Search Engine สงครามและจุดเปลี่ยนของ Bing ที่จะขอทาบรัศมี Google

เราอยากจะเปิดบทความนี้ด้วยประวัติพอสังเขปของ Google ซึ่งเป็น Search Engine เบอร์ 1 ของโลกมายาวนานกว่า 20 ปี และคงจะเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อยที่เราจะได้รู้จักที่มาที่ไปของบริษัทแห่งนี้แบบสั้น ๆ ก่อนที่จะเข้าสู่เรื่องสำคัญ สำคัญขนาดที่ว่าอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของยักษ์ใหญ่แห่งนี้ที่นิยามตัวเองว่าเป็น World Information เลยก็ว่าได้

Google ก่อตั้งโดย Larry Page และ Sergey Brin ในปี 1998 โดยคำว่า Google มาจากคำว่า “googol” ซึ่งเป็นศัพท์ทางคณิตศาสตร์ มีความหมายว่าถ้าเราเอาเลข 10 ไปคูณกับตัวมันเอง 100 ครั้ง จะได้ผลลัพธ์ (มันคือ 1 โดยมีเลขศูนย์ 100 ตัวตามหลัง) และกว่าที่ Google และบริษัทแม่อย่าง Alphabet จะประสบความสำเร็จจนกลายมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าล้านล้านดอลลาร์อย่างทุกวันนี้ทั้ง Page และ Brin ก็เคยประสบปัญหาในการขายมาก่อน

ในปี 1999 พวกเขาเคยเสนอขาย Google ให้กับ Excite ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตเช่นกัน ในราคา 750,000 ดอลลาร์ แต่ Excite ปฏิเสธข้อเสนอของพวกเขา เพียง 5 ปีนับจากวันนั้น Google สามารถระดมทุนได้ถึง 1,670 ล้านดอลลาร์ในการ IPO ในปี 2004

ปัจจุบัน Google กลายเป็น Search Engine อันดับ 1 ของโลก ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 20% นับตั้งแต่ปี 2011 สร้างรายได้มากกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งเป็นเงินสดหลังหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการค้นหา มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นมากกว่าสามเท่าเป็น 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ และกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดอันดับ 4 ของโลกเป็นรองเพียง Apple, Microsoft  และ Saudi Aramco เท่านั้น

Google + Monopoly

หลายคนคงเคยสงสัยว่าอะไรทำให้ Google สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดและเป็นเบอร์ 1 ของ Search Engine ของโลกทั้งที่หน้าตาของเว็บไซต์ Google.com ก็ดูไม่ได้มีอะไรสลับซับซ้อน อีกทั้งถ้าเรามองไปยังบรรดาคู่แข่งไม่ว่าจะตัวเล็กหรือตัวใหญ่ก็น่าจะมีทรัพยากรในการต่อกรกับ Google ได้ไม่ยาก

จากข้อมูลของ SparkToro บริษัทวิเคราะห์การตลาดที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ข้อมูลที่ไม่ระบุตัวตนจากผู้ใช้หลายร้อยล้านคนพบว่าตัวเลขประมาณ 62.6% ของการค้นหาออนไลน์ทั้งหมด ผู้ใช้ค้นหาผ่านฟังก์ชันหลักของ Google ก็คือที่ Google.com นั่นเองซึ่งตัวเลขดังกล่าวไม่รวมฟังก์ชันอื่น ๆ ของ Google อย่างเช่น การค้นหารูปภาพ ผ่าน Google Image Search หรือ Google Maps หรือแม้กระทั่งการค้นหาวิดีโอผ่าน YouTube เมื่อรวมกันแล้ว Google ครองส่วนแบ่งการตลาดได้ถึง 90.8% ของการค้นหาบนเว็บ มือถือ อุปกรณ์เคลื่อนที่ และในแอปพลิเคชัน

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงว่าการที่ Google นั้นเหมือนยาสามัญประจำบ้าน เพราะถ้าทุกคนลองกดปิดเบราว์เซอร์และเปิดใหม่ขึ้นมาจะเห็นว่าถ้าคุณกดค้นหาแม้กระทั่งในช่องพิมพ์ URL Address ผลลัพธ์การค้นหาก็จะไปโผล่ใน Google

แถมในปี 2008 Google ก็ได้เปิดตัวเบราว์เซอร์เป็นตัวเองอย่าง Google Chrome กินส่วนแบ่งผู้ใช้งานถึงกว่า 65% ของตลาดผู้ใช้อินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ Google ยังเป็นผู้คิดค้นระบบปฏิบัติการมือถือ Android  เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มวิดีโอชื่อดังอย่าง YouTube คงจะมีแค่คำกล่าวสั้น ๆ ให้กับ Google ว่า Google is everywhere หรือ Google จะอยู่กับคุณไปทุกที่

และเหตุผลอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เจ้าแห่ง Serach Engine รายนี้แทบจะผูกขาดอุตสาหกรรมก็คือเรื่องของอัลกอริทึมและคณิตศาสตร์เบื้องหลังการทำงานในการประมวลผลลัพธ์ในการค้นหา เชื่อหรือไม่ว่า ใน 1 ครั้งที่เรากด Enter เพื่อส่งคำถามไปถาม Google ระบบหลังบ้านจะทำงานในระดับที่เกินที่มนุษย์จะจินตนาการได้

ผู้เขียนลองค้นหาด้วยคำถามว่า “Google ค้นหาผลลัพธ์ให้กับเราได้อย่างรวดเร็วได้อย่างไร” ผลลัพธ์ก็คือ เราได้คำตอบที่ Google คิดว่าเกี่ยวข้องกับคำถามของเรากว่า 1,220,000,000 ผลลัพธ์ ภายใน 0.43 วินาที (คือไม่ถึง 1 วินาที) นี่ยังไม่รวมสถิติ ที่มีผู้คนค้นหาคำตอบและ Google ต้องประมวลผลการค้นหากว่า 3.5 พันล้านครั้งต่อวัน

แน่นอนว่าถ้าไปลองใช้อัลกอริทึมอย่างอื่นในการค้นหาคงมีค่าใช้จ่ายที่สูงอย่างแน่นอน ซึ่งวิธีเดียวที่จะทำให้ผู้คนเปลี่ยนใจหันไปใช้ Seach Engine อื่นก็คือ จะต้องมีผลิตภัณฑ์ของสักค่ายหนึ่งทำโปรดักส์ออกมาดีกว่า Google  10 เท่า และ ณ จุดนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวดูเหมือนจะไม่น่าเกิดขึ้น  (แต่ถ้าอ่านต่อไปในบทความนี้ ไม่แน่ว่าในปี 2023 อาจจะกำลังมีแล้วก็ได้)

การถือกำเนิดของ ChatGPT

ChatGPT มาจากคำว่า Chat Generative Pre-trained Transformer) เป็น Chatbot ที่พัฒนาโดยบริษัท OpenAI และเปิดตัวในวันที่ 30 เดือนพฤศจิกายน 2022 ChatGPT ถูกสร้างขึ้นบนโมเดลภาษาขนาดใหญ่ในตระกูล GPT-3 ของ OpenAI และได้รับการปรับแต่งอย่างละเอียดโดยใช้ทั้งเทคนิคการเรียนรู้แบบมีผู้สอนและการเรียนรู้ด้วยตนเอง

ChatGPT ได้รับความสนใจอย่างรวดเร็วจากจุดเด่นที่การให้คำตอบโดยละเอียด สามารถทำงานได้หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น การแต่งเพลง คิดคอนเทนต์ บอกสูตรอาหาร เขียนโค้ด โดยรวมคือเจ้า ChatGPT ให้คำตอบที่ชัดเจนในขอบเขตความรู้ต่าง ๆ ที่กว้างขวาง อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญในแขนงวิชาต่าง ๆ ยังคงมีข้อสงสัยในความถูกต้องเชิงข้อเท็จจริงที่ ChatGPT ให้คำตอบกับผู้ใช้ว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใดโดยหลังจากการเปิดตัว ChatGPT มูลค่าของ OpenAI กระโดดไปอยู่ที่ประมาณ 29,000 ล้านดอลลาร์ทันที โดยสร้างปรากฏการณ์มีผู้ใช้งานครบ 1 ล้านยูสเซอร์ภายในระยะเพียง 5 วัน

เมื่อ Microsoft จับเอา ChatGPT มาใส่ใน Bing

เพื่อเสริมสร้างความได้เปรียบในเชิงธุรกิจ  Microsoft ได้ผนึกพลังงานการทำงานอันชาญฉลาดของ AI Chatbot อย่าง ChatGPT มาใส่ในบริการหลักของบริษัทคือ Bing Search Engine และเบราว์เซอร์  Microsoft Edge แล้ว

โดยเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์  2023  Microsoft เปิดเผยว่า Bing เวอร์ชันใหม่ จะรวมเอา ChatGPT เข้าไว้ด้วยกัน Satya Nadella CEO ของ Microsoft มองว่านี่เป็นโอกาสที่จะท้าทาย Google และอาจมีโอกาสในการเขย่าบัลลังก์จ่าฝูงให้สั่นคลอนได้

Microsoft ระบุว่า ที่ผ่านมาคำถามราว 50% ที่คนพิมพ์หาใน Search Engine นั้นจะไม่ได้รับคำตอบตามที่ต้องการ เพราะว่าแต่ละคำถามก็จะมีความละเอียดยิบย่อยลงไปจนเกินความสามารถของระบบค้นหาธรรมดา ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาโดยบริษัทจะใช้ระบบแบบใหม่ชื่อ Prometheus Model จาก OpenAI มาช่วย

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2019  Microsoft ใช้เงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ในบริษัทสตาร์ตอัปอย่าง OpenAI ซึ่งเป็นสตาร์ตอัปที่ก่อตั้งโดย Sam Altman และ Elon Musk ถัดมาในปี 2023 Microsoft ประกาศลงทุนเพิ่มกับ OpenAI ผู้พัฒนา ChatGPT อีก 10,000 ล้านดอลลาร์ คิดจากมูลค่ากิจการของ OpenAI ที่อยู่ที่ 29,000 ล้านดอลลาร์ ที่ผ่านมา Microsoft ใช้ปัญญาประดิษฐ์หลายอย่างกับการให้บริการในส่วนของ Microsoft Azure ซึ่งเป็นระบบคลาวด์ของบริษัทพร้อมทั้งเป็นการกำหนดเป้าหมายในการแข่งขันกับคู่แข่งอย่าง Alphabet บริษัทแม่ของ Google

หรือ Google ต้องเริ่มระวังหลังบ้างแล้ว?

หลังจากที่ Microsoft ประกาศจะใช้ ChatGPT ใน Bing แน่นอนว่าเหล่าบรรดานักลงทุนรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องย่อมรู้สึกถึงภัยคุกคามที่กำลังจะมาถึง ตามรายงานของ eMarketer บริษัทวิจัยด้านการตลาด คาดว่าส่วนแบ่งรายได้ของ Google จากการโฆษณาผ่านการค้นหาในอเมริกาจะลดลงเหลือ 54% ในปีนี้ โดยลดลงจาก 67% จากที่เคยทำได้ในปี 2016 หลังจากการเปิดตัวของ ChatGPT ซีอีโอของ Alphabet คือ Sundar Pichai ได้ประกาศว่านี่คือ ภัยคุกคาม Google อย่างแท้จริง

เพื่อให้เข้าใจว่าเหตุใด Google ถึงกลัว Chatbot ก่อนอื่นเราต้องไปดูที่เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง Chatbot กันก่อน ChatGPT ทำงานโดยใช้การคาดคะเนคำถัดไปในประโยคที่ตอบสนองต่อข้อความค้นหา การคาดคะเนเหล่านี้อิงจาก “แบบจำลองทางด้านภาษาขนาดใหญ่” ซึ่งเป็นผลจากการวิเคราะห์ข้อความนับล้านที่รวบรวมมาจากอินเทอร์เน็ต เมื่อได้รับการฝึกฝนจากข้อความนับล้าน ๆ ทั้งหมดนี้แล้ว Chatbot สามารถเขียนคำตอบได้อย่างรวดเร็วเมื่อได้รับคำแนะนำจากผู้ใช้ แทนที่จะแสดงรายการลิงก์เพียงอย่างเดียว

เปรียบเทียบกับการที่คุณค้นหาบน Google คุณต้อง คำค้นหา Search Queries หรือวลี หรือประโยคอะไรบางอย่าง  เช่นคุณต้องการไปเที่ยวสักที่ที่เด็กไปได้และเด็กได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จากการไปเที่ยวในครั้งนี้ คุณอาจจะพิมพ์ว่า

“ช่วยแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับที่ไหนสักแห่งในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย +ที่ ราคาถูก+และเป็นมิตรกับเด็กและได้ความรู้ให้ฉันได้หรือไม่?”

ถ้าคุณค้นหาบน Google หรือ Bing แม้กระทั่ง Baidu คุณจำเป็นต้องเปรียบเทียบและหาคำตอบจากเว็บไซต์หลายสิบแห่งและอ่านข้อความจำนวนมาก ในทางตรงกันข้ามเลย ChatGPT สามารถแยกรายการตัวเลือกที่เหมาะสมออกมา ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง จากนั้นผู้ใช้สามารถเพิ่มการพิจารณาเพิ่มเติมหรือขอข้อมูลเพิ่มเติมจาก Chatbot ได้นี่คือความได้เปรียบ

และเมื่อวิธีการค้นหาข้อมูลเปลี่ยนไป มันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบที่ผู้คนใช้ค้นหาคำตอบด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างว่าผู้ใช้สามารถใช้การค้นหาแบบสนทนาเพื่อสร้างเนื้อหาต้นฉบับกับ ChatGPT ได้ด้วยตนเองอย่างเช่นการให้ ChatGPT เขียนบทกวีและบทความในสไตล์ของนักเขียนที่ผู้ค้นหาชื่นชอบได้ แม้กระทั่งนักทำ SEO บางคนยังให้ ChatGPT ช่วยลิสต์ Keyword เพื่อทำ SEO ได้เลย นี่คือความพิเศษมาก ๆ ที่ ณ ตอนที่ทำบทความ Google ก็ยังทำไม่ได้

Google ไม่ยอมงัด Bard ขึ้นมาสู้

มีหรือที่พี่ใหญ่แห่งวงการ Search อย่าง Google จะยอมให้ Microsoft มา Disrupt ได้ง่าย ซึ่งในส่วนของ Google เองก็ได้ประกาศเปิดตัว Bard AI Chatbot จากค่าย Google ซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรงกับ ChatGPT โดย Google จะให้ Bard ทำหน้าที่เป็น “พาร์ตเนอร์” ควบคู่ไปกับ Google Search ซึ่งก็คล้าย ๆ กับการทำงานร่วมกันระหว่าง Bing และ ChatGPT

 

โดยเบื้องหลังการทำงาน Bard จะถูกขับเคลื่อนโดย Google Language Model for Dialogue Applications หรือ LaMDA  ซึ่งได้รับการพัฒนามาเป็นเวลาหลายปี โดยโมเดลการทำงานของ Bard จะคล้าย ๆ กับ ChatGPT ด้วยการดึงข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเพื่อให้การตอบสนองต่อคำถามของผู้ใช้โดยตรง Sundar Pichat บอกว่า Bard จะเปิดให้ผู้ทดสอบที่มีความน่าเชื่อถือได้เข้าทำการทดสอบได้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2023 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ Google ยังได้ซื้อหุ้นของ Anthropic เป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งบริษัทแห่งนี้ก่อตั้งโดยอดีตพนักงานของ Openai และได้สร้าง Chatbot ชื่อ Claude โดยมีการคาดการณ์กันว่า Google น่าจะลงทุนเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมการค้นหาข้อมูลของผู้คนในอนาคตและเพื่อรับมือกับภัยคุกคามเชิงธุรกิจในอนาคตอีกด้วย

Sundar Pichai ซีอีโอของ Google เขียนไว้ในบล็อกโพสต์ว่า

“มันเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นมากที่ได้ทำงานกับเทคโนโลยีเหล่านี้ ในขณะที่เราแปลงานวิจัยเชิงลึกและนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยผู้คนได้อย่างแท้จริง”

ในส่วนของผู้ตามหลังห่าง ๆ อย่าง Baidu หรือที่รู้จักในชื่อ Google of China ราคาหุ้นก็พุ่งสูงขึ้นเช่นกันเมื่อมีข่าวว่ายักษ์ใหญ่ของจีนจะปล่อย Chatbot ที่เรียกว่า Ernie ออกมาในช่วงเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้

อนาคตของตลาด Internet Search

ปี 2023 ทั้ง Microsoft และ Google ก็ได้หงายไพ่เฉลยออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า AI Chatbot คืออนาคตของวงการ Search Engine พวกเขาเฝ้าดูปฏิกิริยาตอบสนองของผู้คนต่อความฉลาดของ ChatGPT แล้วก็ไม่ลังเลที่จะกระโดดเข้าร่วมวงแห่งโอกาส ดังนั้นพวกเราเตรียมเฝ้าดูได้เลยว่าผู้ตามรายอื่น ๆ อย่าง Baidu Yahoo หรือแม้กระทั่ง Yandex ของรัสเซีย คงไม่รีรอให้ตัวเองถูกดิสรัปชันแน่ ๆ และนี่คือกำไรของผู้ใช้งาน

แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้สันทัดกรณีตั้งข้อคำถามต่อรูปแบบธุรกิจนี้ในช่วงเวลานับต่อจากนี้ก็คือ แล้วบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Google Microsoft หรือแม้กระทั่ง Baidu จะสามารถทำเงินจากสิ่งนี้เหล่านี้ได้หรือไม่ และถ้าได้จะได้อย่างไร

คำตอบลาง ๆ เริ่มปรากฏให้เห็นเมื่อ OpenAI กำลังเปิดตัว ChatGpT เวอร์ชันพรีเมียม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ $20 ต่อเดือน (หรือประมาณ 600-700 กว่าบาทต่อเดือน) เพื่อเข้าถึงข้อมูลที่ผู้ใช้ต้องการได้อย่างรวดเร็วแม้จะเป็นช่วงที่มีแทรฟฟิกการใช้งานที่หนาแน่น

ส่วน Google และ Microsoft ซึ่งขายโฆษณาบนเครื่องมือค้นหาของตัวเองอยู่แล้ว จะแสดงโฆษณาควบคู่ไปกับการตอบสนองของ Chatbot ที่ขอคำแนะนำการเดินทาง พูด และโฆษณาที่เกี่ยวข้องจะปรากฏขึ้น แต่รูปแบบธุรกิจนั้นอาจไม่ยั่งยืน เพราะการเรียกใช้ Chatbot ต้องการพลังในการประมวลผลมากกว่าการแสดงผลการค้นหาแบบธรรมดาที่มากกว่ามาก ดังนั้นในส่วนนี้จึงมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า และจะทำให้อัตรากำไรลดลงไปโดยปริยาย

ส่วนการทำเงินจากบริการนี้ในรูปแบบอื่น ๆ ผู้เชี่ยวชาญก็คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน อย่างเช่นการเรียกเก็บเงินจากผู้ลงโฆษณามากขึ้นสำหรับ “ความสามารถในการโน้มน้าวคำตอบ” พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ Chatbot อาจจะให้คำตอบที่เป็นข้อความคล้ายอินฟลูเอนเซอร์พูดเชิญชวนให้คนไปซื้อของหรือใช้บริการซึ่งเป็นข้อความที่มาจาก Chatbot

หรืออาจจะเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้ลงโฆษณา กรณีที่ต้องการให้มี Link เชื่อมไปยังเว็บไซต์ที่ปลายทางของการขายสินค้า Chatbot ในอนาคตจะฉลาดขึ้นให้คำตอบได้ลึกขึ้นและตรงกับสิ่งที่ผู้ใช้ค้นหามากกว่า แต่คำถามที่จะต้องถามต่อไปคือ แล้วผู้คนจะอยากใช้ AI Chatbot ไหม หากความเป็นกลางของคำตอบถูกควบคุมโดยผู้ลงโฆษณา (ที่จ่ายเงินให้ Google หรือ Microsoft)

.

อ้างอิง

https://www.economist.com/business/2023/02/08/is-googles-20-year-search-dominance-about-to-end

 

https://www.economist.com/leaders/2023/02/09/the-battle-for-internet-search?itm_source=parsely-api

 

https://www.inspire.scot/blog/2016/11/11/top-12-best-search-engines-in-the-world238

https://www.searchenginejournal.com/seo-guide/meet-search-engines/#close

 

https://www.searchenginejournal.com/seo-guide/meet-search-engines/#close

 

https://learningenglish.voanews.com/a/bard-chatgpt-set-up-google-microsoft-battle/6954007.html

 

https://www.reuters.com/technology/bard-vs-chatgpt-what-do-we-know-about-googles-ai-chatbot-2023-02-07/

 

https://www.thehindubusinessline.com/blexplainer/what-is-googles-conversational-ai-service-bard/article66488381.ece

 

https://kinsta.com/search-engine-market-share/#:~:text=Google’s%20market%20share%20fluctuates%20between,it%20was%20introduced%20in%201997.

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน