วงการเทคโนโลยีและยานยนต์ คือสองอุตสาหกรรมใหญ่จีนที่ทำได้ดีมาก ณ ปัจจุบัน โดยอุตสาหกรรมหลังซึ่งกำลังเปลี่ยนผ่านจากรถขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเป็นพลังงานไฟฟ้าหรือที่เรียกกันติดปากว่ารถ EV นั้น จีนถือเป็นตลาดรถ EV ใหญ่สุดในโลก ถึงขนาดที่ Tesla ต้องมาเปิดโรงงาน

และ BYD ก็ถือเป็นแบรนด์ EV ที่ชาวเอเชียรู้จักกันดี นอกจากนี้ จีนยังถือเป็นเบอร์ใหญ่ในตลาดแบตฯ รถ EV มี CATL บริษัทอันดับ 1 ของโลกสัญชาติจีน

ผลจากการขยายตัวของตลาดตามความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ปี 2022 CATL โกยกำไรไปมากถึง 4,410 ล้านดอลลาร์ (ราว 152,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 93% จากปี 2021

การขยายตัวของอุตสาหกรรมแบตฯ รถ EV ยังทำให้จีนมุ่งหาแหล่งแร่ลิเทียมป้อนสู่สายพานการผลิต โดยเมื่อมกราคมที่ผ่านมาก็เพิ่งตอกย้ำความเป็นเบอร์ใหญ่ของวงการและเพิ่มแต้มต่อด้วยการที่ CATL คว้าดีลทำเหมืองลิเทียมใหญ่สุดในโลกที่โบลิเวีย

แน่นอนว่าจีนไม่หยุดแค่นี้ โดยได้เดินหน้าพัฒนาแบตฯ จากแร่ประเภทอื่นแล้ว และยังทิ้งห่างบริษัทของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ แบบไม่เห็นฝุ่นอีกด้วย

LexisNexis บริษัทเก็บรวบรวมข้อมูลด้านสิทธิบัตรสัญชาติอเมริกัน ระบุว่า 10 ปีที่ผ่านมาบริษัททั่วโลกยื่นขอจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีแบตฯ โซเดียม 9,862 ใบ โดยในจำนวนนี้ 5,486 ใบหรือคิดเป็นกว่า 50% จากทั้งหมดเป็นของบริษัทสัญชาติจีน ซึ่งหนึ่งในนั้นมี CATL รวมอยู่ด้วย

บริษัทญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และฝรั่งเศส ตามมาห่าง ๆ ในอันดับ 2-5 ด้วยจำนวนการยื่นขอจดสิทธิบัตร 1,192 ใบ 719 ใบ 595 ใบ และ 128 ใบ ตามลำดับ

การเหนือกว่าดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จีนครองความเป็นใหญ่ในตลาดแบตฯ ลิเทียม ซึ่งใช้กันมากสุดในรถ EV ปัจจุบัน และน่าจะครองความเป็นใหญ่ในตลาดแบตฯ โซเดียม เทคโนโลยีทางเลือกที่จะมาแทนแบตฯ ลิเทียมในอนาคต เพราะแม้ประสิทธิภาพเป็นรอง แต่ราคาถูกกว่าราว 60-70% 

แนวโน้มที่จีนจะขึ้นเป็นเบอร์ใหญ่ในตลาดแบตฯ โซเดียม ที่ใช้ในรถ EV รวมไปถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ แสดงให้เห็นผ่านความมุ่งมั่นและขยับตัวเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ ของทั้งรัฐบาลและภาคเอกชน

รัฐบาลจีนได้บรรจุโครงการพัฒนาแบตฯ โซเดียมอยู่ในแผนแม่บทด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมฉบับที่ 14 ในส่วนของอุตสาหกรรมพลังงานที่จะกินเวลา 5 ปี และจะไปสิ้นสุดปี 2025

ขณะที่ปีนี้ CATL ประกาศผลิตแบตฯ โซเดียมสำหรับรถ EV ในระดับอุตสาหกรรม

ความก้าวหน้าและความใหญ่ของจีนในตลาดแบตฯ โซเดียม ยังแสดงให้เห็นถึงความตกต่ำของญี่ปุ่นในด้านนวัตกรรมด้วย เพราะเมื่อปี 2015 ญี่ปุ่นเป็นแชมป์สิทธิบัตรของเทคโนโลยีนี้

สถานการณ์ในอุตสาหกรรมแบตฯ ที่ขยายตัวตามตลาดรถ EV ยังมีอีกหลายประเด็นให้ติดตาม โดยนอกจากความใหญ่ของจีนทั้งในตลาดแบตฯ ลิเทียมต่อเนื่องด้วยแบตฯ โซเดียมแล้ว และแซงหน้าประเทศอื่น ๆ จีนยังพัฒนาแบตฯ จากแร่อื่น ๆ เช่น สังกะสี

ขณะที่ญี่ปุ่นแม้ตามหลังจีนเรื่องแบตฯ โซเดียม ท่ามกลางความถดถอยด้านนวัตกรรมบนเวทีโลก แต่ก็ยังกู้ศักดิ์ศรีมาได้บ้าง ด้วยการยื่นขอจดสิทธิบัตรแบตฯ ฟลูออไรด์อยู่มากสุด ส่วนสหรัฐฯ ก็ยื่นขอจดสิทธิบัตรแบตฯ แมกนีเซียมมากสุดในโลก

ดังนั้นหากมองในภาพใหญ่อุตสาหกรรมยานยนต์จึงกำลังขยับจากการพึ่งพาน้ำมันและประเทศที่มีแหล่งน้ำมันไปเป็น การหาแหล่งแร่ต่าง ๆ เพื่อการผลิตแบตฯ อันได้แก่ ลิเทียม โซเดียม สังกะสี ฟลูออไรด์ และแมกนีเซียม

จนทำให้อนาคตประเทศที่มีแร่เหล่านี้จะมีบทบาทในเวทีโลกเพิ่มมากขึ้น แบบเดียวกับที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) มีอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง/nikkei, lexisnexis



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน