านคอมพิวเตอร์ตามที่ร่ำเรียนมา) ก่อนออกมาก่อตั้งเว็บไซต์เป็นของตัวเองชื่อ Siam2u เป็นเว็บพอร์ทัลส์ ที่ให้ข้อมูลและหารายได้จากการขายโฆษณาบนเว็บไซต์เหมือนกับเว็บอื่นๆ”
Siam2u เติบโตอย่างรวดเร็วกลายเป็นเว็บพอร์ทัลส์ลำดับที่ 3 ของประเทศไทยในเวลาไม่นานนัก “เมื่อผมมาอยู่กับ Siam2u นอกจากเราขายโฆษณาบนเว็บ เราก็เริ่มเปิดรับพัฒนาเว็บไซต์ให้ลูกค้าองค์กรต่างๆ ด้วย โดยลูกค้ากลุ่มเอกชนที่ทำงานกับเราผ่านเอเยนซี่ ทำให้เรารู้จักกับเอเยนซี่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

Minteraction ACTON!

Minteraction เข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับ GroupM มีเดียเอเยนซี่ยักษ์ใหญ่ในไทย โดยหน้าที่หลักที่รับผิดชอบคืองานออนไลน์ สื่อดิจิตอล งานมีเดียออนไลน์ทั้งหมด ด้วยการที่ GroupM มีลูกค้าอยู่ในมือเยอะมากเป็นทุน ส่วนมากเป็นงานประเภท Traditional Media หรือสื่อเก่าที่เน้นไปทางออฟไลน์ ด้วยความที่แต่ก่อนลูกค้ายังคงมีความกลัวและกังวลไม่แน่ใจกับการเปลี่ยนแปลง หรือการทำโฆษณาบนสื่อออนไลน์ ยึดถือในการทำโฆษณาในสื่อเก่าอยู่เป็นหลัก

ณ ตอนนั้น GroupM ทำได้ดีในสื่อออฟไลน์ แต่การที่มี Minteraction เป็นพาร์ทเนอร์ในฝั่งดิจิตอลก็เปรียบเหมือนเสือติดปีกดิจิตอล สามารถสร้างความเชื่อมั่นใจแก่ลูกค้ามากขึ้น

Play Learn Live Work เล่น เรียนรู้ รู้จักนำไปใช้ ก่อเกิดการทำงาน

“เล่นอินเทอร์เน็ต” ใครๆ ก็เคยเล่นกัน แต่นักการตลาดไม่เล่นด้วย

“ช่วงแรกๆ สมัยที่ยุคของอินเทอร์เน็ตเติบโตในบ้านเรา นักการตลาดส่วนใหญ่กลัวคำว่า ‘เล่นอินเทอร์เน็ต’ เพราะเขาคิดแค่ว่าอินเทอร์เน็ตนั้นมีไว้สำหรับเล่นให้ความบันเทิง ไม่สามารถทำธุรกิจได้เพราะมันคือ การเล่น”

แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป อัตราการเติบโตของธุรกิจบนโลกดิจิตอลเติบโตและเป็นเครื่องมือใช้งบประมาณน้อยกว่าสื่อรูปแบบเก่า แต่สามารถสร้างการรับรู้ได้มากกว่า ตัวอย่างเช่น Viral Clip ถ้าคลิปไหนดังๆ สามารถเรียกยอดเข้าชมได้หลายๆ ล้าน เสียเพียงค่าโปรดักชั่นในการผลิต ซึ่งถูกกว่าคลิปโฆษณาที่ต้องเสียค่าออนแอร์ออกอากาศหลายเท่าตัว

“Play Learn Live Work” คือคติพจน์ของบริษัท เจ้าตัวเล่าให้ฟังด้วยคำพูดเรียบง่ายว่า 4 คำนี้เริ่มต้นจากนิสัยของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกๆ คน รวมถึงตัวเอง

Play – “ทุกคนต้องเริ่มต้นจากการเล่นอินเทอร์เน็ตก่อนทั้งนั้น แต่คำว่าเล่นก็ไม่ได้ให้ความหมายว่าเล่นไร้สาระเพียงอย่างเดียว เพราะว่าถ้าเราไม่เคยเล่นมาก่อน เราก็ไม่รู้จักว่าที่จริงแล้วอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นอย่างไร”
Learn – “ยิ่งเล่นมากก็ยิ่งเรียนรู้มาก เพราะการที่เรารู้จักอินเทอร์เน็ตมากขึ้นเราก็ยิ่งจะยิ่งได้เปรียบ ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมุติว่ามีงานอยู่ 1ชิ้นต้องค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ใช้คนไปทำ 2 คน คนหนึ่งไม่เคยเล่นอินเทอร์เน็ตเขาก็จะไม่รู้ว่าต้องหาข้อมูลที่ไหน ใช้คีย์เวิร์ดอย่างไร ส่วนอีกคนที่เล่นและเรียนรู้ก็จะรู้แหล่งค้นหาและวิธีการที่ดีกว่าแน่นอน”
Live – “คนที่เล่นและเรียนรู้จนสามารถนำเอาอินเทอร์เน็ตมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ดี คนเหล่านี้ก็จะมีข้อได้เปรียบกว่าคนอื่นๆ การที่พวกเขารู้มากกว่าคนอื่นทำให้ใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้นในยุคแห่งโลกที่ขาดอินเทอร์เน็ตไปไม่ได้แบบทุกวันนี้”
Work- “เราในฐานะคนทำงานโฆษณาสิ่งที่ผ่านมาเหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจถึงพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูง เพราะว่าตัวเราเองก็เป็นหนึ่งในนั้น และในแนวคิดเดียวกันนี้อยู่ในฐานะคนทำธุรกิจหรือนักการตลาดที่ประสบปัญหาที่ว่าโลกของเราเดียวนี้เปลี่ยนไป ผมบอกคำเดียว คุณต้องเล่นอินเทอร์เน็ตก่อน”
“Play Learn Live Work” คือ 4 คำที่ศิวัตรและบริษัทของเขาใช้และปฏิบัติมาโดยตลอด 7 ปี แม้ในวันนี้คำเหล่านี้มันดูไม่ใหม่แล้วก็ตาม เพราะเด็กสมัยนี้เกิดมาอาจจะ Live เลยก็ได้ พวกเขาเกิดมาพร้อมกับอินเทอร์เน็ต แต่ในทางกลับกันโครงสร้างมันอยู่ ความหมายก็คือ “ถ้ามีสิ่งใหม่เกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เราก็จำเป็นต้องเข้าไปลองใช้และเรียนรู้มัน”
“คนเราไม่ต้องเรียนรู้ที่จะดูทีวีทำให้สื่อทีวีนั้นง่ายต่อการตอบรับ แต่ทว่าสื่อดิจิตอลไม่ได้เป็นแบบนั้น ถ้าเราไม่เคยใช้ไม่เคยเรียนรู้ไม่เคยสัมผัส เราก็จะไม่มีทางทำโฆษณาให้กับคนดูได้ถูกต้อง เพราะเราไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร หรือส่งออกไปช่องทางไหน”

3G คือจุดพลิก ส่งเสริมชีวิตคนชอบ “ดู” มากกว่า “อ่าน”

ศิวัตร ชี้ให้เห็นถึงจุดเปลี่ยนด้านการสื่อสารผ่านของบ้านเรา คือการเปิดบริการ 3G แม้ว่าจะช้ากว่าคนอื่น แต่การที่ทุกคนได้ใช้ 3G ทำให้การเติบโตของโลกแห่งดิจิตอลนั้นโตขึ้นหลายเท่าตัวและเป็นการเติบโตที่เรียกได้ว่า “ก้าวกระโดดสุดตัว” เมื่อก่อนระบบการสื่อสารผ่านสาย (Fixed Line Network) มีประสิทธิภาพที่ไม่สูงพอ ทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตและการเข้าถึงจะกระจุกอยู่ตามหัวเมืองใหญ่เท่านั้น ส่งผลให้การเติบโตเป็นไปได้ช้ามากในบ้านเรา แต่ปัจจุบันเราสามารถก้าวเข้าสู่ยุคโครงข่ายไร้สายที่มีประสิทธิภาพอย่าง 3G ข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงนั้นจึงหมดไป ด้วยความเร็วของอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น คือจุดพลิกที่ยิ่งใหญ่ สามารถตอบสนองคนไทยที่มีนิสัยเป็นคนอ่านหนังสือน้อยกว่าการดูภาพหรือรับชมวิดีโอได้อย่างตรงจุด
เมื่อก่อนอินเทอร์เน็ตช้าก็คือ ‘Text’ แต่ปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตเร็วก็คือ ‘Multimedia’

Line, Instagram เบอร์รองทั่วโลก เบอร์หนึ่งไทยแลนด์

ตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดในสังคมปัจจุบัน เช่น แอพพลิเคชั่น Line และ Instagram ในปัจจุบันประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการใช้ 2 แอพพลิเคชั่นนี้สูงเป็นอันดันต้นๆ ของโลก เนื่องจากด้วยความที่เป็นคนไทยชอบดู “รูปภาพ” มากกว่าอ่าน “ตัวอักษร”
WhatsApp ยังคงเป็นแชทแอพพลิเคชั่นอันดับหนึ่งของโลก แต่ในประเทศไทย WhatsApp ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรเพราะแอพพลิชั่นไม่มีลูกเล่นที่น่ารัก เน้นคุณภาพในการส่งข้อความที่รวดเร็ว ใช้การส่งข้อความผ่านการพิมพ์ตัวอักษร แต่ตรงกันข้าม แอพพลิเคชั่น Line คือเบอร์ 1 เรื่องการแชทให้ประเทศไทย จุดเดียวที่ Line ชนะ WhatsApp ได้ในไทยเพราะ “สติ๊กเกอร์” ที่น่ารักเท่านั้นเอง
ส่วนทางด้าน Instagram ล่าสุด  Siam Paragon (สยามพารากอน) ก็ติดอันอับ 1 สถานที่ที่มีคนถ่ายภาพด้วย Instagram มากที่สุดในโลกเป็นที่เรียบร้อย (Top Locations on Instagram in 2013)
“ทุกวันนี้ก่อนกินอาหารเราก็ไม่ลืมที่จะถ่ายรูปเพื่ออัพลงโซเชียลเน็ตเวิร์ค หรือจะบอกฝันดีใครสักคน เรายังส่งสติ๊กเกอร์แทนการพิมพ์ข้อความเลย”

Success ที่ไม่ได้แปลว่า ความสำเร็จ

ถ้าเราได้เป็นผู้บริหารมีเงินเดือนสูงๆ บริษัทเป็นเบอร์ 1 ของประเทศในสายงานที่บริษัททำ นี่แหละคือความสำเร็จและเราคงจะมีความสุขแบบสุดขีด ใครๆ ก็คิดแบบนั้น แต่ชายคนนี้มีความSuccess’ ในชีวิตที่ต่างออกไป คำแรกที่หลุดออกมาจากปากของของศิวัตรหลังสิ้นคำถามว่า “อะไรคือความสำเร็จของคุณ”

“ความสุข”
เขาเรียกความสำเร็จของชีวิตตนเองว่า ‘ลัทธินิยมความสุข’ แถมบอกว่ามีอีกหลายคนนะที่นับถือลัทธิเดียวกับเขา
“วิธีวัดความสำเร็จในชีวิต คือการนับจำนวนวันที่มีความสุข ในปีๆ หนึ่งคุณลองถามตัวเองก็ได้ว่า 365 วันที่ผ่านมาคุณความสุขอยู่กี่วัน ถ้าคุณความสุขอยู่สัก 300 วัน เท่ากับคุณประสบความสำเร็จมากในปีนั้น แต่ต่อให้คุณรวยขนาดไหน มีตำแหน่งสูงขนาดไหน แต่คุณมีความสุขแค่ 5 วันต่อปี แบบนี้คุณสำเร็จตรงไหน”
“ทุกวันนี้ผมถือว่าผมประสบความสำเร็จอยู่นะ เพราะในหนึ่งปีผมมีความสุขแค่ 365 วันเอง” เขายิ้มกว้างคล้ายเป็นสัญญาณชักชวนให้คนรอบข้างเข้าร่วมลัทธิความสุขของตน

ในวันที่ชีวิตออฟไลน์ ชีวิตของคนที่ต้องอยู่กับโลกออนไลน์ตลอดอย่างศิวัตรจะเป็นอย่างไร?

“ไม่มี! (ตอบเต็มเสียง) ชีวิตเดียวนี้ใครจะไปออฟไลน์ได้ ต่อให้คุณจะหนีไปเที่ยวทะเลแบบตั้งใจจะละทิ้งโลกออนไลน์ ก็ต้องอัพสเตตัสก่อนว่า 3 วันนี้จะหนีไปอยู่ที่ทะเล แล้วอย่างไรต่อล่ะ พอถึงทะเลก็ถ่ายรูปลงเฟซบุ๊คอยู่ดี หรือไม่จริง!”
“แต่ผมเชื่อนะว่าคนเราสามารถอยู่ได้ถ้าเกิดไม่มีอินเทอร์เน็ตจริงๆ แต่ต้องบอกพวกเขาเนิ่นๆ นะ ไม่ใช่หักดิบ เพราะที่จริงแล้วเราก็เคยผ่านช่วงที่ทุกคนไม่เคยรู้จักคำว่าอินเทอร์เน็ตมาก่อน”

นอกจากงานที่ทำ ลัทธินิยมความสุข และอินเทอร์เน็ต ยังมีอะไรที่ชื่นชอบอีก?

“ถ้ามีคนถามถึงสิ่งที่ผมชอบ ผมมักตอบว่า ‘ความหลากหลาย’ เห็นผมออกกำลังกายด้วยการไปวิ่งบ่อยๆ หรือเป็นเจ้าของบาร์เพลงแจ๊ซ แต่ไม่เห็นจำเป็นว่าผมต้องเป็นแฟนเพลงแจ๊ซ หรือเป็นคนที่ชอบวิ่งเลย เพลงผมก็สามารถฟังได้ทุกแนว กีฬาก็เล่นได้หลายอย่าง ชีวิตผมก็จะเปลี่ยนทำนู่นนี่ไปเรื่อยๆ รวมถึงการคบคนด้วย ผมเป็นคนที่เชื่อในเรื่องจุดแข็งในตัวที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน การที่ได้รู้จักคนเยอะๆ ถือว่าเป็นการเรียนรู้ เช่น คุณมีโอกาสได้นั่งคุยกับเชฟเก่งๆ สักครึ่งชั่วโมง คุณก็จะมีความรู้ใหม่ที่ไม่เคยรู้มาก่อน”

Marketeer เดือนมีนาคม 2557

เรื่อง : นำโชค บุญเกิด

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online