ความเข้มงวดและการจัดระเบียบ กลายเป็นสองคำที่อธิบายจีนช่วง 3-4 ปีมานี้ได้ดีที่สุด โดยคำแรกถูกใช้ไปกับการปราบโควิดเสียอยู่หมัดจนทั่วโลกต่างทึ่ง แม้มาตรการเข้มงวดถูกใช้ต่ออีกพักใหญ่นานกว่าประเทศอื่น ๆ จนกระทบต่อเศรษฐกิจจีนก็ตาม
ส่วนอีกคำคือการจัดระเบียบ ที่รัฐบาลจีนนำมาใช้กับแทบทุกวงการไล่ตั้งแต่เทคโนโลยี สังคม อุตสาหกรรมบันเทิง หรือการศึกษา เพื่อทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย และ ‘ปิดปาก’ ไม่ให้มหาเศรษฐีหรือ Online Influencer ส่งเสียงดังได้จนท้าทายอำนาจของรัฐบาล
ในส่วนของวงการการศึกษา กลางปี 2021 รัฐบาลจีนได้จัดระเบียบธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา และช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของลูกหลานที่ครอบครัวต้องจ่ายไป
พร้อมตัดไฟไม่ให้ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาที่มีมูลค่า 120,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 3.9 ล้านล้านบาท) ฉวยโอกาสทำกำไรหลังอนุญาตให้มีลูกเพิ่มได้อีก
นี่ทำให้บริษัทในธุรกิจกวดวิชาจีน โดยเฉพาะโรงเรียนกวดวิชาใหญ่ ๆ อย่าง New Oriental Education Technologies ทรุดหนัก มูลค่าบริษัทหายไปถึง 7,700 ล้านดอลลาร์ (ราว 253,000 ล้านล้านบาท)
และต้องปรับตัวไปขายของออนไลน์ ถึงขนาดที่ซีอีโออย่าง Yu Minhong ก็ต้องมาไลฟ์ขายของด้วยตัวเอง
แม้ในปี 2022 สถานการณ์ของบางบริษัท เช่น Koolearn ดีขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังไม่สามารถกลับไปทำโรงเรียนกวดวิชาเต็มตัวได้
มาปีนี้เทรนด์ในแวดวงโรงเรียนกวดวิชาและบริษัทที่เกี่ยวกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องเกิดการปรับตัวที่น่าสนใจ โดยแท็บเล็ตใส่บทเรียนและตัวอย่างข้อสอบให้นักเรียนมัธยมปลายนำไปใช้เพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยกำลังขายดี
บริษัทที่เข้ามาจับธุรกิจนี้คือกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีทางการศึกษา ตั้งแต่เว็บไซต์ติวออนไลน์ ไปจนถึงบริษัทพจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ เพราะเห็นว่า ช่วงที่รัฐบาลจัดระเบียบโรงเรียนกวดวิชาเมื่อปี 2021 นั้น แท็บเล็ตกวดวิชาขายดีอย่างมาก
แต่ก็ปฏิเสธไมได้ว่า เป็นการฉวยโอกาสจากการต้องเรียนออนไลน์ช่วงสถานการณ์โควิดและขาลงของโรงเรียนกวดวิชาหลังโดนจัดระเบียบ ขณะเดียวกันบางรุ่นยังมีราคาแพงอีกด้วย
IDC บริษัทวิเคราะห์และคาดการณ์ตลาดสินค้าเทคโนโลยีสัญชาติอเมริกันประเมินว่า ปีนี้แท็บเล็ตกวดวิชาในจีนจะทำยอดขายได้ 3.82 ล้านดอลลาร์ (ราว 130 ล้านบาท) โตขึ้น 7.7% จากปี 2022 และโตอีกในช่วง 2-3 ปีจากนี้
การเติบโตดังกล่าวจะทำให้บริษัทต่าง ๆ ตั้งแต่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีทางการศึกษา และโรงเรียนกวดวิชา รวมไปถึงบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ ๆ ของจีนเริ่มหันมาผลิตแท็บเล็ตกวดวิชากันมากขึ้น โดยกลุ่มที่ถูกจับตามองมากสุดคือโรงเรียนกวดวิชา
เพราะเป็นการใช้พื้นความรู้และฐานข้อมูลข้อสอบเก่า ๆ ที่มีอยู่แล้ว รวมไปถึงความรู้จากติวเตอร์ แล้วไปจ้างให้บริษัทรับจ้างผลิต (OEM) ที่มีอยู่มากมายในประเทศผลิตออกมา
อย่างไรก็ตาม ทั้งสามกลุ่มคงต้องรีบผลิตออกมาหรือกดราคาไม่ให้แพงจนเกินไป เพราะมีแนวโน้มว่ารัฐบาลจีนจะควบคุมการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาของเด็กนักเรียน ภายใต้ข้ออ้างว่าเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติและเป็นห่วงเยาวชน
ส่วนในกรณีที่รัฐบาลจีนสั่งจัดระเบียบแท็บเล็ตกวดวิชา จะกระทบเป็นวงกว้างตั้งแต่บริษัทเทคโนโลยีทางการศึกษา โรงเรียนกวดวิชา ไปจนถึงบริษัทกลุ่มยักษ์เทคต่าง ๆ
ในกลุ่มนี้แน่นอนว่าโรงเรียนกวดวิชากระทบหนักสุด เพราะเพิ่งฟื้นได้ไม่นาน และกำลังจะนำสิ่งที่ถนัดไปต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่เพื่อให้กลับมายืนได้อีกครั้ง/nikkei
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ